สทน.จัดประชุมนานาชาติด้านนิวเคลียร์ ระดมกูรูทั่วโลก แจงประโยชน์ใช้เทคโนโลยีนิวเคลียร์ในชีวิตประจำวัน ครอบคลุมสาขา เกษตร สิ่งแวดล้อม อุตสาหกรรม โภชนาการ วิศวกรรม การแพทย์
สถาบันเทคโนโลยีนิวเคลียร์แห่งชาติ (สทน.) ร่วมกับสมาคมนิวเคลียร์แห่งประเทศไทย จัดประชุมวิชาการนานาชาติด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีนิวเคลียร์ ประจำปี 2557 (International Nuclear Science and Technology Conference 2014 : INST) ระหว่างวันที่ 28-30ส.ค. ภายใต้แนวคิด “ขับเคลื่อนอนาคตด้วยเทคโนโลยีนิวเคลียร์” ณ โรงแรมเซนทารา แอท เซ็นทรัล ลาดพร้าว
ดร.สมพร จองคำ ผู้อำนวยการ สทน. กล่าวว่า รู้สึกเป็นเกียรติอย่างยิ่งที่ สทน.ได้เป็นเจ้าภาพจัดประชุมครั้งนี้ ซึ่งเป็นการประชุมวิชาการนานาชาติเป็นครั้งแรก เนื่องจากที่ผ่านมาจะเป็นการประชุมวิชาการด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีนิวเคลียร์ โดยจัดขึ้นทุก 2 ปี และครั้งล่าสุดเมื่อปี 2554 รวมทั้งสิ้น 12 ครั้ง แต่ในปีนี้ สทน.เล็งเห็นถึงความสำคัญของการขยายผลความร่วมมือไปสู่นานาประเทศ เพื่อแลกเปลี่ยนข้อมูลความก้าวหน้าของการศึกษาวิจัย การพัฒนาเทคโนโลยีนิวเคลียร์ รวมถึงแลกเปลี่ยนประสบการณ์ระหว่าง นักวิจัย นักวิทยาศาสตร์และนักวิชาการจากทั่วโลก เพื่อนำไปสู่การวิจัยและพัฒนาองค์ความรู้ด้านเทคโนโลยีนิวเคลียร์ และการนำไปใช้ประโยชน์ด้านต่าง ๆ ในอนาคต ครอบคลุมสาขา เกษตร สิ่งแวดล้อม อุตสาหกรรม ยา โภชนาการ วิศวกรรม รวมถึงความปลอดภัยทางด้านนิวเคลียร์และรังสี
ผู้อำนวยการ สทน. กล่าวว่า นอกจากนี้ยังมีผู้เชี่ยวชาญในสาขาต่างๆ ของเทคโนโลยีนิวเคลียร์จากนานาชาติร่วมกล่าวถึง อนาคตของงานวิจัยทางนิวเคลียร์ว่ามีทิศทางเช่นไร ประกอบไปด้วย Prof.Dr.Koji Okamoto ผู้เชี่ยวชาญสาขาปลอดภัยนิวเคลียร์ จากมหาวิทยาลัยโตเกียวประเทศญี่ปุ่น Dr.Masanori Aritomi ผู้เชี่ยวชาญสาขานิวเคลียร์ฟิสิกส์และวิศวกรรม จากสถาบันเทคโนโลยีโตเกียว ประเทศญี่ปุ่นDr.Amares Chatt นักวิเคราะห์นิวเคลียร์ จากมหาวิทยาลัยดาลฮูซี ประเทศแคนาดาDr.Russell Frew ผู้เชี่ยวชาญสาขาโภชนาการ จากทบวงการพลังงานปรมาณูระหว่างประเทศ (IAEA) Prof.Dr.Olgun Guven ผู้เชี่ยวชาญสาขาอุตสาหกรรม และ Dr.Ronald Szymczak ผู้เชี่ยวชาญสาขาสิ่งแวดล้อม จากประเทศออสเตรเลีย
สำหรับผลงานวิจัยปีนี้ ดร.สมพร กล่าวว่า มีหลายหัวข้อที่น่าสนใจ อาทิ การใช้เทคโนโลยีนิวเคลียร์อาบรังสีเพื่อการปรับปรุงของพอลีเมอร์ การใช้อาบนิวตรอนเพื่อวิเคราะห์ธาตุหลาย ๆ ธาตุในเวลาเดียวกัน การใช้ในการยืนยันความปลอดภัยของอาหารที่เรารับประทาน การตรวจวัดนิวตรอนเพื่อศึกษาผลของพายุสุริยะต่อสภาวะอวกาศของโลก ผลการวิจัยล่าสุดของอุบัติเหตุที่โรงไฟฟ้าฟูกูชิมะ ไดอิจิและสิ่งที่เราเรียนรู้ การตรวจวัดการอักเสบภายในร่างกายเนื่องมาจากมะเร็งปอดในระยะเริ่มต้น เป็นต้น
ผู้สนใจเสนอผลงานสามารถลงทะเบียนได้ที่ http://www.inst-th.com สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ 02-4018998 หรือที่ www.tint.or.th ส่วนผู้สนใจทั่วไปสามารถเข้าร่วมฟังได้ที่ห้องวิภาวดีบอลรูม เซนทารา แอท เซ็นทรัล ลาดพร้าว
*******************************
*******************************