xs
xsm
sm
md
lg

ดวงอาทิตย์ปะทุอีก...คราวนี้ระดับ X

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ภาพดวงอาทิตย์ขณะลุกจ้าเมื่อ 23 ต.ค.2012 ตามเวลาประเทศไทย ซึ่งยาน SDO บันทึกไว้ที่ความคลื่น 131 อังสตรอม (ภาพทั้งหมดจาก SDO/นาซา/สเปซด็อทคอม)
เมื่อเช้า 23 ต.ค.ที่ผ่านมา ดวงอาทิตย์ของเราได้ปะทุขึ้นอย่างรุนแรงระดับ X ซึ่งได้ปลดปล่อยรังสีสู่อวกาศ และได้กลายเป็นสาเหตุของการรบกวนวิทยุคลื่นสั้นบนโลกไปเรียบร้อยแล้ว แต่คาดว่าจะไม่ส่งผลกระทบอื่นต่อโลกรุนแรง เพราะไม่มีการพ่นมวลโคโรนาออกมาด้วย

สเปซด็อทคอม อ้างถึงรายงานจากนักวิทยาศาสตร์ที่ปฏิบัติงานในส่วนหอดูดาวโซลาร์ไดนามิกส์ (Solar Dynamics Observatory) หรือ SDO ขององค์การบริหารการบินอวกาศสหรัฐฯ (นาซา) ว่า การปะทุดังกล่าว คือ การลุกจ้า (flare) ที่เกิดขึ้นจากจุดมืดชื่อ AR 11598 (ซึ่งย่อมาจาก Active Region 11598) โดยเปล่งแสงสว่างสุดเมื่อเวลา 10.22 น.ของวันที่ 23 ต.ค.2012 ตามเวลาประเทศไทย

ทีมนักวิทยาศาสตร์ได้ใช้กล้องความละเอียดสูงที่ติดตั้งบนหอดูดาวอวกาศ SDO เพื่อจับตาดูดวงอาทิตย์ และได้พบการลุกจ้าที่รุนแรงถึง X 1.8 ซึ่งอยู่ในระดับการลุกจ้าที่รุนแรงที่สุดของดวงอาทิตย์ ตามการอ้างอิงจากศูนย์พยากรณ์สภาพอวกาศสหรัฐฯ (Space Weather Prediction Center: SWPC)

เพียง 2 วันรับแต่มองเห็นจุดมืดดังกล่าวได้จากบนโลก ก็มีการลุกจ้ารุนแรงก่อนครั้งนี้แล้วถึง 3 ครั้ง ซึ่ง โทนี ฟิลลิปส์ (Tony Phillips) ได้เขียนอธิบายผ่านเว็บไซต์ Spaceweather.com ว่า สิ่งที่เกิดขึ้นนี้แสดงว่าอาจจะเกิดการลุกจ้าอีกมากตามมา และจะพุ่งตรงมายังโลกมาขึ้นเรื่อยๆ เมื่อจุดมืดหันมายังโลกของเราในอีกไม่กี่วันข้างหน้า

การลุกจ้านั้นมีสาเหตุจากกิจกรรมแม่เหล็กที่รุนแรงขึ้นในตำแหน่งที่เรียกว่า “จุดมืด” (sunspot) บนพื้นผิวของดวงอาทิตย์ และนักวิทยาศาสตร์ไดัวัดความแรงของการลุกจ้าของดวงอาทิตย์ในรูปพลังงานที่ปล่อยออกมา โดยระดับ X (X-class) นั้นเป็นพายุสุริยะที่มีพลังมากที่สุด กลางลงมาคือระดับ M ซึ่งพลังจากการลุกจ้าระดับนี้ทำให้เกิดแสงเหนือที่ขั้วโลกได้เมื่อการลุกจ้าพุ่งตรงมายังโลก และระดับ C ซึ่งเป็นการลุกจ้าที่มีพลังน้อยที่สุดและมีผลกระทบต่อโลกเพียงเล็กน้อย

สำหรับการจุกจ้าเมื่อวันอังคารที่ผ่านมานี้ถูกบันทึกได้ทั้งภาพนิ่งและภาพวิดีโอโดยกล้อง SDO ซึ่งปรากฏเป็นแ สงวาบสีขาวออกมาจากดวงอาทิตย์ แต่การลุกจ้าที่เกิดขึ้นนี้เป็นการปะทุบนดวงอาทิตย์อย่างสั้นๆ ที่เรียกว่า “การลุกจ้าอย่างทันทีทันใด” (impulsive flare) ซึ่งเป็นประเภทตรงข้ามกับการลุกจ้าอีกประเภทที่เรียกว่า “การลุกจ้าอย่างค่อยเป็นค่อยไป” (gradual flare)

