ในเวลา 2 วันดวงอาทิตย์เกิดการประทุใหญ่ระดับ X ถึง 3 ครั้ง ผู้เชี่ยวชาญคาดอนุภาคจากการประทุจะเดินทางมาถึงโลกในวันศุกร์ 13 มิ.ย. ด้านนาซาแจงอนุภาคที่เป็นอันตายเหล่านี้ไม่ส่งผลกระทบต่อมนุษย์บนโลก เพราะโลกมีชั้นบรรยากาศที่ช่วยปกป้อง แต่ถ้าอนุภาคมีความเข้มมากก็อาจรบกวนสัญญาณจีพีเอสและการสื่อสารได้
องค์การบริหารการบินอวกาศสหรัฐ (นาซา) เผยภาพการลุกจ้าบนดวงอาทิตย์รุนแรงระดับ X ถึง 3 ครั้ง ระหว่างวันที่ 10-11 มิ.ย.2014 ซึ่งปรากฏการณ์ดังกล่าวถูกบันทึกเหตุการณ์โดยหอดูดาวอวกาศโซลาร์ไดนามิกส์ (Solar Dynamics Observatory) หรือ SDO ของนาซาเอง
ปรากฏการณ์ลุกจ้า (flare) ระดับ X ทั้ง 3 ครั้งเกิดขึ้นบริเวณที่คุกรุ่นและมีสนามแม่เหล็กเข้มสูง ซึ่งหากมองจากโลกบริเวณดังกล่าวอยู่ทางด้านซ้ายของดวงอาทิตย์ โดยเมื่อวันที่ 10 มิ.ย.เวลา 18.42 น. ตามเวลาประเทศไทย ดวงอาทิตย์ลุกจ้าระดับ X2.2 จากนั้นเวลา 19.52 น. ดวงอาทิตย์ลุกจ้าที่ระดับ X1.5 และในวันที่ 11 มิ.ย. เวลา 16.06 น. ดวงอาทิตย์ลุกจ้าระดับ X1.0
การลุกจ้าระดับ X นั้นเป็นระดับการลุกจ้าที่รุนแรงที่สุดของดวงอาทิตย์ ส่วนตัวเลขตามหลังนั้นระบุถึงความแรงของลุกจ้า โดย X2 มีความเข้มมากกว่าการลุกจ้าระดับ X1 เป็น 2 เท่า, และ X3 มีความเข้มมากกว่าการลุกจ้าระดับ X1 เป็น 3 เท่า แต่ดวงอาทิตย์ก็ยังมีลุกจ้าในระดับที่รุนแรงน้อยกว่า คือ การลุกจ้าระดับ M ที่ทำให้เกิดแสงออโรราที่สวยงามที่บริเวณขั้วโลกได้ รวมถึงการลุกจ้าระดับ C และการลุกจ้าระดับอื่นที่มีความเข้มน้อยกว่า
การลุกจ้าของดวงอาทิตย์เป็นการระเบิดของรังสีที่รุนแรง แต่นาซาให้ความมั่นใจว่าการแผ่รังสีที่จะเป็นอันตรายนี้จะไม่ลงมาทำอันตรายคนที่อยู่บนพื้นโลก เนื่องจากมีชั้นบรรยากาศโลกที่ช่วยปกป้องทางกายภาพ ถึงอย่างนั้นรังสีที่มีความเข้มพอก็สามารถรบกวนบรรยากาศในชั้นที่มีการเดินทางของสัญญาณจีพีเอสและการสื่อสารได้
ขณะที่ศูนย์คาดการณ์สภาพอวกาศสหรัฐ (U.S. Space Weather Prediction Center) ไม่คาดว่าการลุกจ้าครั้งนี้มีการพ่นมวลโคโรนา (coronal mass ejection) หรือ ซีเอ็มอี (CME) หรือการระเบิดของพลาสมาร้อนจากดวงอาทิตย์ระหว่างการลุกจ้า แต่สเปซด็อทคอมอ้างความเห็น โทนี ฟิลลิปส์ (Tony Phillips) นักดาราศาสตร์จาก spaceweather.com ว่าการลุกจ้าครั้งแรกในสามครั้งนี้น่าจะมีการพ่นซีเอ็มอีเล็กๆ ออก ซึ่งคาดว่าอนุภาคเหล่านี้จะมาถึงโลกในวันที่ 13 มิ.ย. และอาจทำให้เกิดพายุสนามแม่เหล็กโลกได้