xs
xsm
sm
md
lg

In Pics : ชาวญี่ปุ่นเรือนหมื่นแห่แหนร่วมพิธีรำลึกครบรอบ 69 ปี มะกันทิ้ง “ระเบิดปรมาณู” ถล่มฮิโรชิมา

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นายกรัฐมนตรี ชินโซ อาเบะ (ขวาสุด) เข้าร่วมพิธีรำลึกครบรอบ 69 ปีเมืองฮิโรชิมาถูกระเบิดปรมาณูถล่ม
เอเอฟพี - ประชาชนชาวญี่ปุ่นหลายหมื่นคนได้เดินทางไปเข้าร่วมพิธีสันติภาพ ณ เมืองฮิโรชิมาในวันนี้ (6 ก.ค.) เพื่อร่วมกันรำลึกวาระครบรอบ 69 ปีเหตุการณ์สหรัฐฯ ทิ้งระเบิดปรมาณูถล่มเมืองนี้ ในช่วงที่กระแสต่อต้านนิวเคลียร์กำลังทวีความร้อนแรงในแดนอาทิตย์อุทัย

เสียงระฆังดังดังเหง่งหง่างในยามที่ผู้รอดชีวิต ญาติพี่น้อง ตลอดจนเจ้าหน้าที่ของรัฐบาล และคณะผู้แทนจากต่างประเทศร่วมยืนสงบนิ่งกลางสายฝน ในเวลา 08.15 น.ตามเวลาท้องถิ่น (ตรงกับ 06.15 ในเมืองไทย) ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่ระเบิดอาณุภาพทำลายล้างมหาศาลได้เปลี่ยนเมืองทางภาคตะวันตกของญี่ปุ่นแห่งนี้ให้กลายเป็นขุมนรก

คาซูมิ มัตสึอิ นายกเทศมนตีเมืองฮิโรชิมา กล่าวเรียกร้องให้ประชาชนฟังเสียงของเหล่าผู้รอดชีวิต ขณะที่เขากล่าวสุนทรพจน์ในพิธี ซึ่งมีนายกรัฐมนตรีชินโซ อาเบะ และ แคโรไลน์ เคนเนดี เอกอัครราชทูตสหรัฐฯ ประจำญี่ปุ่นเดินทางมาเข้าร่วม

นายกเทศมนตรีบอกเล่า ความทรงจำของผู้รอดชีวิตคนหนึ่งซึ่งระบุว่า “สุ้มเสียงของคนใกล้ตายที่ร้องว่า ‘ขอน้ำหน่อย’ ยังคงก้องกังวานในโสตประสาทของเด็กนักเรียนมัธยมปลายวัย 15 ปีคนหนึ่ง”

เขากล่าวว่า “เป็นคำอ้อนวอนของนักเรียนอายุน้อยกว่า” จากนั้นเขาบรรยายภาพสยองขวัญที่ผู้รอดชีวิตคนนี้เห็นว่า “เนื้อตัวของ (รุ่นน้องที่มีสภาพจวนเจียนใกล้ตาย) ถูกไฟไหม้เกรียม ใบหน้าพุพองจนดูน่ากลัวประหวั่นพรั่นพรึง คิ้วและขนตาไหม้หลุดหมด ชุดนักเรียนขาดกะรุ่งกะริ่ง”

“นายกเทศมนตรีระบุว่า ผู้รอดชีวิตจำนวนมากรู้สึกผิดอย่างรุนแรงที่เอาตัวรอดมาจากเหตุโจมตีครั้งนั้นมาได้”

เมื่อวันที่ 6 สิงหาคม ปี 1945 เครื่องบินทิ้งระเบิด B-29 ของสหรัฐฯ ชื่อ “อีโนลาเกย์” ได้ทิ้งระเบิดปรมาณูใส่เมืองฮิโรชิหนึ่งลูก ซึ่งถือเป็นเหตุการณ์สำคัญในหน้าฉากสุดท้ายของสงครามโลกครั้งที่ 2 ที่ประหัตประหารชีวิตประชาชนไปราว 140,000 คน จนถึงเดือนธันวาคมของปีเดียวกัน

เมื่อวันที่ 9 สิงหาคม เมืองท่านางาซากิก็ถูกสหรัฐฯ ถล่มด้วยระเบิดนิวเคลียร์เช่นกัน ส่งผลให้มีประชาชนล้มตายไปราว 70,000 คน

ต่อมาเมื่อวันที่ 15 สิงหาคม ปี 1945 ญี่ปุ่นก็ยอมแพ้สงคราม เป็นผลให้สงครามปิดฉากลงในที่สุด

เหล่านักประวัติศาสตร์ต่างทุ่มเถียงกันว่า จริงหรือที่การทิ้งระเบิดปรมาณู 2 ครั้งซ้อนในอดีตช่วยเร่งให้สงครามสิ้นสุดลงเร็วขึ้น หลังจากมีผู้ชี้ว่าเป็นการบีบให้ญี่ปุ่นยอมแพ้ และป้องกันไม่ให้เกิดการบาดเจ็บล้มตายในพื้นที่อื่นที่กำลังจะถูกรุกราน

