เอเอฟพี – อุณหภูมิโลกที่กำลังขยับขึ้นช้าลงกว่าที่คาดหมาย จนทำให้บรรดาผู้ที่ไม่เชื่อว่าโลกกำลังร้อนขึ้นสามารถหยิบฉวยไปใช้ประโยชน์ คือประเด็นที่ซับซ้อนที่สุดประเด็นหนึ่งของรายงาน ที่คณะผู้เชี่ยวชาญขององค์การสหประชาชาติจะนำมาเผยแพร่ในวันศุกร์นี้ (27 ก.ย.)
ในช่วง 15 ปีที่ผ่านมา อุณหภูมิเฉลี่ยที่พื้นผิวโลกเพิ่มสูงขึ้นช้ากว่าที่แบบจำลองสภาพภูมิอากาศของหลายๆ แหล่งเคยทำนายเอาไว้มาก
ตามข้อมูลจากที่เคยคาดการณ์กัน อุณหภูมิโลกควรจะเพิ่มขึ้นไปในทิศทางเดียวกับ อัตราการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ซึ่งเป็นตัวดักจับความร้อน เมื่อมนุษย์ในโลกกำลังปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์พุ่งสูงขึ้นอย่างไม่เคยมีมาก่อน โลกก็ควรจะร้อนมากขึ้นเช่นกัน
ทว่าในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา อุณหภูมิกลับเพิ่มขึ้นช้าลง ดังนั้นจึงเกิดคำถามขึ้นมา
สำหรับผู้ไม่เชื่อถือในทฤษฎีโลกร้อน คำตอบนั้นเป็นที่ชัดเจนอยู่แล้วว่า หากไม่เป็นเพราะความบกพร่องของโปรแกรมสร้างแบบจำลองสภาพภูมิอากาศ ก็ต้องเป็นเพราะว่า ที่จริงแล้วทฤษฎีที่ชี้ว่ามนุษย์เป็นผู้ทำให้โลกร้อนนั้นเป็นเพียงกลอุบายของพวกนักอนุรักษ์ธรรมชาติเท่านั้น
รายงานของคณะกรรมการระหว่างรัฐบาลว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (ไอพีซีซี) ที่กำหนดนำออกเผยแพร่วันศุกร์นี้ (27) จะระบุยืนยันว่า อุณหภูมิพื้นผิวโลกเพิ่มขึ้นช้าลงในช่วงไม่กี่ปีมานี้
เอกสารฉบับนี้ ซึ่งจะถูกนำมาถกเถียงกันแบบบรรทัดต่อบรรทัดในกรุงสตอกโฮล์ม ถือเป็นรายงานเล่มแรกจากทั้งหมดสามเล่มยักษ์ ซึ่งองค์กรที่ได้รับรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพแห่งนี้ มีกำหนดทยอยนำมาเผยแพร่ทั้งหมดภายในเวลาไม่กี่เดือนข้างหน้า
ในช่วง 50 ปีที่ผ่านมา ค่าเฉลี่ยของอุณหภูมิโลกที่เพิ่มขึ้นต่อ 1 ทศวรรษ คือ 0.12 องศาเซลเซียส แต่ในช่วง 15 ปีที่ผ่านมากลับเพิ่มขึ้นช้าลงในอัตรา 0.05 องศาเซลเซียสต่อ 1 ทศวรรษ
ทั้งนี้ บทคัดย่อของรายงานฉบับที่กำลังจะนำออกเปิดตัวระบุว่า สาเหตุประการแรกที่อาจทำให้อุณหภูมิเพิ่มขึ้นช้า คือ การปะทุของภูเขาไฟ โดยเถ้าของภูเขาไฟได้สะท้อนแสงแดดออกไป นอกจากนี้ วงจรการเปลี่ยนแปลงของกิจกรรมของดวงอาทิตย์ ก็ทำให้ความร้อนลดลงมากกว่าที่คาดการณ์ไว้
