GOCE ดาวเทียมทำแผนที่แรงโน้มถ่วงของยุโรป ตกกลับสู่โลกและเผาไหม้ในชั้นบรรยากาศ เบื้องต้นคาดว่าชิ้นส่วนจะพุ่งผ่านเอเชียกลาง แปซิฟิกตะวันตก ไปจนถึงแอนตาร์กติกา แต่ต้องใช้เวลารวบรวมข้อมูลอีกหลายวันเพื่อระบุตำแหน่งและเวลาตกของชิ้นส่วนที่แน่นอน ด้านหน่วยงานประสานการจับตา “ขยะอวกาศ” ใช้เหตุการณ์ครั้งนี้เป็นตัวอย่างศึกษา
หลังหมดเชื้อเพลิงตั้งแต่วันที่ 21 ต.ค.2013 ที่ผ่านมา ดาวเทียมโกเซ (Goce: Gravity field and steady-state Ocean Circulation Explorer) ซึ่งเป็นดาวเทียมสำหรับทำแผนที่แรงโน้มถ่วงและวัฏจักรมหาสมุทรขององค์การอวกาศยุโรป (European Space Agency) หรืออีซา (ESA) ได้สูญเสียการรักษาความสูง และถูกแรงโน้มถ่วงโลกดึงลงมา ซึ่งตามรายงานของบีบีซีนิวส์และเอเอฟพีระบุว่า ชิ้นส่วนของดาวเทียมดังกล่าวได้พุ่งผ่านชั้นบรรยากาศโลกลงมาแล้ว
ครั้งสุดท้ายที่ตรวจจับดาวเทียมดวงนี้ได้คือเมื่อเวลา 05.42 น.ของวันจันทร์ที่ 11 พ.ย.ขณะดาวเทียมผ่านเหนือแอนตาร์กติกาที่ความสูง 121 กิโลเมตร ถึงไร้เชื้อเพลิงเพื่อพยุงตัวให้อยู่ในระดับความสูงสำหรับปฏิบัติการ แต่ดาวเทียมมีเชื้อเพลิงและชิ้นส่วนขับดันที่ใช้เพื่อทำลายตัวเองและขับดันสู่ผืนน้ำอันกว้างใหญ่และไร้ประชากรอาศัยในมหาสมุทรทางฝั่งตะวันออกของนิวซีแลนด์
บีบีซีนิวส์ระบุว่าหน่วยงานคณะกรรมการประสานงานขยะอวกาศสากล (Inter-Agency Space Debris Coordination Committee) ซึ่งเป็นคณะทำงานสากลทางด้านขยะอวกาศ ได้ใช้กรณีของดาวเทียมโกเซนี้เพื่อการศึกษาเป็นกรณีพิเศษในปี 2013 ดังนั้น อุปกรณ์ในการติดตามและป้องกันประเทศจำนวนมากที่มีอยู่ทั่วโลกได้ทำหน้าที่ในการจับตาการกลับสู่ชั้นบรรยากาศโลกของดาวเทียมในครั้งนี้
ข้อมูลที่ให้รายละเอียดต่างๆ จากเครื่องไม้เครื่องมือเหล่านั้นจะถูกผนวกเข้าด้วยกันในเวลาอีกหลายวัน เพื่อค้นหาตำแหน่งใดและเวลาใดที่ชิ้นส่วนดาวเทียมตกสู่พื้นโลก ทั้งนี้ ข้อมูลทางสถิติเผยว่าโดยทั่วไปแล้วมีขยะอวกาศอย่างน้อย 1 ชิ้นที่พุ่งเข้าสู่ชั้นบรรยากาศทุกวัน และโดยเฉลี่ยยานอวกาศที่เลิกใช้งานและยังอยู่ในสภาพดี หรือชิ้นส่วนจรวดเก่าจะตกสู่โลกทุกๆ อาทิตย์
การตกของดาวเทียมโกเซครั้งนี้เป็นการตกโดยไร้การควบคุม ซึ่งเป็นครั้งแรกในรอบกว่า 25 ปีที่อีซาปล่อยให้ชิ้นส่วนอวกาศตกคืนสู่โลกเอง นับแต่ครั้งสุดท้ายที่อีซาปล่อยให้ดาวเทียมสำรวจสนามแม่เหล็กไอซี-2 (Isee-2) ตกสู่โลกโดยไม่ควบคุม เมื่อปี 1987
โกเซซึ่งได้รับการเรียกขานว่า “เฟอร์รารีแห่งอวกาศ” เนื่องจากจากรูปลักษณ์ที่ดูมันขลับเป็นประกาย ถูกส่งขึ้นไปปฏิบัติหน้าที่เมื่อปี 2009 และปฏิบัติภารกิจที่ความสูง 224 กิโลเมตร ซึ่งนับเป็นระดับต่ำสูดของดาวเทียมเพื่อปฏิบัติการวิทยาศาสตร์ และการโคจรจรอยู่ในระดับต่ำนี้ดาวเทียมจึงต้องมีเชื้อเพลิงเพื่อช่วยประคองระดับความสูงให้คงที่ โดยทางอีซาระบุว่า ดาวเทียมขนาดรถยนต์คันหนึ่งนี้จะเผาไหม้ในชั้นบรรยากาศเกือบหมดเมื่อตกสู่โลก และประมาณ 25% ของดาวเทียมที่จะเหลือรอดจากการเผาไหม้
ขณะที่เอเอฟพีรายงานเพิ่มเติมว่า ดาวเทียมหนัก 1,100 กิโลกรัมดวงนี้ค่อนข้างเล็กเมื่อเทียบกับยานอวกาศอื่นที่เพิ่งตกสู่ชั้นบรรยากาศโลก โดยเมื่อเดือน ม.ค.2012 ยานสำรวจดาวอังคารโฟบอส-กรันท์ (Phobos-Grunt Mars probe) หนัก 12,700 กิโลกรัมของรัสเซีย ได้ตกสู่โลกหลังปฏิบัติการล้มเหลว และเมื่อปี 2011 ดาวเทียมสำรวจบรรยากาศหนัก 5,900 กิโลกรัมขององค์การบริหารการบินอวกาศสหรัฐฯ (นาซา) กับกล้องโทรทรรศน์อวกาศรังสีเอกซ์โรแซท (ROSAT) ของเยอรมนีที่หนัก 2,177 กิโลกรัม ได้ตกกลับสู่ชั้นบรรยากาศโลก
อ่านเพิ่มเติม
- เผยแผนที่ “แรงโน้มถ่วง” ของโลก
- เผยภาพ “โลกมันฝรั่ง” โชว์รูปร่างตามแรงโน้มถ่วง