อย่างไรก็ตาม ขบวนการต่อต้านนิวเคลียร์ระดับแนวหน้า ในเมืองที่ถูกถล่มทั้งสองแห่งได้กล่าวประณามการทิ้งระเบิดปรมาณูว่าเป็น “ความชั่วร้ายอย่างแท้จริง”

เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว สื่อสหรัฐฯ รายงานว่า ธีโอดอร์ แวน เคิร์ก นักบินอีโนลาเกย์ คนสุดท้ายที่ยังมีชีวิตอยู่ ได้อำลาโลกไปด้วยวัย 93 ปี

รายงานข่าวระบุว่า จะมีการจัดพิธีศพให้ แวน เคิร์ก ที่เมืองนอร์ธัมเบอร์แลนด์ มลรัฐเพนซิลวาเนีย ในวันที่ 5 สิงหาคมนี้ ซึ่งเป็นวันครบรอบเหตุการณ์ทิ้งระเบิดปรมาณูถล่มเมืองฮิโรชิมา ในญี่ปุ่น

กระแสต่อต้านนิวเคลียร์กำลังลุกโชนในญี่ปุ่น ภายหลังเกิดแผ่นดินไหวครั้งใหญ่ จนจุดชนวนให้เกิดคลื่นยักษ์สึนามิตามมา ส่งผลให้มีผู้เสียชีวิตหรือสูญหายถึงราว 19,000 คน และสร้างความเสียหายให้แก่ระบบหล่อเย็นเตาปฏิกรณ์นิวเคลียร์ของโรงไฟฟ้าฟูกูชิมะ ไดอิจิ เมื่อปี 2011

แม้ว่าจะไม่มีผู้เสียชีวิตโดยตรงจากวิกฤตนิวเคลียร์ แต่การที่เตาปฏิกรณ์นิวเคลียร์หลอมละลายก็ทำให้กัมมันตภาพรังสีแผ่กระจายกินอาณาบริเวณกว้างใหญ่ไพศาล และบีบให้ประชาชนหลายพันคนต้องละทิ้งบ้านเรือนหนีภัยพิบัติปรมาณูครั้งเลวร้ายที่สุด นับตั้งแต่ วิกฤตโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ “เชอร์โนบิล” เมื่อปี 1986 เป็นต้นมา

แม้ว่าจะมีกระแสต่อต้านอย่างรุนแรงจากสาธารณชน แต่เมื่อเดือนที่แล้ว องค์การเฝ้าระวังนิวเคลียร์ของญี่ปุ่นออกมาแถลงว่า ตอนนี้เตาปฏิกรณ์นิวเคลียร์ 2 แห่งอยู่ในสภาพที่ปลอดภัยพร้อมกลับมาใช้งานใหม่ได้แล้ว

การตัดสินใจเปิดใช้งานเตาปฏิกรณ์นิวเคลียร์คราวนี้ นับเป็นย่างก้าวสำคัญไปสู่การเปิดโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ของญี่ปุ่นอีกครั้ง ภายหลังถูกปิดตัวไปเนิ่นนาน นับตั้งแต่เกิดภัยพิบัตินิวเคลียร์ฟูกูชิมะ ทั้งยังจุดชนวนให้เกิดการกล่าวหาว่า เจ้าหน้าที่ผู้มีอำนาจควบคุมกลายเป็นหุ่นเชิดของอุตสาหกรรมปรมาณูอันทรงอิทธิพลของญี่ปุ่น


เด็กนักเรียนชาวญี่ปุ่นนำนกกระเรียนที่ช่วยกันพับเพื่อรำลึกถึงเหยื่อผู้เสียชีวิตจากเหตุการณ์สหรัฐฯ ทิ้งระเบิดปรมาณูถล่มเมืองฮิโรชิมาไปวาง ณ อนุสรณ์สถาน

พระสงฆ์ชาวญี่ปุ่นสวดมนต์และอุทิศส่วนกุศลให้แก่ผู้เสียชีวิตจากระเบิดปรมาณูเมื่อปี 1945
หญิงสาวชาวเกาหลีใต้ที่แต่งกายด้วยชุดตามประเพณีร่วมกันขับขานบทเพลงหน้าอนุสรณ์สถาน เพื่อรำลึกถึงชาวเกาหลีใต้ที่เสียชีวิตในเหตุการณ์สหรัฐฯ ทิ้งระเบิดถล่มเมืองฮิโรชิมา ของญี่ปุ่นในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2

(แฟ้มภาพ) ธีโอดอร์ แวน เคิร์ก (ซ้ายสุด) ถ่ายภาพร่วมกับเหล่านักบินเครื่องบินทิ้งระเบิด B-29 “อีโนลาเกย์”  หลังจากดำเนินปฏิบัติการทิ้งระเบิดปรมาณูลูกแรกใส่เมืองฮิโรชิมา เมื่อวันที่ 6 สิงหาคม ปี 1945
กำลังโหลดความคิดเห็น