xs
xsm
sm
md
lg

ฟ้าไม่เป็นใจ! หนุ่มใหญ่ออสเตรียเลื่อนท้ามฤตยูดิ่งพสุธาจากขอบอวกาศ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online



เอเอฟพี - นักท้ามฤตยูชาวออสเตรีย พร้อมสำหรับการเสี่ยงตายดิ่งพสุธาลงมาจากขอบอวกาศในวันอังคาร (9) ทว่าสภาพอากาศที่ยังไม่เป็นใจ ก็จำเป็นต้องเลื่อนปฏิบัติการทำลายสถิติโลกกระโดดร่มแบบเหินเวหาด้วยความเร็วเหนือเสียงเหนือท้องฟ้ามลรัฐนิวเม็กซิโก ของสหรัฐฯ ออกไปอีกครั้ง

เฟลิกซ์ บาว์มการ์ตเนอร์ จะใช้แคปซูลบอลลูนขนาดยักษ์บรรจุก๊าซฮีเลียมขึ้นไปสู่ระดับความสูง ณ 120,000 ฟุต (เกือบ 36 กิโลเมตร) หรือเกือบชิดขอบอวกาศ ก่อนกระโดดทิ้งตัวดิ่งลงมากลับเข้าสู่โลก โดยสวมชุดป้องกันแบบพิเศษที่ต้านทานแรงเสียดสี ช่วยควบคุมแรงดันภายในร่างกายและแบกถังออกซิเจนสำหรับช่วยหายใจ

เบื้องต้นปฏิบัติการท้ามฤตยูกำหนดไว้ในวันจันทร์ (8) แต่ก็ถูกเลื่อนออกมา 24 ชั่วโมง เนื่องจากสภาพอากาศที่ไม่เป็นใจ ทว่าจนถึงเช้าวันอังคาร (9) สถานการณ์ก็ยังไม่คลี่คลาย ทำให้ฝ่ายจัดตัดสินใจเลื่อนมันไปอีกรอบ

รายงานข่าวระบุว่า ชาวออสเตรียวัย 43 ปีและทีมงานใช้เวลาฝึกซ้อม เพื่อเตรียมความพร้อมสำหรับปฏิบัติการท้ามฤตยูครั้งนี้นานกว่า 5 ปี ขณะเดียวกัน ตามแผนที่วางเอาไว้ บาว์มการ์ตเนอร์ จะกระโดดแบบเหินเวหาลงมาก่อนจะกระตุกร่ม ณ ความสูง 5,000 ฟุต และจะค่อยๆ ลอยลงสู่พื้นอย่างปลอดภัย

อย่างไรก็ตาม ปฏิบัติการครั้งนี้นับว่ามีความเสี่ยงอยู่มาก โดยอันตรายเลวร้ายที่สุดที่เขาอาจต้องเผชิญก็คือ กรณีที่เกิดการหมุนเคว้งจนเสียการควบคุม แรงโน้มถ่วงของโลกจะทำให้เขาหมดสติกลางอากาศ “ภารกิจเช่นนี้ คุณจำเป็นต้องมีจิตใจที่แข็งแกร่งและควบคุมตัวเองได้อย่างสมบูรณ์ และผมเตรียมพร้อมมาเป็นอย่างดี” บาว์มการ์ตเนอร์กล่าว

แผนท้ามฤตยูคราวนี้ นายบาว์มการ์ตเนอร์หวังจารึกสถิติโลกอย่างน้อย 3 รายการ ไม่ว่าจะเป็นการดิ่งพสุธาจากระดับความสูงที่สูงสุดตลอดกาล เหนือกว่าระดับความสูงเฉลี่ยของเครื่องบินโดยสารกว่า 3 เท่า กระโดดร่มลงมาด้วยความเร็วสูงสุด และเป็นมนุษย์คนแรกที่มีความเร็วเหนือเสียงโดยไม่ใช้เครื่องบินใดๆ หลังจากก่อนหน้านี้เคยทำลายสถิติโลกมาแล้วหลายรูปแบบ และสร้างชื่อจากการดิ่งพสุธาลงมาจากอาคารเลื่องชื่อต่างๆ อาทิ เปโตรนาส ทาวเวอร์ส ในกัวลาลัมเปอร์และรูปปั้นพระเยซูคริสต์ ในรีโอเดจาเนโร ของบราซิล

ภารกิจที่ใช้ชื่อว่า Red Bull Stratos นี้ รวบรวมทีมงานผู้เชี่ยวชาญหัวกะทิชั้นนำของโลกด้านการแพทย์การบินและอวกาศ วิศวกรรม ด้านพัฒนาชุดความดันสร้างแคปซูลและการประดิษฐ์บอลลูน กว่า 100 คน และมีศูนย์บัญชาการในฐานปล่อยจรวดในเมืองโรสเวล มลรัฐนิวเม็กซิโก สหรัฐฯ

คาดหมายว่า แคปซูลอวกาศจะใช้เวลาประมาณ 2-3 ชั่วโมง สำหรับพาบาว์มการ์ตเนอร์ขึ้นไปยังขอบอวกาศ และหากทุกอย่างเป็นไปอย่างราบรื่น การดิ่งพสุธาจะใช้เวลาราวๆ 15 ถึง 20 นาที ก่อนที่เขาจะกางร่ม และเมื่อกางร่มแล้ว ก็จะใช้เวลาอีกราวๆ 10 ถึง 15 นาที สำหรับการลงสู่พื้น
กำลังโหลดความคิดเห็น