xs
xsm
sm
md
lg

กล้องใหม่ "นาซา" จับภาพดวงอาทิตย์พ่นมวล CME (คลิป)

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


กล้องอวกาศสำรวจดวงอาทิตย์ตัวใหม่ของนาซา จับภาพดวงอาทิตย์พ่นมวล CME เป็นครั้งแรก ให้รายละเอียดได้มากกว่ากล้องรุ่นเก่าๆ

กล้องโทรทรรศน์อวกาศตัวใหม่ขององค์การบริหารการบินอวกาศสหรัฐ (นาซา) ชื่อ ไอริส (Interface Region Imaging Spectrograph: IRIS) ที่เพิ่งถูกส่งขึ้นสู่อวกาศเมื่อปีที่ผ่านมา บันทึกภาพเหตุการณ์พ่นมวลโคโรนา (coronal mass ejection) หรือ CME ที่เกิดขึ้นบนดวงอาทิตย์เมื่อ 9 พ.ค.2014 ไว้ได้ ซึ่งอนุภาคจากดวงอาทิตย์ถูกพ่นออกมาด้วยความเร็ว 2.5 ล้านไมล์ต่อชั่วโมง



นาซาระบุว่าภาพที่บันทึกได้นั้นให้รายละเอียดมากเป็นพิเศษ และเป็นภาพเหตุการณ์ CME ที่กล้องไอริสบันทึกได้เป็นครั้งแรก นับแต่ถูกส่งขึ้นไปเมื่อเดือนมิ.ย.2013 ที่ผ่านมา โดยกล้องถูกออกแบบให้จับตาดูบรรยากาศชั้นล่างสุดดวงอาทิตย์ด้วยความสามารถในการบันทึกความละเอียดมากกว่าเทคโนโลยีก่อนหน้านี้

ทั้งนี้ ต้องกำหนดจุดให้กล้องไอริสจับตาดูล่วงหน้าอย่างน้อย 1 วัน ดังนั้น การบันทึกภาพที่ให้รายละเอียดมากพอสำหรับการศึกษาได้จึงต้องอาศัยโชคบ้าง ซึ่ง บาร์ท เดอ ปองชัว (Bart De Pontieu) หัวหน้าทีมปฏิบัติการวิทยาศาสตร์ จากห้องปฏิบัติการดวงอาทิตย์และฟิสิกส์ดาราศาสตร์ล็อคฮีดมาร์ติน กล่าวว่า พวกเขาให้กล้องเฝ้าดูบริเวณที่มีความเคลื่อนไหวเพื่อจับภาพการลุกจ้าหรือ CME

"จากนั้นเราก็ได้แต่รอและคาดหวังว่าจะจับได้อะไรบางอย่าง ภาพนี้เป็นภาพ CME ที่ชัดเจนภาพแรกของไอริส ดังนั้น ทีมเราจึงตื่นเต้นมากๆ" หัวหน้าทีมปฏิบัติการวิทยาศาสตร์กล้องไอริสกล่าว

ทั้งนี้ อุปกรณ์ของไอริสสามารถแยกช่วงแสงได้หลายความยาวคลื่น ทำให้นักวิทยาศาสตร์วัดอุณหภูมิ ความเร็ว และความหนาแน่นของอนุภาคจากดวงอาทิตย์ที่ถูกพ่นออกมา โดยกล้องจะจับตาดูที่ฐานการพ่นมวล CME ซึ่งมีอุณหภูมิประมาณ 30,000 เคลวิน







กำลังโหลดความคิดเห็น