เผยคลิปดวงอาทิตย์ลุกจ้าระดับ X ครั้งแรกในรอบปี 2014 จากจุดมืดขนาดใหญ่กว่าโลก 7 เท่า โดยการลุกจ้าดังกล่าวทำให้ภารกิจส่งเสบียงอวกาศของเที่ยวบินเอกชนไปยังสถานีอวกาศต้องล่าช้า
กล้องบนหอดูดาวอวกาศโซลาร์ไดนามิกส์ (Solar Dynamics Observatory) สำหรับสังเกตดวงอาทิตย์ขององค์การบริหารการบินอวกาศสหรัฐฯ (นาซา) บันทึกภาพเคลื่อนของการลุกจ้าบนดวงอาทิตย์ จากจุดมืด (sunspot) ชื่อ AR1944 เมื่อวันที่ 8 ม.ค.2014 ตามเวลาประเทศไทย
สเปซด็อทคอมระบุคำแถลงของนาซาว่า จุดมืดที่ทำให้เกิดการปลดปล่อยอนุภาครังสีเข้มข้นออกมานั้นอยู่ตรงกลางดวงอาทิตย์ และมีขนาดใหญ่กว่าโลกถึง 7* เท่า ซึ่งนับเป็นจุดมืดขนาดใหญ่ที่สุดที่เห็นมาในรอบ 10 ปี
การลุกจ้าดังกล่าวทำให้ภารกิจในการขนส่งเสบียงสู่สถานีอวกาศนานาชาติของบริการขนส่งเอกชนต้องเลื่อนออกไป โดยยานอวกาศเพื่อเทียบท่าสถานีอวกาศเมื่อวันที่ 12 ม.ค.ที่ผ่านมาตามเวลาประเทศไทย
ระดับความรุนแรงของการลุกจ้าที่เกิดขึ้นเมื่อเวลา 01.32 น.ของวันที่ 8 ม.ค.2014 เป็นความรุนแรงระดับ X1.2 ซึ่งเป็นการลุกจ้าระดับ X ครั้งแรกของปีนี้ โดยเกิดขึ้นตามหลังการลุกจ้าระดับ M7.2 ไม่กี่ชั่วโมง
ทางศูนย์คาดการณ์สภาพอวกาศ (Space Weather Prediction Center) ที่ดูแลโดยองค์การบริการสมุทรศาสตร์และบรรยากาศสหรัฐฯ หรือโนอา (NOAA) ระบุว่า การลุกจ้าดังกล่าวจะทำให้เกิดพายุสนามแม่เหล็กโลก (geomagnetic storm) เมื่อพลาสมาร้อนจัดจากดวงอาทิตย์หรือที่เรียกว่าการพ่นมวลโคโรนา (coronal mass ejection: CME) เดินทางมาถึงโลกในไม่กี่วันต่อมา
ทั้งนี้ นักดาราศาสตร์แบ่งความรุนแรงของการลุกจ้าบนดวงอาทิตย์เป็น 3 ระดับ คือ ระดับ C ซึ่งเป็นระดับอ่อนๆ ระดับ M เป็นพายุสุริยะที่พลังมากและทำให้เกิดแสงออโรราบนโลกได้ แต่ยังจัดเป็นแค่เหตุการณ์ระดับกลาง และระดับ X ซึ่งเป็นระดับรุนแรงสุดที่จะรบกวนการสื่อสารผ่านดาวเทียมและระบบนำทางผ่าน ดาวเทียม รวมถึงมนุษย์อวกาศในวงโคจรได้ หากการลุกจ้านั้นหันมายังโลกตรงๆ
ปัจจุบันดวงอาทิตย์อยู่ในรอบวัฏจักรที่ 24 (Solar Cycle 24) ซึ่งเริ่มต้นมาตั้งแต่ 2008 และเข้มข้นสุดเมื่อปี 2013 ที่ผ่านมา โดยดวงอาทิตย์มีรอบวัฏจักรรอบละ 11 ปี ส่วนการจุกจ้าของดวงอาทิตย์ครั้งล่าสุดนี้แม้จะรุนแรงถึงระดับ X ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อมนุษย์อวกาศในวงโคจรได้ แต่เจ้าหน้าที่นาซาเผยแก่สเปซด็อทคอมว่า ลูกเรือซึ่งประกอบด้วยมนุษย์อวกาศจากรัสเซีย 3 คน จากนาซา 2 คนและญี่ปุ่นอีก 1 คนนั้น ไม่ต้องหาที่กำบังรังสีจากดวงอาทิตย์
*edited