xs
xsm
sm
md
lg

จับตาภารกิจ “ดิ่งพสุธา” ท้าความตายจากขอบอวกาศ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

วินาทีวัดใจก่อนดิ่งพสุธา (ภาพจากคลิปจำลองการดิ่งพสุธา/เรดบูลสตราโทส)
“ไม่ต้องเครียด โดดเลย...ไม่ต้องคิดอะไร”
หนึ่งในคำให้กำลังใจแก่ “ฟิลิกซ์ บวมการ์ทเนอร์” นักดิ่งพสุธาท้าความตายชาวออสเตรียวัย 43 ปี ซึ่งตั้งเป้าจะทำสถิติเป็นมนุษย์คนแรกที่เคลื่อนที่ด้วยความเร็วกว่าเสียง โดยไม่ต้องพึ่งยานพาหนะ เพราะความเร็วระดับนั้นจะเกิดขึ้นเมื่อเขาตกจากความสูงที่ชั้นบรรยากาศ “สตราโทสเฟียร์”

ภารกิจ “เรดบูลสตราโทสเฟียร์” (Red Bull Stratos) คือภารกิจพิสูจน์ความกล้าจากการ “ตกอิสระ” (Free Fall) จากความสูง 120,000 ฟุต หรือประมาณ 36.5 กิโลเมตร โดยมี ฟิลิกซ์ บวมการ์ทเนอร์ (Felix Baumgartner) นักดิ่งพสุธาชาวออสเตรียวัย 43 ปี รับหน้าที่เสี่ยงตายดังกล่าว ซึ่งฐานปฏิบัติภารกิจอยู่ที่เมืองรอสเวลล์ นิวเม็กซิโก ซึ่งมีพื้นที่โล่งสำหรับทำภารกิจและสภาพอากาศยังเป็นมิตรต่อการปล่อยบอลลูน

บวมการ์ทเนอร์ได้ผ่านการเตรียมความพร้อมทำสถิติดิ่งพสุธาจากที่ระดับความสูงมากที่สุดในโลกมาแล้ว 2 ครั้ง คือเมื่อเดือน มี.ค.2012 ที่ระดับความสูงประมาณ 24 กิโลเมตรจากพื้นโลก และ เมื่อเดือน ก.ค.ที่ผ่านมาที่ระดับความสูงประมาณ 29 กิโลเมตร

ส่วนการทำสถิติใหม่ได้เลื่อนกำหนดจากวันจันทร์ที่ 8 ต.ค.มาเป็นวันอังคารที่ 9 ต.ค. แต่ก็ต้องเลื่อนออกไปอีก เนื่องจากความเร็วลมที่เป็นอุปสรรคต่อความปลอดภัยของภารกิจ โดยนักอุตุนิยมวิทยาคาดว่าวันพฤหัสบดีที่ 11 ต.ค.จะมีโอกาสให้เขาได้สร้างสถิติอีกครั้ง แต่หากยังไม่สามารถปฏิบัติภารกิจได้พวกเขายังมีเวลาถึงเดือนหน้า แต่ถ้าเกินกว่านั้นทีมเรดบูลสตราโทสต้องรอไปถึงปีหน้า

Update กำหนดการใหม่ของภารกิจเรดบูลสตราโทสคือ 14 ต.ค.55

บวมการ์ทเนอร์จะขึ้นสู่ที่ระดับความสูงดังกล่าว โดยอาศัยแคปซูลที่ถูกยกด้วยบอลลูนซึ่งเติมฮีเลียม และเมื่อเติมฮีเลียมจนเต็มแล้วจะได้บอลลูนที่สูงเท่าตึก 55 ชั้น และกว้างขนาดสนามฟุตบอล โดยชั้นของบอลลูนนั้นบางเพียง 20 ไมครอนเท่านั้น นอกจากนี้เขายังต้องสวมชุดป้องกันที่มีการปรับความดันอากาศและมีออกซิเจนเพียงพอ รวมถึงปกป้องเขาจากอุณหภูมิภายนอก

เหตุเพราะบอลลูนนั้นมีปริมาตรถึง 850,000 ลูกบาศก์เมตร จึงค่อนข้างอ่อนไหวต่อแรงลม ดังนั้น ทีมงานจะไม่สั่งปล่อยบอลลูนหากความเร้วจากพื้นดินขึ้นไปถึงระดับความสูง 250 เมตร มีความเร็วเกิน 5 กิโลเมตรต่อชั่วโมง และเหตุที่ต้องเลื่อนภารกิจที่กำหนดไว้เมื่อวันที่ 9 ต.ค.เพราะความเร็วลมที่ความสูง 215 เมตร สูงเกินกำหนด

เมื่อปล่อยขึ้นไปบอลลูนจะใช้เวลาประมาณ 3 ชั่วโมงในการนำบวมการ์ทเนอร์ขึ้นสู่ระดับความสูงระดับความสูงดังกล่าว โดยไลฟ์ไซน์เผยการคำนวณของ ไมเคิล ไวส์แมน (Michael Weissman) นักฟิสิกส์จากมหาวิทยาลัยอิลลินอยส์ (University of Illinois) ในอูร์บานาภแคมเปญว่า ภายใน 30 วินาทีที่เขาออกจากแคปซูลและปล่อยตัวลงมา เขาจะตกลงมาด้วยความเร็วเหนือเสียงที่ประมาณ 1,225 กิโลเมตรต่อชั่วโมง

