xs
xsm
sm
md
lg

ดวงอาทิตย์ช่างร้อนแรงปะทุรุนแรง 4 ครั้งใน 48 ชั่วโมง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ภาพที่บันทึกด้วยกล้องโทรทรรศน์อวกาศโซลาร์ไดนามิกส์ของนาซา ระหว่างดวงอาทิตยปะทุครั้งที่ 4 ในรอบ 2 วัน รุนแรงระดับ X1.2 เมื่อ 15 พ.ค. ที่ผ่านมา (SDO/NASA)
ไม่ใช่แค่แสงแดดที่แรงจ้า แต่กิจกรรมบนดวงอาทิตย์ก็ร้อนแรงไม้แพ้กัน เมื่อดวงสุริยันตื่นจากหลับใหลเข้าโหมดตื่นตัวอย่างเต็มที่ตามวัฏจักรสุริยะ ผลคือในรอบ 48 ชั่วโมง เกิดการปะทุขนาดใหญ่บนดวงอาทิตย์ถึง 4 ครั้ง ในจำนวนมีครั้งรุนแรงที่สุดของปีนี้ด้วย

เมื่อวันอังคารที่ผ่านมาดวงอาทิตย์ของเราเพิ่งลุกจ้า (flare) รุนแรงที่สุดในปี 2013 ซึ่งการระเบิดที่รุนแรงนี้ทำให้การระเบิดของอนุภาคในปริมาณมหึมาด้วย และเมื่ออนุภาคจากการระเบิดดังกล่าวเดินทางมาถึงโลกก็จะรบกวนดาวเทียมและระบบสื่อสารภาคพื้นได้

โชคดีว่าการปะทุครั้งนี้ไม่ได้หันมาทางโลกโดยตรง แต่บีบีซีนิวส์ระบุว่า ยานอวกาศขององค์การบริหารการบินอวกาศสหรัฐ (นาซา) บางลำอาจอยู่ในเส้นทางของอนุภาคจากดวงอาทิตย์พอดี

สำหรับการลุกจ้าของดวงอาทิตย์ 4 ครั้งล่าสุด ตามเวลาประเทศไทย ครั้งแรกเกิดการลุกจ้าระดับ X1.7 เมื่อเวลา 09.17 น. ของวันจันทร์ที่ 13 พ.ค., จากนั้นเวลา 23.09 น.เกิดการลุกจ้าระดับ X2.8 และในวันอังคารที่ 14 พ.ค.เกิดการลุกจ้าระดับ X3.2 เวลา 08.17 น. ล่าสุดคือการลุกจ้าในวันที่ 15 พ.ค.นี้เกิดการลุกจ้าระดับ X1.2 เวลา 08.52 น.

การลุกจ้า 3 ครั้งแรกเป็นกิจกรรมบนดวงอาทิตย์ที่รุนแรงที่สุดในปี 2013 ที่เกิดขึ้นภายในเวลาเพียง 24 ชั่วโมง และลุกจ้าทั้งหมดยังจัดอยู่ในระดับ X ซึ่งเป็นระดับการปลดปล่อยพลังงานที่รุนแรงที่สุด และตัวเลขที่ตามมาเป็นข้อมูลลำดับความรุนแรง โดย X2 รุนแรงกว่า X1 เป็น 2 เท่า และ X3 รุนแรงกว่า X2 เป็น 3 เท่า

บีบีซีนิวส์อ้างคำสัมภาษณ์ของ ดร.โรเบิร์ต แมสซีย์ (Dr. Robert Massey) ราชบัณฑิตดาราศาสตร์อังกฤษ (Royal Astronomical Society) ซึ่งอธิบายว่า การลุกจ้าระดับ X นั้นเทียบเท่าพลังงานจากระเบิดไฮโดรเจนนับพันล้านลูก


"ข่าวดีคือแม้ปรากฏการณ์นี้ทำให้เกิดปัญหาได้ แต่เลวร้ายที่สุดคือส่งผลต่อการจ่ายกระแสไฟฟ้าเท่านั้น หากแต่ไม่ได้ส่งผลคุกคามพวกเราที่อาศัยอยู่บนพื้นโลก" แมสซีย์กล่าว

