xs
xsm
sm
md
lg

สำเร็จ! ทุบสถิติ “ดิ่งพสุธา” จาก “ขอบอวกาศ” ลุล่วง (มีคลิป)

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ภาพจากกล้องบนแคปซูลจับภาพขณะบามการ์ทเนอร์กระโดดจากแคปซูลในภารกิจดิ่งพสุธาที่ความสูงกว่า 39 กิโลเมตร (เรดบูลสตราโทส/สเปซด็อทคอม)
หลังจากที่ต้องเลื่อนมาหลายครั้ง ในที่สุด “ฟิลิกซ์ บามการ์ทเนอร์” ชาวออสเตีย วัย 43 ปี ก็ “ดิ่งพสุธา” จากขอบอวกาศสำเร็จ ทำลายสถิติ “โจ กิตติงเจอร์” ที่เคยทำไว้เมื่อกว่า 50 ปีก่อน และยังเป็นมนุษย์คนแรกที่เคลื่อนที่ด้วยความเร็วมากกว่าเสียงโดยไม่ต้องอาศัยยานพาหนะ

ฟีลิกซ์ บามการ์ทเนอร์ (Felix Baumgartner) อดีตทหารชาวออสเตรียวัย 43 ปี “ดิ่งพสุธา” จากชั้นบรรยากาศสตราโทสเฟียร์ (Stratosphere) ที่ความสูงกว่า 39 กิโลเมตร ได้สำเร็จ และเป็นการทำสถิติดิ่งพสุธาที่ระดับสูงที่สุด ทำลายสถิติที่ โจ กิตติงเจอร์ (Joe Kittinger) ทหารอากาศสหรัฐฯ เคยทำไว้ในปี 1960 ที่ระดับความสูง 31.3 กิโลเมตร



บอลลูนบรรจุฮีเลียม 850,000 ลูกบาศก์เมตร ที่มีความสูงเท่าตึก 55 ชั้น ในภารกิจ “เรดบูลสตราโทส” (Red Bull Stratos) ได้นำบามการ์ทเนอร์ขึ้นจากฐานปฏิบัติการในรอสเวลล์ที่อยู่ทางตะวันออกเฉียงใต้ของนิวเม็กซิโก เมื่อเวลา 22.30 น. ของวันที่ 14 ต.ค.2012 ตามเวลาประเทศไทย และถึงระดับความสูงที่ต้องการเมื่อเวลา 01.00 น.ของวันที่ 15 ต.ค.ตามเวลาประเทศไทย

เมื่อถึงความสูงที่ตั้งเป้าไว้บามการ์ทเนอร์ได้ดิ่งพสุธาและร่อนลงสู่พื้นทะเลทรายอย่างปลอดภัยด้วยร่มชูชีพโดยใช้เวลาทั้งหมด (ไม่นับช่วงเวลาที่บอลลูนลอยขึ้นไป) ประมาณ 20 นาที และตามรายงานของสเปซดอตคอมซึ่งอ้างคำพูดของเจ้าหน้าที่จากเรดบูล ระบุว่า จากผลอย่างไม่เป็นทางการ บามการ์ทเนอร์ใช้เวลา “ตกอิสระ” (freefall) ประมาณ 4 นาที 22 วินาที

แม้ว่าระยะเวลาตกอิสระของบามการ์ทเนอร์ จะสั้นกว่าสถิติตกอิสระที่นานที่สุดเล็กน้อย แต่ก็ทำให้เขามีความเร็วถึง 1,120 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ซึ่งสอดคล้องกับความเร็วระดับซูเปอร์โซนิก หรือเร็วกว่าเสียงตามที่ตั้งเป้าไว้ และทำให้เขากลายเป็นมนุษย์คนแรกที่ทำความเร็วเหนือเสียงโดยไม่อาศัยยานพาหนะช่วย



คลิประหว่างฟีลิกซ์ บามการ์ทเนอร์ “ตกอิสระ” และทำสถิติพุ่งด้วยความเร็วกว่าเสียง



บามการ์ทเนอร์ เผยว่า ระหว่างตกอิสระนั้นเกราะด้านหน้าของหมวกนิรภัยของเขามีหมอกเกาะเต็มไปหมดในช่วงพุ่งตัวลงมาอย่างเร็ว และหลังพุ่งมาได้ไม่กี่นาทีร่มชูชีพก็กางออก ท่ามกลางเสียงปรบมือที่แทรกขึ้นมาจากศูนย์ควบคุมปฏิบัติการของเรดบูลสตราโทส

เดิมทีกำหนดดิ่งพสุธาครั้งนี้ คือ วันที่ 8 ต.ค.แต่ต้องเลื่อนออกมาหลายครั้ง เนื่องจากความเร็วของกระแสลมไม่ปลอดภัยต่อการปล่อยบอลลูน แต่ความสำเร็จที่เกิดขึ้นในวันที่ 14 ต.ค.ตามเวลาท้องถิ่นนี้ก็ตรงกับวันสำคัญในอดีต เพราะเป็นวันครบรอบ 65 ปี ของการขับเคลื่อนบินที่เร็วกว่าเสียงเป็นครั้งแรก โดยนักบินอเมริกัน คือ ชัค ยีเกอร์ (Chuck Yeager) ซึ่งเป็นนักบินผู้ขับเครื่องบินจรวดเบลล์เอกซ์-1 (Bell X-1) เมื่อปี 1947