เมื่ออากาศเริ่มหนาแน่นขึ้นเขาก็จะตกลงมาช้าลง และเข้าสู่ชั้นบรรยากาศโทรโพสฟียร์ (troposphere) ที่เป็นบรรยากาศชั้นในสุดและเป็นชั้นบรรยากาศที่เราอาศัยอยู่ และเมื่อเขาตกมาถึงระดับ 1.5 กิโลเมตร ร่มชูชีพก็จะกางออก นำเขาลงจอดลงเป้าหมายอย่างปลอดภัย โดยระยะเวลาในการ “ตกอิสระ” นับแต่ก้าวออกจากบอลลูนนั้นใช้เวลาทั้งสิ้นประมาณ 10 นาที

ทางทีมงานได้ติดตั้งกล้องถ่ายทอดสดกว่า 20 จุด รวมถึงกล้องซึ่งจับสีหน้าของเขาระหว่างกระโดดด้วย โดยสามารถติดตามได้ทาง www.redbullstratos.com/live แต่ภาพถ่ายทอดสดนั้นจะดีเลย์ประมาณ 20 วินาทีเพิ่งหน่วงเวลาในกรณีเกิดภาพชวนสยองหากเกิดความผิดพลาดขึ้น

ก่อนหน้านี้ โจ กิตติงเจอร์ (Joe Kittinger) ทหารอากาศสหรัฐฯ เคยทำสถิติดิ่งพสุธาสูงที่สุดในโลก ที่ระดับความสูง 102,800 ฟุต หรือ 31.3 กิโลเมตร เมื่อ 16 ส.ค.1960 และเมื่อปี 2005 บวมการ์ทเนอร์ได้เข้าไปเจรกับทางเรดบูล (Red Bull) เพื่อขอให้เป็นสปอนเซอร์ในการทำลายสถิติดิ่งพสุธาของอดีตทหารสหรัฐฯ ซึ่งปัจจุบันมีอายุกว่า 80 ปีแล้ว และแม้จะถูกท้าทายแต่กิตติงเจอร์ก็ร่วมเป็นทีมดูแลด้านความปลอดภัยให้แก่บวมการ์ทเนอร์ด้วย

ทั้งนี้จากรายงานของบีบีซีนิวส์ ระบุว่ามีหลายคนที่พยายามทำลายสถิติของกิตติงเจอร์ แต่เขาเหล่านั้นก็ต้องจบเสียชีวิตลงระหว่างปฏิบัติภารกิจ
ปล่อยใจให้ว่าง (ภาพจากคลิปจำลองการดิ่งพสุธา/เรดบูลสตราโทส)
ตกอิสระ สู่พื้นโลกในเวลาประมาณ 10 นาที ปฏิบัติการครั้งนี้ยังจะนำไปสู่การพัฒนาชุดอวกาศรุ่นใหม่ เพื่อช่วยชีวิตมนุษย์อวกาศยามฉุกเฉิน โดยการดิ่งพสุธาจากที่สูง ซึ่งปัจจุบันชุดอวกาศรองรับได้ที่ระดับ 100,000 ฟุต และหากปฏิบัติการของบวมการ์ทเนอร์สำเร็จ มาตรฐานชุดอวกาศใหม่จะขยับไปที่ระดับ 120,000 ฟุต (ภาพจากคลิปจำลองการดิ่งพสุธา/เรดบูลสตราโทส)
ภาพเตรียมพร้อมปล่อยบอลลูนเมื่อวันที่ 9 ต.ค. 2012 แต่ต้องเลื่อนออกไปเนื่องจากสภาพอากาศไม่เป็นใจ
บวมการ์ทเนอร์มีประสบการณ์ดิ่งพสุธามากว่า 2,000 ครั้งแล้ว แต่ครั้งนี้นับเป็นภารกิจที่ยิ่งใหญ่ (เรดบูลสตราโทส/บีบีซีนิวส์)
ภาพเมื่อบอลลูนนำแคปซูลทะยานขึ้นไปถึงระดับวามสูง 120,000 ฟุต (ภาพจากคลิปจำลองการดิ่งพสุธา/เรดบูลสตราโทส)
ภาพกราฟิกแสดงให้เห็นระยะความสูงของการดิ่งพสุธา เทียบกับความสูงของกิจกรรมต่างๆ รวมถึงจุดที่สูงที่สุดในโลก (เรดบูลสตราโทส/บีบีซีนิวส์)


หลักการฟิสิกส์เบื้องหลังการดิ่งพสุธาจากชั้นสตราโทสเฟียร์





คลิปการดิ่งพสุธาทดสอบที่ระดับความสูง 96,000 ฟุต ( 29 กิโลเมตร)




คลิปจำลองการดิ่งพสุธาที่ระดับ 120,000 ฟุต (36.5 กิโลเมตร)




คลิปการดิงพสุธาที่สูงที่สุดเมื่อ 16 ส.ค. 1960 โดย โจ เกตติงเจอร์








กำลังโหลดความคิดเห็น