นักดาราศาสตร์เจอ “ดาวแคระน้ำตาล” ที่หนาวเย็นที่สุดในประเภทของดาวฤกษ์ชนิดนี้ เป็นเพื่อนบ้านดวงอาทิตย์ของเรา อยู่ห่างออกไปแค่ 7.2 ปีแสง ซึ่งเป็นระยะทางที่ทำให้เป็นดาวที่ใกล้ใจกลางระบบสุริยะมากที่สุดเป็นอันดับ 4 แต่ก็ไม่เหมาะเป็นจุดหมายในการเดินทางไปเยือน เนื่องจากมีสภาพหนาวเย็นมาก
ทีมนักดาราศาสตร์จากมหาวิทยาลัยเพนน์สเตท (Penn State University) ใช้กล้องโทรทรรศน์อินฟราเรดไวส์ (Wide-field Infrared Survey Explorer: WISE) และกล้องโทรทรรศน์อวกาศสปิตเซอร์ (Spitzer Space Telescopes) ขององค์การบริหารการบินอวกาศสหรัฐฯ (นาซา) สำรวจพบดาวแคระน้ำตาล (brown dwarf) ซึ่งระบุตำแหน่งได้ว่าอยู่ไกลออกไป 7.2 ปีแสง ทำให้ดาวฤกษ์ดวงนี้เป็นระบบดาวที่อยู่ใกล้ดวงอาทิตย์มากที่สุดลำดับที่ 4
ดาวแคระน้ำตาลนั้นเริ่มต้นชีวิตเหมือนดาวฤกษ์ทั่วๆ ไป เมื่อกลุ่มก้อนก๊าซยุบตัวลง แต่ดาวประเภทนี้กลับไม่มีมวลมากพอจะเผาพลาญเชื้อเพลิงนิวเคลียร์ และแผ่รังสีของดาวออกไป ดาวแคระน้ำตาลนี้มีชื่อว่า WISE J085510.83-071442.5 ซึ่งมีอุณหภูมิระหว่าง -48 ถึง -13 องศาเซลเซียส
ก่อนหน้านี้กล้องไวส์ก็เคยตรวจจับดาวแคระน้ำตาลที่ร้อนที่สุดและเย็นที่สุดได้ ส่วนกล้องสปิตเซอร์สามารถตรวจจับดาวแคระน้ำตาลที่มีความเย็นระดับอุณหภูมิห้องได้
ด้าน เควิน ลูห์แมน (Kevin Luhman) ผู้ช่วยศาสตราจารย์ด้านดาราศาสตร์และดาราศาสตร์ฟิสิกส์ของเพนน์สเตทและเป้นนักวิจัยในศูนย์ศึกษาดาวเคราะห์นอกระบบและโลกที่สิ่งมีชีวิตอาศัยอยู่ได้ กล่าวว่า อุณหภูมิที่เย็นขั้วของดาวดวงนี้บ่งชี้ถึงบรรยากาศของดาวเคราะห์ในระบบได้มาก ซึ่งมักจะมีอุณหภูมิหนาวเย็นไม่ต่างจากดาวแม่
ดูเหมือนว่าระบบดาวดวงนี้ไม่น่าจะเหมาะเป็นเป้าหมายของมนุษย์สำหรับการเดินทางท่องอวกาศในอนาคต โดยดาวเคราะห์ในระบบน่าจะหนาวเย็นเกินกว่าจะเอื้อต่อการดำรงชีวิตของสิ่งมีชีวิตที่เรารู้จัก และลูห์แมนยังบอกด้วยว่าจากข้อมูลของกล้องไวส์เผยว่าดาวดวงนี้เคลื่อนที่ค่อนข้างเร็วมาก
หลังสังเกตเห็นการเคลื่อนที่เร็วมากของ WISE J085510.83-071442.5 เมื่อเดือน มี.ค. 2013 ลูห์แมนได้ทุ่มเทเวลาวิเคราะห์และใช้กล้องสปิตเซอร์ถ่ายภาพเพิ่มเติม รวมถึงใช้ข้อมูลจากกล้องโทรทรรศน์ในชิลี ซึ่งข้อมูลอินฟราเรดจากสปิตเซอร์ทำให้ทราบว่าดาวนี้เหน็บหนาวแค่ไหน และประเมินว่าเป็นดาวที่มีมวลมากกว่าดาวพฤหัสบดี 3-10 เท่า ซึ่งนับเป็นหนึ่งในดาวแคระน้ำตาลที่มีมวลน้อยที่สุดดวงหนึ่ง