กล้องอวกาศของนาซาบันทึกภาพการปะทุของดวงอาทิตย์ที่รุนแรงในสัปดาห์ที่ผ่านมา แต่นักวิทยาศาสตร์ระบุว่า การปะทุดังกล่าวไม่ส่งผลกระทบต่อเราที่อาศัยอยู่บนโลก
การปะทุ (flare) ดังกล่าวนั้นสเปซด็อทคอมระบุว่า เป็นการปะทุจากจุดมืด (sunspot) ที่มีชื่อว่า “เออาร์1520” (AR 1520) เมื่อวันที่ 19 ก.ค.2012 เวลา 12.13 น.ที่ผ่านมาตามเวลาประเทศไทย และปะทุอยู่นาน 45 นาที การปะทุดังกล่าวมีความรุนแรงในระดับ เอ็ม7.7 (M7.7-class) ซึ่งเป็นระดับที่อ่อนกว่าการปะทุระดับเอกซ์ (X-class flares) อยู่เล็กน้อย โดยระดับเอกซ์นั้นจัดเป็นระดับการปะทุที่รุนแรงที่สุดของดวงอาทิตย์
ทั้งนี้ หอดูดาวอวกาศโซลาร์ไดนามิกส์ (Solar Dynamics Observatory) หรือ SDO ขององค์การบริหารการบินอวกาศสหรัฐฯ (นาซา) นั้น ได้เฝ้าดูดวงอาทิตย์ในหลากหลายความยาวคลื่นอย่างต่อเนื่อง และได้บันทึกภาพเคลื่อนไหวของการปะทุบนดวงอาทิตย์ที่ออกมาจากขอบดวงอาทิตย์
พายุสุริยะ (sun storm) นั้นยังปลดปล่อยการพ่นมวลโคโรนา (coronal mass ejection) หรือซีเอ็มอี (CME) ซึ่งเป็นการปะทุขนาดใหญ่ของชั้นพลาสมาบนดวงอาทิตย์ ซึ่งสามารถพุ่งผ่านอวกาศได้ด้วยความเร็ว 5 ล้านกิโลเมตรต่อชั่วโมง เมื่อซีเอ็มอีปะทะโลกสามารถสร้างความเสียหายได้ โดยก่อให้เกิดสนามแม่เหล็กที่สามารถรบกวนสัญญาณจีพีเอส (GPS) การสื่อสารวิทยุและระบบจ่ายไฟฟ้าได้
อย่างไรก็ดี นักวิจัยของนาซาเผยว่าแบบจำลองที่ศึกษาชี้ว่าการพ่นมวลโคโรนาในสัปดาห์ที่ผ่านมาไม่ได้พุ่งตรงมายังโลก แต่การปะทุที่เกิดข้นนี้ได้กระตุ้นให้เกิดพายุสุริยะเล็กน้อยรอบๆ โลกของเรา แต่ไม่ปรากฏว่าเป็นอันตรายต่อมนุษย์อวกาศหรือดาวเทียมที่โคจรรอบโลก
สำหรับจุดมืดเออาร์ 1520 ซึ่งน่าจะมีความยาวถึง 300,000 กิโลเมตรนั้นไม่ได้เพิ่งปะทุขึ้นครั้งแรก เมื่อสัปดาห์ก่อนหน้านี้เพิ่งปะทุที่ความรุนแรงระดับ เอกซ์ 1.4 (X1.4) ซึ่งรุนแรงที่สุดในช่วงนี้ แต่ครั้งรุนแรงที่สุดของปีเกิดขึ้นเมื่อเดือน มี.ค.ที่ผ่านมาที่ระดับ เอกซ์5.4 (X5.4)
ทั้งนี้ หลังจากสงบนิ่งมาตั้งแต่ช่วงปี 2005-2010 ดวงอาทิตย์ก็เริ่มมีความเคลื่อนไหวตั้งแต่ปีที่ผ่านมา โดยได้ปลดปล่อยการปะทุและการพ่นมวลซีเอ็มอีออกมาเป็นระยะๆ ผู้เชี่ยวชาญส่วนใหญ่เชื่อว่าการปะทุเช่นนี้จะเกิดขึ้นต่อเนื่องไปถึงปีหน้า ซึ่งกิจกรรมบนดวงอาทิตย์นั้นมีเพิ่มขึ้นและลดลงไปตามรอบวัฏจักรสุริยะ (Solar Cycle) โดยรอบวัฏจักรปัจจุบันที่เรียกว่าวัฏจักรสุริยะรอบที่ 24 นั้นจะมีความถี่ที่สุดในปี 2013