สาเหตุอีกประการหนึ่งก็คือ “ความแปรปรวนภายในมีส่วนทำให้อุณหภูมิเย็นตัวลง”
โลรองต์ แตร์เรย์ และสำนักงานผลิตโปรแกรมสร้างแบบจำลองสภาพภูมิอากาศ “แซร์ฟาคส์” ในฝรั่งเศสกล่าวว่า คำเรียกดังกล่าว มุ่งอธิบายการเปลี่ยนแปลง แบบที่ความร้อนจะถูกกระจายไปตามแผ่นดิน ทะเล และอากาศ ภายในโลกของเรา
อย่างไรก็ตาม สิ่งที่ยังไม่ทราบชัดเจนก็คืออะไรคือสาเหตุที่ทำให้เกิดความเปลี่ยนแปลง หรืออะไรคือปัจจัยกำหนดช่วงระยะเวลาของการเปลี่ยนแปลงเช่นนี้
นักวิทยาศาสตร์ทราบว่า มีบางช่วงเวลาที่อาจจะยาวนานราว 1 ทศวรรษ ซึ่งอุณหภูมิผิวโลกจะไม่เพิ่มขึ้นตามอัตราเฉลี่ยอย่างที่ควรจะเป็น โดยที่ใน 1 ศตวรรษ อาจจะมีช่วงดังกล่าวเกิดขึ้น 1-2 ครั้ง
เขาระบุว่าต้องรอว่า “ถ้า (สภาวการณ์ในปัจจุบัน) ดำเนินต่อไปแบบนี้อีก 2 ทศวรรษหรือนานกว่า เราอาจจะต้องเริ่มคิดได้แล้วว่า โปรแกรมสร้างแบบจำลองสภาพภูมิอากาศกำลังคำนวณค่าความแปรปรวนภายในต่ำกว่าความเป็นจริง”
ทางด้านงานวิจัยฉบับใหม่ของ “Britain’s Met Office” ให้คำอธิบายว่า ความร้อน “ที่หายไป” นั้นคือการที่อุณหภูมิของพื้นผิวโลกกำลัง “หยุดพัก” โดยอาจเป็นเพราะความร้อนบางส่วนนั้นกำลังถูกส่งต่อจากระดับผิวน้ำลงไปกักเก็บไว้ในก้นบึ้งของมหาสมุทร
ทั้งนี้ อุณหภูมิที่ก้นบึ้งของมหาสมุทรลึก 3,000 เมตร ได้เพิ่มสูงขึ้นนับตั้งแต่ช่วงทศวรรษ 1990 ซึ่งสิ่งนี้กำลังบอกเป็นนัยว่า ความร้อนที่ถูกกักเก็บไว้ในวันนี้ อาจส่งผลต่ออุณหภูมิของวันพรุ่งนี้จนได้ในที่สุด
รัฐบาลที่เป็นสมาชิกของไอพีซีซี ซึ่งมีสิทธิตรวจสอบและแก้ไขบทคัดย่อฉบับนี้ แต่ไม่มีสิทธิในตัวรายงานจริง กำลังให้ความสำคัญกับส่วนของบทคัดย่อที่ระบุว่า “อุณหภูมิของโลกหยุดนิ่ง” อย่างรู้สึกกังวลใจ
สิ่งนี้สะท้อนให้เห็นถึงความว้าวุ่นใจ หลังจากที่รายงานเล่มใหญ่ฉบับสุดท้ายของไอพีซีซี ในปี 2007 นั้นให้ข้อมูลที่ผิดพลาดหลายแห่ง จนทำลายความน่าเชื่อถือของไอพีซีซีไประดับหนึ่ง
ถึงแม้บทคัดย่อส่วนหลักๆ ของไอพีซีซีไม่ได้รับผลกระทบ แต่ข้อผิดพลาดที่ปรากฏเหล่านั้นก็เปิดโอกาสให้ผู้ที่สงสัยไม่เชื่อว่าโลกร้อนนำมาใช้โจมตีได้ง่ายๆ