ในภารกิจเสี่ยงตายนี้กิตติงเจอร์ในฐานะผู้สร้างสถิติยาวนานกว่า 5 ทศวรรษยังรับหน้าที่เป็นที่ปรึกษาให้แก่ภารกิจ รวมทั้งสื่อสารกับบามการ์ทเนอร์ระหว่างที่เขาพุ่งตัวลงมาจากชั้นบรรยากาศ และเขายังพูดกับผู้สร้างสถิติคนใหม่ระหว่างที่ตกลงมาว่า ตัวเองคงไม่สามารถทำได้ดีกว่าที่เคยทำไว้ได้แน่

ก่อนดิ่งพสุธาบามการ์ทเนอร์ได้แถลงไว้ว่า เป้าหมายของปฏิบัติการครั้งนี้ คือ เพื่อรวบรวมข้อมูลที่เป็นประโยชน์ต่อมาตรการกู้ชีวิตมนุษย์อวกาศและนักบิน และอาจจะรวมถึงนักท่องเที่ยวอวกาศต่อไปในอนาคต โดยปฏิบัติการครั้งนี้เป็นการพิสูจน์ว่า มนุษย์สามารถทะลุความเร็วเหนือเสียงที่ชั้นสตราโทสเฟียร์และกลับสู่โลกได้ ซึ่งเป็นก้าวสำคัญในการสร้างระเบียบปฏิบัติด้านความปลอดภัยที่ระดับ “ขอบอวกาศ” (near-space) ซึ่งปัจจุบันยังไม่มีระเบียบดังกล่าว

ด้าน อีวา (Eva) แม่ของบามการ์ทเนอร์ ซึ่งเดินทางมาจากออสเตรียพร้อมสามีเพื่อร่วมลุ้นในภารกิจของลูกชาย กล่าวว่า บามการ์ทเนอร์นั้นเตรียมตัวมาเป็นอย่างดี และเธอรู้สึกยินดีมากที่เขาทำได้สำเร็จ เพราะเตรียมตัวอย่างเต็มที่เพื่อภารกิจนี้ เขาได้ทำให้ความฝันต้องแต่วัยเยาว์ของตัวเองกลายเป็นจริง

ก่อนจะทำสถิติดิ่งพสุธาด้วยความสูงที่สุดในโลก บามการ์ทเนอร์ไต่ความสำเร็จมาทีละขั้นตั้งแต่ต้นปี โดยเมื่อเดือน มี.ค.เขาดิ่งพสุธาจากระดับความสูง 21.8 กิโลเมตร และเมื่อเดือน ก.ค.เขาก็ดิ่งพสุธาจากระดับความสูง 29.6 กิโลเมตรได้สำเร็จ
ร่อนสู่พื้นโลกด้วยร่มชูชีพหลังจากตกอิสระนานกว่า 4 นาที และกินเวลาตั้งแต่กระโดดที่ความสูง 39 กิโลเมตรเป้นเวลาประมาณ 20 นาที (เรดบูลสตราโทส/สเปซด็อทคอม)
ลงพื้นอย่างปลอดภัยทำลายสถิติดิ่งพสุธา 5 ทศวรรษได้สำเร็จ (เรดบูลสตราโทส/สเปซด็อทคอม)
(บน) บรรยากาศขณะปล่อยบอลลูนได้สำเร็จ (เรดบูลสตราโทส/สเปซด็อทคอม) และภาพระหว่างเติมฮีเลียมให้บอลลูน หลังจากเช็คความเร็วลมเรียบแล้ว (เรดบูลสตราโทส)
(บน) ภาพจากกล้องบนแคปซูลระหว่างปล่อยบอลลูนได้ประมาณ 5 นาที (ล่าง) บามการ์ทเนอร์เตรียมพร้อมในชุดอวกาศที่ปรับความดันและอุณหภูมิให้เหมาะสมเมื่ออยู่ในชั้นสตราโตสเฟียร์ที่อุณหภูมิติดลบกว่า 40 องศาเซลเซียส และยังขาดออกซิเจนที่จำเป็นต่อการหายใจ (เรดบูลสตราโทส)
บามการ์ทเนอร์มาถึงฐานปฏิบัติการเพื่อรอทำภารกิจ (เรดบูลสตราโทส)
อินโฟกราฟิกแสดงข้อมูลการ “ดิ่งพสุธา” จากขอบอวกาศ




Find out how a record-breaking supersonic sky dive from space works, in this SPACE.com infographic.
Source SPACE.com: All about our solar system, outer space and exploration







กำลังโหลดความคิดเห็น