xs
xsm
sm
md
lg

พายุสุริยะถล่มโลกรุนแรงสุดในรอบ 6 ปี

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ภาพดวงอาทิตย์ปะทุเมื่อคืนวันอาทิตย์ตามเวลามาตรฐานตะวันออก (นาซา/เอพี)
เมื่อใกล้เที่ยงวันจันทร์ที่ผ่านมา ดวงอาทิตย์ซึ่งเป็นศูนย์กลางของระบบสุริยะได้ยิงกระสุนอนุภาคมีประจุพุ่งตรงมายังโลก เหตุการณ์ดังกล่าวคือปรากฏการณ์พายุสุริยะที่รุนแรงที่สุดในรอบ 6 ปี ซึ่งสิ่งที่น่าห่วงที่สุดคือการทำงานของดาวเทียมในวงโคจรและมนุษย์อวกาศที่อยู่นอกโลก

จากรายงานขององค์การมหาสมุทรและบรรยากาศสหรัฐฯ (National Oceanic and Atmospheric Administration) หรือโนอา (NOAA) นั้น เอพีระบุว่าเกิดการปะทุ (flare) บนดวงอาทิตย์ เมื่อเวลา 23.00 น.ของวันอาทิตย์ตามเวลามาตรฐานตะวันออก (หรือเวลา 11.00 น. ของวันที่ 23 ม.ค.2012 ตามเวลาประเทศไทย) ซึ่งจะทำให้เกิดผลกระทบต่อโลก 3 เรื่อง โดยประเด็นสำคัญสุดคือการแผ่รังสีจากอนุภาคมีประจุ

ดัก บีเซคเกอร์ (Doug Biesecker) นักฟิสิกส์ประจำศูนย์สภาพอวกาศ (space weather center) ของโนอาระบุว่า การแผ่รังสีจากอนุภาคมีประจุนี้เป็นปัญหาใหญ่ในการรบกวนการทำงานของดาวเทียมและยังส่งผลกระทบต่อมนุษย์อวกาศที่อยู่ในวงโคจร โดยปราฏการณ์ดังกล่าวอาจเป็นสาเหตุของปัญหาในการสื่อสารแก่เครื่องบินที่สัญจรในแถบขั้วโลก

การแผ่รังสีจากการปะทุครั้งนี้มาถึงโลกในอีกชั่วโมงถัดมาและยังคงมีรังสีแผ่มาอย่างต่อไปจนถึงวันพุธตามเวลามาตรฐานตะวันออก (ต่างจากไทย 12 ชั่วโมง) แม้ว่าระดับรังสีที่แผ่มานี้จะถือว่ารุนแรงแต่ก็เคยมีพายุอื่นๆ ที่รุนแรงกว่า ซึ่งบีเซคเกิอร์กล่าวว่าความรุนแรงของพายุสุริยะตามมาตรฐานโนอานั้นแบ่งเป็น 2 ระดับ คือ รุนแรง (severe) และ รุนแรงที่สุด (extreme) อย่างไรก็ดี พายุสุริยะครั้งนี้ก็ยังคงแผ่รังสีออกมารุนแรงที่สุดนับแต่เดือน พ.ค.2005

การแผ่รังสีในรูปของอนุภาคโปรตอนจากดวงอาทิตย์นั้นพุ่งมาด้วยความเร็ว 150 ล้านกิโลเมตรต่อชั่วโมง ซึ่งบีเซคเกอร์กล่าวว่า อวกาศระหว่างโลกไปถึงดาวพฤหัสบดีนั้นเต็มไปด้วยโปรตอน และเราไม่อาจกำจัดอนุภาคเหล่านี้ไปด้วยความเร็วระดับพายุสุริยะได้ จึงเป็นเหตุผลว่าทำไมอนุภาคที่ดวงอาทิตย์ส่งมาจึงส่งผลกระทบต่อโลกอยู่หลายวัน

ทางด้าน ร็อบ นาไวแอส (Rob Navias) โฆษกขององค์การบริหารการบินอวกาศสหรัฐฯ (นาซา) กล่าวว่า แพทย์ประจำเที่ยวบินอวกาศและและผู้เชี่ยวชาญเกี่ยวกับปรากฏการณ์จากดวงอาทิตย์ของนาซาได้ประเมินผลกระทบที่คาดว่าจะเกิดขึ้นจากการปะทุของดวงอาทิตย์ และตัดสินว่ามนุษย์อวกาศ 6 คนที่ประจำอยู่บนสถานีอวกาศนานาชาติ (International Space Station) ไม่จำเป็นต้องทำการใดเพื่อป้องกันตัวเองจากรังสี

