นักวิทยาศาสตร์ฝรั่งเศสพบ “เกลียวเส้นแม่เหล็ก” บนพื้นผิวดวงอาทิตย์ เป็นสัญญาณก่อนเกิดพายุสุริยะ ที่มีโอกาสปลดปล่อยการแผ่รังสีและอนุภาคพลังงานสูง ซึ่งอาจสร้างความเสียหายต่อดาวเทียมและรับบจ่ายกระแสไฟฟ้าบนโลกได้ ความหวังพัฒนาพยากรณ์สภาพภูมิอวกาศก่อนพายุสุริยะปะทะโลกได้
จากการศึกษาพายุสุริยะที่เกิดขึ้นเมื่อเดือน ธ.ค.2006 ที่ผ่านมา โดยทีมของ ทาฮาร์ อามารี (Tahar Amari) จากศูนย์วิจัยวิทยาศาสตร์ฝรั่งเศส (National Centre for Scientific Research: CNRS) เอเอฟพีรายงานว่า พวกเขาได้เผยผลการศึกษาลงวารสารเนเจอร์ โดยพวกเขาได้อาศัยข้อมูลจากดาวเทียมวิจัยวิทยาศาสตร์ของญี่ปุ่นศึกษาปรากฏการณ์ดังกล่าว
“เราจะระบุแหล่งกำเนิดการปะทุได้ล่วงหน้า 4 วัน” อามารีแจงแก่เอเอฟพีผ่านทางอีเมล พร้อมทั้งระบุว่า สนามแม่เหล็กที่แหล่งกำเนิดนั้นก่อตัวเป็นรูปเกลียวเชือก และที่ปลายเกลียวก็ยึดติดกับจุดมืด (sunspot) ซึ่งเป็นลักษณะทางแม่เหล็กบนพื้นผิวดวงอาทิตย์
ทั้งนี้ ผู้เชี่ยวชาญระบุว่า พายุสุริยะอาจเป็นต้นเหตุให้เกิดไฟดับกินบริเวณกว้าง รวมทั้งหยุดการทำงานของทุกสิ่งตั้งแต่แหล่งจ่ายกระแสไฟฟ้า การส่งสัญญาณวิทยุ ไปจนถึงการทำงานของดาวเทียมระบุตำแหน่ง และระบบประปาที่ต้องอาศัยการทำงานของไฟฟ้า
พายุสุริยะนั้นเริ่มจากการปะทุบนพื้นผิวดวงอาทิตย์ ที่เรียกว่า “การลุกจ้าบนดวงอาทิตย์” (solar flare) ซึ่งส่งรังสีเอกซ์ และแผ่รังสีอัลตาไวโอเลตที่อย่างเข้มข้นออกมาด้วยความเร็วแสง และในช่วงไม่กี่ชั่วโมงหลังการลุกจ้าอนุภาคที่มีพลังงานก็จะตามมา ซึ่งหากพุ่งตรงมายังโลกอนุภาคอิเล็กตรอนและโปรตอนเหล่านั้นจะทำให้เกิดประจุไฟฟ้าบนดาวเทียมที่โคจรอยู่รอบโลก และทำลายวงจรอิเล็กทรอนิกส์ของดาวเทียมเหล่านั้น
ถัดจากนั้นคือการพ่นมวลโคโรนา (coronal mass ejections) หรือซีเอ็มอี (CME) ซึ่งเป็นการพ่นพลาสมาแม่เหล็กนับพันล้านตัน ซึ่งใช้เวลาเป็นวันหรือมากกว่านั้นในการเดินทางจากดวงอาทิตย์มายังโลก
ย้อนกลับไปเมื่อปี 1859 พายุสุริยะเป็นสาเหตุของการเพิ่มประจุขึ้นอย่างรวดเร็วบนสายส่งโทรเลข ซึ่งทำให้บางสำนักงานเกิดไฟฟ้าไหม้ขึ้นทันที และทำให้ผู้ทำการรับส่งโทรเลขเกิดภาวะช็อค และพายุสุริยะเมื่อปี 1989 ก็ทำให้เกิดไฟดับครั้งใหญ่จนประชาชนถึง 5 ล้านคนในควิเบกของแคนาดาต้องขาดแคลนไฟฟ้า
เมื่อปี 2009 ก็มีรายงานจากคณะนักวิทยาศาสตร์ซึ่งรวมถึงนักวิทยาศาสตร์ขององค์การบริหารการบินอวกาศสหรัฐ (นาซา) เตือนถึงหายนะจากพายุสุริยะว่า อาจทำให้เกิดความเสียหายที่หากคิดเฉพาะแค่สหรัฐฯ ก็คิดเป็นมูลค่าถึง 2 ล้านล้านดอลลาร์หรือกว่า60 ล้านล้านบาท ซึ่งเป็นค่าใช้จ่ายสำหรับการซ่อมแซมในช่วงปีแรก และต้องใช้เวลาฟื้นฟูนานถึง 10 ปี
ทว่าการทำนายว่าเหตุการณ์พายุสุริยะเหล่านี้จะเกิดขึ้นเมื่อไร และโลกอยู่ขวางเส้นทางของอนุภาคพลังงานสูงหรือไม่ ยังไม่สามารถทำได้ และเมื่อวันที่ 23 ก.ค.2012 โลกก็เพิ่งผ่านเหตุการณ์พายุสุริยะรุนแรงที่สุดในรอบ 150 ปี ไปอย่างเฉียดฉิว โดยเอเอฟพีอ้างถึงคำแถลงของนาซาว่า เหตุการณ์ดังกล่าวรุนแรงพอที่จะทำให้อารยธรรมยุคใหม่ย้อนกลับไปสู่ศตวรรษที่ 18 เลยทีเดียว และมีคนบนโลกเพียงไม่กี่คนที่ตระหนักถึงภัยอันตรายดังกล่าว
จนถึงทุกวันนี้โลกมีเวลาแจ้งเตือนรับมือการปะทุบนดวงอาทิตย์เพียงไม่กี่ชั่วโมง โดยอาศัยดาวเทียมของสหรัฐฯ ที่โคจรอยู่รอบโลก ซึ่งอามารีระบุว่า ช่วงเวลาของการแจ้งเตือนควรได้รับการพัฒนาให้ดีขึ้นกว่านั้น พร้อมระบุว่า งานวิจัยของเขาจะทำให้เราพัฒนาความรู้เกี่ยวกับการปะทุของดวงอาทิตย์ที่กำลังจะเกิดขึ้น และอาศัยข้อมูลสดของสนามแม่เหล็กบนดวงอาทิตย์ ร่วมกับแบบจำลองทางคณิตศาสตร์ จะช่วยให้เราพยากรณ์สภาพภูมิอวกาศได้ในที่สุด
*******************************