เผยภาพจุดมืดบนดวงอาทิตย์...ใหญ่ขนาดใส่โลกลงไปได้ 10 ใบ จุดมืดขนาดใหญ่ที่สุดในรอบ 24 ปี และยังก่อให้เกิดการปะทุครั้งใหญ่ๆ ระดับ X ต่อเนื่องหลายครั้งตั้งแต่สัปดาห์ที่ผ่านมา
เอเอฟพีเผยภาพดวงอาทิตย์ที่บันทึกด้วยกล้องแมกเนติกอิเมจอร์ (Magnetic Imager: HMI) บนหอดูดาวอวกาศโซลาร์ไดนามิกส์ (Solar Dynamics Observatory) หรือ SDO ขององค์การบริหารการบินอวกาศสหรัฐ (นาซา) ซึ่งภาพดังกล่าวยังเปยให้เห็นแถบจุดมืด (sunspot) ทางด้านขวา ที่มีชื่อเรียกว่า AR-12192 ซึ่งมีความกว้างประมาณ 80,000 ไมลหรือประมาณ 130,000 กิโลเมตร
ขนาดของจุดมืดดังกล่าวใหญ่พอที่จะใส่โลก 10 ใบลงไป และทาง Phys.org ยังรายงานด้วยว่า จุดมืดดังกล่าวมีผลให้ดวงอาทิตย์เกิดการลุกจ้า (flare) รุนแรงตั้งแต่สัปดาห์ที่ผ่านมา โดยเมื่อวันที่ 27 ต.ค.2014 เกิดการลุกจ้ารุนแรงระดับ X เป็นครั้งที่ 4 นับแต่การลุกจ้าระดับนี้ครั้งแรกเมื่อวันที่ 24 ต.ค. โดยการลุกจ้าล่าสุดเกิดขึ้นเมื่อเวลา 21.47 น.ของจันทร์ตามเวลาประเทศไทย
นอกจากนี้กล้อง SDO ยังบันทึกภาพการลุกจ้าระดับ M ซึ่งเป็นความรุนแรงระดับกลางไว้ได้ โดยการลุกจ้าระดับ M ครั้งแรกในรอบนี้เกิดขึ้นเมื่อเวลา 07.34 น.ของวันที่ 27 ต.ค. และอีกครั้งเกิดขึ้นเมื่อเวลา 17.09 น.ในวันเดียวกัน การลุดจ้าระดับกลางทั้งสองเป็นเหตุการณ์ต่อเนื่องนับแต่การลุกจ้าครั้งแรกเมื่อวันที่ 19 ต.ค.
ทั้งนี้ การลุกจ้าระดับ X ถือเป็นการลุกจ้าที่มีความเข้มมากที่สุด และมีตัวเลขต่อท้ายที่บอกถึงระดับเข้มของรังสี โดย X3 มีความเข้มมากกว่า X1 อยู่ 3 เท่า และ X2 มีความเข้มมากกว่า X1 อยู่ 2 เท่า ส่วนการลุกจ้าระดับ M นั้นมีความเข้มน้อยกว่าระดับ X อยู่ 10 เท่า ส่วนตัวเลขนั้นขยายความรุนแรงเช่นเดียวกัน เช่น M2 หมายความว่ามีความรุนแรงเป็น 2 เท่าของ M1 เป็นต้น
สำหรับการลุกจ้าของดวงอาทิตย์นั้นเป็นการระเบิดของรังสี ซึ่งรังสีที่เป็นอันตรายนี้ไม่สามารถผ่านชั้นบรรยากาศของโลกลงมาส่งผลต่อมนุษย์บนพื้นดินได้ แต่ถ้ารังสีมีความเข้มมากพอก็อาจรบกวนชั้นบรรยากาศโลกที่มีสัญญาณดาวเทียมนำร่องและดาวเทียมสื่อสารเดินทางอยู่
การลุกจ้าของดวงอาทิตย์นี้ถือเป็นเรื่องปกติเมื่อเราเข้าสู่ช่วงสูงสุดของวัฏจักรสุริยะ (solar maximum) ซึ่งจะเกิดกิจกรรมด้านแม่เหล็กบนดวงอาทิตย์หนาแน่นมากในช่วงนี้ และจะเกิดขึ้นทุกๆ 11 ปี
*******************************