แอนต์ติ พัลก์กิเนน (Antti Pulkkinen) นักฟิสิกส์ของศูนย์การบินอวกาศก็อดดาร์ด (Goddard Space Flight Center) ในมหาวิทยาลัยแมรีแลนด์แอนด์คาธอลิก (Maryland and Catholic University) กล่าวว่าการปะทุของดวงอาทิตย์เกิดขึ้นเป็นจังหวะ 3 จังหวะต่อเนื่องกัน ครั้งแรกคือการแผ่รังสีของอนุภาคแม่เหล็กไฟฟ้า ตามมาด้วยการแผ่รังสีในรูปอนุภาคโปรตอน

สุดท้ายเป็นการพ่นมวลโคโรนา (coronal mass ejection) หรือซีเอ็มอี (CME) ซึ่งเป็นพลาสมาจากดวงอาทิตย์เอง ซึ่งปกติความเร็วของการแผ่รังสีอยู่ที่ 1.6-3.2 ล้านกิโลเมตรต่อชั่วโมง แต่ครั้งนี้ความเร็วเพิ่มขึ้นเป็น 2 เท่า และพลาสมานี้เองก็สร้างปัญหาบนโลกได้อย่างมาก เช่น ทำให้สายส่งไฟฟ้าไม่ทำงาน ซึ่งเมื่อปี 1989 พายุสุริยะได้เป็นสาเหตุให้เกิดไฟดับครั้งใหญ่ที่เมืองควิเบก (Quebec) ของแคนาดา และยังทำให้เกิดปรากฏการณ์แสงเหนือ (northern light) หรืออโรรา (aurora) ลงใต้มากกว่าปกติ

บีเซคเกอร์กล่าวว่า การพ่นมวลโคโรนานี้เหมือนจะมีความรุนแรงระดับกลางๆ ที่มีโอกาสจะรุนแรง โดยความเสียหายเลวร้ายที่สุดของพายุสุริยะนี้จะเกิดขึ้นบริเวณตอนเหนือของโลก แต่ปรากฏการณืครั้งนี้ต่างไปจากเหตุการณ์เมื่อเดือน ต.ค.ปีที่ผ่านมา ซึ่งครั้งนั้นเกิดพายุสุริยะแปลกประหลาดที่ทำให้เกิดแสงออโรราลงใต้มาไกลถึงอลาบลามาของสหรัฐฯ แต่หนนี้เขากล่าวว่าจะไม่เกิดแสงเหนือลงใตมาไกลเช่นนั้นแล้ว โดยบางส่วนของรัฐนิวอิงแลนด์ ตอนเหนือของนิวยอร์ก ตอนเหนือของมิชิแกน มอนทานา และฝั่งตะวันตกเฉียงเหนือของมหาสมุทรแปซิฟิกจะเกิดปรากฏการณ์แสงออโรราให้เห็น

ในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา ดวงอาทิตย์ของเราค่อนข้างเงียบสงบ และดูเหมือนจะเงียบสงบเกินไป ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นเพราะเหตุการ์ณปกติตามวัฏจักร 11 ปีของกิจกรรมบนดวงอาทิตย์ และเมื่อปีที่ผ่านมานักวิทยาศาสตร์ก็เริ่มครุ่นคิดว่าดวงอาทิตย์อาจจะเข้าสู่วัฏจักรสงบนิ่งอย่างผิดปกติซึ่งอาจจะเกิดประมาณศตวรรษละครั้ง แต่ตอนนี้บีเซคเกอร์กล่าวว่าไม่การเงียบผิดปกติเช่นนั้นแล้ว

บีเซคเกอร์บอกด้วยว่าตอนนี้นักวิทยาศาสตร์กำลังจับตาดูดวงอาทิตย์ด้วยดาวเทียมดวงใหม่ของนาซาที่ถูกส่งขึ้นไปเมื่อปี 2010 ระหว่างที่ดวงอาทิตย์กำลังสงบ ซึ่งเป็นเรื่องน่าตื่นเต้นยิ่ง เพราะเราไม่ได้เห็นเหตุการณ์ปะทุของดวงอาทิตย์มาหลายปีแล้ว ดังนั้น เหตุการณ์ล่าสุดที่เกิดขึ้นจึงเป็นเรื่องพิเศษ


ภาพดวงอาทิตย์ที่บันทึกด้วยกล้องโทรทรรศน์อวกาศโซลาร์ไดนามิกส์ (Solar Dynamics Observatory) ของนาซา และมีการปรับแต่งสีตามหลักวิชาการ เมื่อวันที่ 23 ม.ค.2012 ตาเวลามาตรฐานตะวันออก (นาซา/เอพี)
กำลังโหลดความคิดเห็น