xs
xsm
sm
md
lg

นักอนุรักษ์หวั่น ชาวก่วงตงเขมือบ “นกอพยพ” เป็นยาโด๊ปจนใกล้สูญพันธ์

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

(ภาพ - เอเยนซี)
เซาท์ไชน่า มอร์นิ่งโพสต์ - “นกจาบปีกอ่อนอกเหลือง” เหยื่อเคราะห์ร้ายที่กลายเป็นอาหารอันโอชะของชาวจีนในมณฑลก่วงตง จนบรรดานักอนุรักษ์ธรรมชาติต้องออกโรงปกป้อง เสี่ยงสูญพันธุ์ไปจากโลก ทว่าการแก้ปัญหายังยากลำบาก เพราะชาวบ้านแอบรู้เห็นเป็นใจ ค้าขายกันเป็นล่ำเป็นสัน

รายงานข่าว (26 พ.ย.) กล่าวว่า ปัจจุบันจำนวนประชากร “นกจาบปีกอ่อนอกเหลือง” (Yellow-breasted bunting) ซึ่งเป็นฝูงนกอพยพจากทวีปยุโรปมายังพื้นที่ตอนใต้ในช่วงฤดูหนาวของจีน กำลังประสบภาวะวิกฤตรุนแรง เนื่องจากพบการดักจับอย่างเป็นขบวนการเพื่อนำไปขายเป็นวัตถุดิบปรุงอาหาร โดยเฉพาะร้านค้าและภัตตาคารในมณฑลก่วงตง (กวางตุ้ง) แม้ว่าทางการจะขึ้นทะเบียนปกป้องนกอพยพชนิดนี้ในปี 2544 และมีมาตรการลงโทษผู้ฝ่าฝืน ปรับหนักสูงถึง 100,000 หยวน หรือราว 500,000 บาทแล้วก็ตาม

องค์กรอนุรักษ์นกสากล หรือเบิร์ดไลฟ์ (BirdLife International) ซึ่งมีฐานอยู่ในอังกฤษ อ้างผลการศึกษาที่เผยแพร่เมื่อปี 2552 ว่า จากการประเมิน คาดว่าหลงเหลือนกจาบฯ ไม่เกิน 10,000 ตัวในช่วงฤดูที่มันอพยพมายังประเทศจีน ขณะที่งานวิจัยของปีก่อนอีกชิ้นหนึ่งเผยว่า จำนวนนกอพยพตัวเล็กชนิดนี้ลดลงอย่างน้อย 70 เปอร์เซ็นต์ในประเทศรัสเซียฝั่งตะวันตก
(ภาพ - เอเยนซี)
ทางด้านองค์กรระหว่างประเทศเพื่อการอนุรักษ์ธรรมชาติ หรือไอยูซีเอ็น (the International Union for Conservation of Nature: IUCN) ได้ระบุให้นกจาบปีกอ่อนอกเหลืองอยู่ในรายการสัตว์ปีกใกล้สูญพันธุ์ โดย IUCN มีการแบ่งสัตว์ใกล้สูญพันธุ์ออกเป็น 2 ระดับ ได้แก่ ระดับวิกฤตและระดับสูญพันธ์จากป่าธรรมชาติ

ทั้งนี้ ความนิยมในการบริโภคนกอพยพของชาวจีน ได้เริ่มกระจายไปทั่วประเทศจนเป็นสัญญาณอันตราย เนื่องจากชาวจีนเชื่อว่าการรับประทานสัตว์ปีกชนิดนี้ จะช่วยเสริมสมรรถภาพทางเพศ และล้างสารพิษในร่างกายของพวกเขาได้

“จำนวนนกจาบฯ ที่ลดลงอย่างต่อเนื่อง อาจมีสาเหตุหลักมาจากการจับเพื่อค้าเป็นอาหาร ซึ่งนกชนิดนี้จะหากินตามทุ่งนาและอยู่รวมกันเป็นฝูง ทำให้พวกมันติดกับดักตาข่ายได้ง่ายและเป็นจำนวนมาก ส่วนเหตุผลรองลงมาคือ วิถีการทำเกษตรกรรมที่เปลี่ยนแปลงไป” แอนดี้ ซิมส์ เจ้าหน้าที่ของเบิร์ดไลฟ์กล่าว

อย่างไรก็ดี ก่วงโจว เดลี่ สื่อท้องถิ่น รายงานเมื่อสัปดาห์ก่อนว่า ยังพบการซื้อขายนกจาบฯ ตามร้านอาหารและตลาดอย่างชัดเจนในเขตตงกวน ด้วยราคาเฉลี่ย 30-45 หยวน (ราว 150-225 บาท) โดยชาวบ้านจะบอกแหล่งจำหน่ายกันปากต่อปาก พ่อค้าแม่ค้าก็ระมัดระวังตัวสูงมาก โดยจะปฏิเสธลูกค้าที่พูดภาษาท้องถิ่นไม่ได้เด็ดขาด เป็นเหตุให้การเปิดโปงธุรกิจผิดกฎหมายนี้ทำได้ยากยิ่งขึ้น
กำลังโหลดความคิดเห็น