อย่างไรก็ดี เจ้าหน้าที่ของ SWPC แจ้งอย่างเป็นทางการ ว่า การปะทุอย่างทันทีทันใดนั้นไม่สัมพันธ์กับสภาพอวกาศที่รุนแรง และบริเวณที่เกิดการลุกจ้านี้ยังต้องใช้เวลาอีกหลายวันกว่าจะหันมาประจันหน้ากับโลกโดยตรง แต่ถึงอย่างนั้นโอกาสที่จะเกิดกิจกรรมการลุกจ้าก็ยังมีอยู่ต่อไป ซึ่งเราต้องคอยจับตาดูเอาไว้เมื่อบริเวณดังกล่าวเข้ามาอยู่ในกรอบการสังเกต

การลุกจ้าของดวงอาทิตย์นั้นมักพ่นก้อนพลาสมามีประจุหรือที่เรียกว่า “การพ่นมวลโคโรนา” (coronal mass ejection) สู่อวกาศ ซึ่งเมื่อก้อนมวลเหล่านั้นปะทะโลก จะทำให้เกิดพายุสนามแม่เหล็กโลก (geomagnetic storm) ซึ่งรบกวนการสื่อสารวิทยุ และการส่งกระแสไฟฟ้า แต่ก็สร้างแสงเหนือ (northern light) และแสงใต้ (southern light) หรือออโรรา (aurora) ที่สวยงามประดับฟ้า

หากแต่การลุกจ้าระดับ X1.8 ครั้งนี้ไม่ได้มีพ่นมวลโคโรนาออกมาด้วย ดังนั้น จึงพยากรณ์ได้ว่าการลุกจ้าครั้งนี้จะส่งผลกระทบต่อโลกเพียงเล้กน้อย และไม่ทำให้เกิดแสงออโรราที่สวยงามนัก ถึงอย่างนั้นการปลดปล่อยรังสีจากการลุกจ้าครั้งนี้ก็มีพลังมากพอที่จะรบกวนการสื่อสารวิทยุบนโลก ซึ่งเกิดขึ้นไปแล้วเมื่อวันอังคารที่ผ่านมา

ตอนนี้ดวงอาทิตย์ของเรากำลังตื่นตัวมากขึ้นๆ และจะเป็นเช่นนี้ไปจนกระทั่งถึงจุดสูงสุดของกิจกรรมทางแม่เหล็กในปี 2013 ซึ่งกิจกรรมดังกล่าวจะเพิ่มมากขึ้นสูงสุดและน้อยลงต่ำสุดภายในรอบ 11 ปี โดยวัฏจักรปัจจุบันของดวงอาทิตย์เรียกว่า “วัฏจักรสุริยะ 24” (Solar Cycle 24) นับแต่มีการเริ่มนับวัฏจักรสุริยะเมื่อปี 1755
ภาพดวงอาทิตย์ขณะลุกจ้าเมื่อ 23 ต.ค.2012 ตามเวลาประเทศไทย ซึ่งยาน SDO บันทึกไว้ที่ความคลื่น 335 อังสตรอม   (ภาพทั้งหมดจาก SDO/นาซา/สเปซด็อทคอม)
ภาพดวงอาทิตย์ขณะลุกจ้าเมื่อ 23 ต.ค.2012 ตามเวลาประเทศไทย ซึ่งยาน SDO บันทึกไว้ที่ความคลื่น 304 อังสตรอม (ภาพทั้งหมดจาก SDO/นาซา/สเปซด็อทคอม)


คลิปการลุกจ้าของดวงอาทิตย์เมื่อ 23 ต.ค.2012 ที่ผ่านมา รุนแรง X1.8





See how different types of solar flares stack up in this SPACE.com infographic.
Source: SPACE.com: All about our solar system, outer space and exploration



อิโฟกราฟิกจากสเปซด็อทคอมอธิบายเรื่องการลุกจ้าของดวงอาทิตย์

บนสุดของอินโฟกราฟิกคือภาพจากการลุกจ้าระดับ X เมื่อเดือน มี.ค.2012 ที่ผ่านมา ซึ่งความสว่างที่เกิดขึ้นนั้นเกิดกำลังเซนเซอร์ของกล้อง จึงทำให้เกิดแสงจ้าแหลมออกมา

ภาพขวาของภาพล่าง นั้นเปรียบเทียบขนาดของดวงอาทิตย์ที่ใหญ่กว่าโลกถึง 110 เท่า ภาพซ้ายบนคือการจัดประเภทความรุนแรงของการลุกจ้า ที่แบ่งได้เป็น 5 ระดับ และมีหน่วยวัดเป็นวัตต์ต่อตารางเมตร สำหรับประเภท A เป็นระดับน้อยที่สุด มีพลังงานน้อยกว่า 0.000 0001 วัตต์ต่อตารางเมตร และประเภท X นั้นมีพลังงานมากกว่า 0.0001 วัตต์ต่อรางเมตร ภาพซ้ายล่างแสดงให้เห็นถึงการเดินทางของอนุภาคจากดวงอาทิตย์ตามเส้นแรงสนามแม่เหล็กของดวงอาทิตย์ โดยความเร็วของอนุภาคเหล่านั้นช้ากว่าแสงที่เดินทางมาถึงโลกในเวลา 8 นาทีเพียงเล็กน้อย








กำลังโหลดความคิดเห็น