นับจากวันที่ 23 ต.ค.เป็นต้นมา ดวงอาทิตย์ปะทุรุนแรงระดับ X เป็นครั้งที่ 4 แล้ว โดยล่าสุดเกิดขึ้นเมื่อย่างเข้าสู่วันที่ 30 ต.ค.ตามเวลาประเทศไทย และกล้องโทรทรรศน์อวกาศของนาซาบันทึกภาพวิดีโอของเหตุการณ์ไว้
การลุกจ้า (flare) ของดวงอาทิตย์ครั้งที่ 4 เกิดขึ้นเมื่อราวเกือบ 05.00 น.ของวันที่ 30 ต.ค.2013 ตามเวลาประเทศไทย โดยปะทุขึ้นจากจุดมืด (Sunspot) ชื่อ AR1875 ซึ่งข้อมูลจากองค์การบริหารการบินอวกาศสหรัฐฯ (นาซา) ระบุการลุกจ้าครั้งนี้มีความรุนแรงระดับ X2.3 ส่วน 3 ครั้งแรกเกิดขึ้นเมื่อวันที่ 25 ต.ค.จากจุดมืด AR1882 ที่ความรุนแรงระดับ X2.7 และ X1.7 ตามลำดับ และวันที่ 28 ต.ค.อีกครั้งที่ความรุนแรง X1.0 จากจุดมืด AR1875
ทั้งนี้ นักดาราศาสตร์แบ่งความรุนแรงของการลุกจ้าบนดวงอาทิตย์เป็น 3 ระดับ คือ ระดับ C ซึ่งเป็นระดับอ่อนๆ ระดับ M เป็นพายุสุริยะที่พลังมากและทำให้เกิดแสงออโรราบนโลกได้ แต่ยังจัดเป็นแค่เหตุการณ์ระดับกลาง และระดับ X ซึ่งเป็นระดับรุนแรงสุดที่จะรบกวนการสื่อสารผ่านดาวเทียมและระบบนำทางผ่าน ดาวเทียม รวมถึงมนุษย์อวกาศในวงโคจรได้ หากการลุกจ้านั้นหันมายังโลกตรงๆ การจัดลำดับความรุนแรงระดับ X ยังแบ่งเป็น X1.0 ความรุนแรงน้อยกว่าระดับ X2.0 อยู่ 2 เท่า และน้อยกว่าระดับ X3.0 อยู่ 3 เท่า
พร้อมกันนี้สเปซด็อทคอมยังได้เผยแพร่คลิปวิดีโอที่บันทึกโดยหอดูดาวอวกาศโซลาร์ (Solar Dynamics Observatory) หรือ SDO ของนาซาด้วย ส่วนนาซาได้เผยแพร่ภาพนิ่งของดวงอาทิตย์ขณะเกิดการลุกจ้าจากจุดมืด AR1875 ที่บันทึกด้วยกล้องโทรทรรศน์อวกาศตัวเดียวกันที่ความยาวคลื่นต่างๆ
การเพิ่มจำนวนของการลุกจ้าค่อนข้างเป็นเรื่องธรรมดาในช่วงเวลานี้ เพราะดวงอาทิตย์กำลังเข้าสู่ช่วงคาบสูงสุดบนดวงอาทิตย์ (solar maximum) ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของวัฏจักรสุริยะที่มีรอบ 11 ปี โดยองค์การอวกาสสหรัฐฯ ระบุว่าเราเริ่มติดตามวัฏจักรสุริยะมาเรื่อยๆ นับแต่มีการค้นพบวัฏจักรนี้เมื่อปี 1843 และเป็นเรื่องปกติที่มีการลุกจ้าเป็นจำนวนมากระหว่างคาบสูงสุดของกิจกรรมบน ดวงอาทิตย์
วัฏจักรปัจจุบันคือวัฏจักรสุริยะที่ 24 (Solar Cycle 24) ซึ่งเริ่มนับมาตั้งแต่ปี 2008 แต่สเปซด็อทคอมระบุว่านักวิทยาศาสตร์ที่ติดตามวัฏจักรนี้ ต่างพูดว่าแม้จะเกิดการลุกจ้าใหญ่ๆ หลายครั้ง แต่คาบสูงสุดของกิจกรรมบนดวงอาทิตย์นี้ก็ยังเงียบเหงาที่สุดในรอบ 100 ปี
อ่านเพิ่มเติม
ดวงอาทิตย์ปะทุรุนแรงระดับ X ต่อเนื่อง