เมื่อการลุกจ้ามีระดับเข้มพอก็จะรบกวนบรรยากาศโลกในชั้นที่มีดาวเทียมจีพีเอสและดาวเทียมสื่อสารโคจรอยู่ และปรากฏการณ์นี้จะรบกวนสัญญาณวิทยุนานเท่าที่เกิดการลุกจ้า

การลุกจ้านั้นสัมพันธ์กับการระเบิดใหญ่ของสสารจากชั้นบรรยากาศดวงอาทิตย์ ที่เรียกว่าการพ่นมวลโคโรนา (coronal mass ejections) หรือ ซีเอ็มอี (CMEs) และซีเอ็มอีก็สร้างความยุ่งเหยิงได้มากกว่า เพราะสามารถส่งก๊าซมีประจุหลายพันล้านตัน และอนุภาคอื่นๆ สู่อวกาศ

เมื่ออนุภาคจากการระเบิดมาถึงโลกสามารถทำให้หม้อแปลงในระบบจ่ายไฟฟ้าเสียหายได้ รวมทั้งยังรบกวนระบบอิเล็กทรอนิกส์ของดาวเทียม ซึ่งเหตุการณ์ที่ถูกกล่าวถึงคือเหตุแคร์ริงตัน (Carrington Event) เมื่อ 1-2 ก.ย.185 ที่สายส่งโทรเลขเกิดลัดวงจร และเกิดไฟไหม้ในอเมริกาเหนือและยุโรป และยังทำให้เกิดแสงออโรราสว่างจ้าที่เห็นได้ถึงคิวบาและฮาวาย

นาซาเผยว่ายานอวกาศสเตอริโอ-บี (Stereo-B) และสปิตเซอร์ (Spitzer) อาจอยู่ในเส้นทางของอนุภาคมีประจุพลังงานสูงจากการลุกจ้าที่เกิดขึ้นล่าสุดนี้ ซึ่งผู้ควบคุมปฏิบัติการอาจเลือกที่จะให้ยานอวกาศของพวกเขาเข้าสู่ "เซฟโหมด" (safe mode) เพื่อปกป้องระบบอิเล็กทรอนิกส์ของยานอวกาศที่อยู่นอกโลก ไม่ให้ถูกกวนสัญญาณได้

การปะทุที่เพิ่มขึ้นนี้เป็นไปตามคาดเพราะวัฏจักรสุริยะที่มีรอบ 11 ปี กำลังเข้าสู่ช่วงกิจกรรมสูงสุด ที่เรียกว่า วัฎจักรสูงสุดของดวงอาทิตย์ (solar maximum) ซึ่ง ดร.แมสซีย์ กล่าวว่าสิ่งที่น่าสนใจคือเหตุการณ์ลุกจ้านี้เกิดขึ้นตามกันมาติด ซึ่งบ่งบอกว่าดวงอาทิตย์กำลังเข้าสู่ช่วงสุดตามรอบวัฏจัร แต่เราก็บอกไม่ได้แน่ชัดว่าจะเิดขึ้นเมื่อไหร่ หากแต่สิ่งที่ทำได้คือศึกษาย้อนหลัง

แม้ว่าจะเกิดการปะทุรุนแรงตามกันมาติดๆ แต่ดวงอาทิตย์ในปี 2013 นี้ก็ค่อนข้างเงียบ จำนวนจุดมืด (Sunspot) มีต่ำกว่าปีที่ผ่านๆ มา และการลุกจ้ารุนแรงก็เกิดขึ้นไม่บ่อย ทางด้านไลฟ์ไซน์ระบุว่า วัฏจักรสุริยะน่าจะเข้าสู่ช่วงสูงสุดในปีนี้ โดยวัฏจักรล่าสุดคือวัฏจักรสุริยะที่ 24 ซึ่งเริ่มต้นเมื่อปี 2008

ทั้งนี้ นักวิทยาศาสตร์เริ่มจับตาการลุกจ้าของดวงอาทิตย์ และเหตุการณ์สภาพอวกาศ (space weather) อื่น นับแต่พบการลุกจ้าครั้งแรกเมื่อปี 1843 จนถึงตอนนี้มีฝูงยานอวกาศนานาชาติที่เฝ้าจับตากิจกรรมบนดวงอาทิตย์







กำลังโหลดความคิดเห็น