หลายคนอาจมองการขึ้นไปอยู่ในอวกาศเป็นสนุกและน่าตื่นเต้น แต่มีหลายมุมของชีวิตมนุษย์อวกาศที่อาจจะทำให้คุณไม่อยากขึ้นไปปฏิบัติภารกิจในวงโคจรเลยก็ได้ ซึ่งอดีตมนุษย์อวกาศจากนาซาได้เดินทางมาเยือนไทยและเผยถึงข้อมูลเหล่านั้น
“คนที่จะได้รับเลือกเป็นมนุษย์อวกาศคือคนที่ชอบออกไปตั้งแคมป์” ดร.จอห์น กรันเฟล์ด (Dr.John Grunfeld) อดีตมนุษย์อวกาศจากองค์การบริหารการบินอวกาศสหรัฐฯ (นาซา) เผยถึงหนึ่งในคุณสมบัติของมนุษย์อวกาศ ซึ่งนอกจากนี้ยังต้องศึกษาอย่างจริงจังแต่ต้องรู้จักมีอารมณ์ขันไว้บ้าง
การใช้ชีวิตในอวกาศไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะมนุษย์อวกาศต้องใช้ชีวิตอยู่ในสถานีอวกาศแคบๆ เป็นเวลานาน และบนอวกาศไม่เงียบอย่างที่หลายคนคิด โดย ดร.กรันเฟล์ด อธิบายว่าเสียงเดินทางในอวกาศไม่ได้ก็จริง แต่ในสถานีอวกาศต้องเติมออกซิเจนและอากาศเพื่อให้มนุษย์หายใจได้ จึงได้ยินเสียงของเครื่องมือต่างๆ ตลอดเวลา และเสียงที่รบกวนที่สุดคือเสียงเข้าห้องส้วม
“ส้วมในอวกาศคล้ายส้วมบนเครื่องบิน ซึ่งจะอาศัยสุญญากาศในการดึงของเสียออกไป เมื่อมีใครสักคนเข้าส้วมเราก็จะได้ยินเสียงอันน่ารำคาญนั้น” อดีตมนุษย์อวกาศ ซึ่งปัจจุบันดำรงตำแหน่งรองผู้อำนวยการของนาซาในฝ่ายวิทยาศาสตร์ กล่าวระหว่างการบรรยาย Science@NASA ที่จัดขึ้นเมื่อ 12 พ.ย.56 ณ คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
นอกจากนี้การหายใจบนอวกาศที่แรงโน้มถ่วงต่ำก็ไม่ใช่เรื่องง่าย โดย รอง ผอ.นาซาอธิบายว่า เมื่อหายใจอยู่บนโลก คาร์บอนไดออกไซด์ที่เราหายใจออกมาจะไหลลงสู่ด้านล่างเพราะมีน้ำหนักมากกว่าออกซิเจนที่เราหายใจเข้าไป แต่เมื่ออยู่ในอวกาศทั้งออกซิเจนและคาร์บอนไดออกไซด์ หนักเท่ากัน เมื่อหายใจออกคาร์บอนไดออกไซด์ก็จะวนเวียนอยู่บริเวณใบหน้าเรา ดังนั้น เวลาเข้านอนจึงต้องมีพัดลมช่วยพัดกระจายอากาศ
ทั้งนี้ ดร.กรันเฟล์ด มีประสบการณ์อยู่บนอวกาศรวม 58 วันจากการปฏิบัติภารกิจกระสวยอวกาศทั้งหมด 5 ภารกิจ ในจำนวนนั้น เป็นภารกิจในการซ่อมบำรุงกล้องโทรทรรศน์อวกาศฮับเบิล 3 ภารกิจ ซึ่งการซ่อมบำรุงกล้องฮับเบิลนั้นต้องออกไปเดินอวกาศ (space walk) และนับเป็นภารกิจที่อันตรายที่สุด เพราะหากชุดอวกาศถูกของมีคมบาดเพียงเล็กน้อยนั่นคืออันตายถึงตาย
สำหรับใครที่ยังติดภาพภารกิจของ ดร.ไรอัน สโตน ในภาพยนตร์เรื่องกราวิตี (Gravity) ที่นางเอกออกไปเดินอวกาศเพื่อซ่อมกล้องฮับเบิล พร้อมกับคู่หูที่ฮัมเพลงตลอดเวลา ภาพดังกล่าวถือเป็นหนังคนละม้วนกับชีวิตจริงของ ดร.กรันเฟล์ด ซึ่งเขาอธิบายว่า ก่อนจะออกไปเดินอวกาศต้องมีการตรวจสอบอย่างละเอียดว่าไม่มีของแหลมคมในบริเวณที่ปฏิบัติภารกิจ และแต่ละขั้นตอนการซ่อมบำรุงจะมีผู้ควบคุมทั้งจากในยานอวกาศและจากภาคพื้นดิน และการถอดแผงวงจรที่อาจบาดชุดอวกาศได้นั้นเป็นขั้นตอนที่อันตรายมาก ซึ่งเขาต้องฝึกซ้อมซ้ำไปซ้ำมาจนชำนาญก่อนปฏิบัติภารกิจจริง
ส่วนโอกาสในการปะทะขยะอวกาศเหมือนในภาพยนตร์นั้น ผู้บริการของนาซากล่าวว่า โดยปกติจะมีหน่วยงานในการตรวจตราและคำนวณการโคจรของวัตถุและขยะอวกาศ หากพบว่าอยู่ในเส้นทางเดียวกับสถานีอวกาศก็จะมีการปรับระดับวงโคจรเพื่อเลี่ยงการปะทะดังกล่าว ซึ่งมีการปรับระดับวงโคจรอยู่บ่อยครั้งจนเป็นเรื่องปกติ และนอกจากการเดินอวกาศที่เสี่ยงอันตรายแล้ว การขึ้น-ลงจอดของยานอวกาศก็เป็นขั้นตอนที่อันตราย ซึ่งมนุษย์อวกาศในวงโคจรจะได้รับการฝึกทักษะลงจอดจากการเล่นวิดีโอเกมการลงจอด
สำหรับการมาเยือนเมืองไทยครั้งนี้ ดร.กรันเฟล์ด เดินทางมาพร้อมกับ ดร.แมตต์ เมาน์เทน (Dr.Matt Mountain) ผู้อำนวยการสถาบันวิทยาการกล้องโทรทรรศน์อวกาศ (Space Telescope Science Institute: STScI) เพื่อเข้าร่วมการประชุม COSPAR Symposium ของคณะกรรมาธิการว่าด้วยการวิจัยด้านอวกาศ (Committee on Space Research) หรือ คอสปาร์ (COSPAR) ซึ่งจัดขึ้นระหว่างวันที่ 11-15 พ.ย.56 ณ โรงแรมเซ็นทารา แกรนด์ แอท เซ็นทรัลพลาซา ลาดพร้าว