xs
xsm
sm
md
lg

ดวงอาทิตย์พ่นมวลมายังโลกอีกหน...(แต่ไม่ส่งผลรุนแรง)

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

การปะทุบนดวงอาทิตย์เมื่อ 9 ก.พ.ที่ผ่านมา (สเปซด็อทคอม/นาซา/อีซา/โซโห)
กล้องยานอวกาศจับภาพดวงอาทิตย์ปะทุได้อีก คราวนี้ยาวนานกว่าปกติและพุ่งมายังโลกโดยตรง แต่นาซายันไม่ส่งผลกระทบต่อดาวเทียมสื่อสารหรือมนุษย์อวกาศในวงโคจร หากแต่จะเพิ่มความเข้มให้แก่แสงสวยๆ ของ “ออโรรา” ที่ขั้วโลกเท่านั้น

ตามวัฏจักรสุริยะ (solar cycle) ในปี 2013 นี้เป็นช่วงที่ดวงอาทิตย์เข้าสู่ช่วงที่มีจุดบนดวงอาทิตย์มากที่สุด (solar maximum) จึงมีข่าวคราวเกี่ยวกับกิจกรรมของดวงอาทิตย์ออกมาเป็นระยะๆ ล่าสุดคือ การปะทุขนาดเล็กบนดวงอาทิตย์แต่ยาวนานกว่าปกติ ซึ่งสเปซด็อทคอมรายงานว่า หอดูดาวอวกาศโซโห (Solar and Heliospheric Observatory: SOHO) บันทึกภาพไว้ได้

ดวงอาทิตย์พ่นมวลโคโรนา (coronal mass ejection) หรือ ซีเอ็มอี (CME) อีกครั้ง เมื่อบ่ายวันที่ 9 ก.พ.ที่ผ่านมา ตามเวลาประเทศไทย ระหว่างการลุกจ้า (flare) ระดับเล็กแต่ยาวนานกว่าปกติ ซึ่งส่งคลื่นของอนุภาคมีประจุพุ่งตรงมายังโลกด้วยความเร็ว 2.9 ล้านกิโลเมตรต่อชั่วโมง ซึ่งนาซาแถลงว่า ในอดีตความรุนแรงระดับนี้ส่งผลกระทบเพียงเล็กน้อย โดยอาจทำให้เกิดแสงออโรราที่ขั้วโลก แต่ไม่รบกวนระบบจ่ายกระแสไฟฟ้าบนโลกหรือรบกวนดาวเทียมระบุตำแหน่ง (GPS) หรือระบบสื่อสารผ่านดาวเทียม

ขณะเดียวกัน ก็มีความกังวลต่อมนุษย์อวกาศที่อาศัยอยู่บนสถานีอวกาศนานาชาติ (International Space Station) แม้ว่าสภาพอวกาศจากดวงอาทิตย์จะส่งผลกระทบต่อกิจวัตรประจำวันของพวกเขาเพียงเล็กน้อย โดย คริส แฮดฟิลด์ (Chris Hadfield) มนุษย์อวกาศแคนาดา ซึ่งกำลังปฏิบัติหน้าที่อยู่ในวงโคจรได้โพสต์ผ่านทวิตเตอร์ว่า พวกเขาอยู่ถัดไม่ไกลจากดวงอาทิตย์ และดวงอาทิตย์ก็เพิ่งพ่นมวลก้อนใหญ่มาด้วยความเร็ว 500 ไมล์ต่อวินาที หากแต่ไม่ต้องห่วง เพราะนั่นน่าจะทำให้เกิดแสงออโรราสวยๆ

การพ่นมวลโคโรนา คือการปะทุของดวงอาทิตย์ที่พ่นมวลมีประจุออกมา ทำให้อนุภาคมีประจุจากดวงอาทิตย์พุ่งออกไปในอวกาศ เมื่อมีทิศทางมายังโลกจะมีเวลา 1-3 วัน ในการเดินทางมาถึง และเป็นสาเหตุของพายุแม่เหล็กโลก (geomagnetic storm) เมื่ออนุภาคเหล่านั้นทำอันตรกริยากับสนามแม่เหล็กโลก แล้วยังเพื่อความเข้มให้แก่แสงเหนือและแสงใต้ หรือออโรราที่ฉายอยู่บริเวณขั้วโลก ซึ่งตอนนี้ดวงอาทิตย์กำลังอยู่ในช่วงตื่นตัวตามวัฏจักรดวงอาทิตย์ที่มีรอบยาว 11 ปี และเป็นรอบวัฏจักรดวงอาทิตย์ที่ 24 (Solar Cycle 24)

ส่วนกล้องโซโหนั้นเป็นยานอวกาศที่เกิดจากความร่วมมือขององค์การอวกาศ 2 หน่วยงานคือ องค์การบริหารการบินอวกาศสหรัฐฯ (นาซา) และองค์การอวกาศยุโรป (อีซา) โดยมีหน้าที่จับตาดูดวงอาทิตย์ เช่นเดียวกับยานอวกาศแฝดสเตอริโอ (Stereo) ของนาซา และหอดูดาวอวกาศโซลาร์ไดนามิกส์ (Solar Dynamics Observatory) ซึ่งตอนนี้ต่างเฝ้าจับตาดูการเปลี่ยนของสภาพอวกาศบนดวงอาทิตย์








กำลังโหลดความคิดเห็น