xs
xsm
sm
md
lg

ญี่ปุ่น “ไฟเขียว” เตรียมนำร่องเปิดใช้โรงไฟฟ้านิวเคลียร์เป็นครั้งแรก นับแต่เกิดอุบัติภัยนิวเคลียร์ฟูกูชิมะ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

โรงไฟฟ้านิวเคลียร์เซ็นได ในเมืองซัตสึมะเซ็นได จังหวัดคะโงะชิมะ บนเกาะคิวชู
รอยเตอร์ - โรงไฟฟ้านิวเคลียร์แห่งหนึ่งทางตอนใต้ของญี่ปุ่นได้ผ่านเกณฑ์ความปลอดภัยขั้นต้นแล้ววันนี้ (16 ก.ค.) และกำลังจะกลายเป็นโรงไฟฟ้านิวเคลียร์แห่งแรกที่กลับมาเดินหน้าผลิตกระแสไฟฟ้าอีกครั้ง ภายหลังอุตสาหกรรมพลังงานนิวเคลียร์ในแดนอาทิตย์อุทัยต้องหยุดชะงักจากพิบัติภัยฟูกูชิมะ เมื่อปี 2011

ขณะที่ชาวญี่ปุ่นต้องเผชิญกับฤดูร้อน ที่ไม่มีพลังงานไฟฟ้าจากนิวเคลียร์เป็นครั้งแรกในรอบ 4 ทศวรรษ นายกรัฐมนตรี ชินโซ อาเบะ กำลังผลักดันให้เปิดเตาปฏิกรณ์นิวเคลียร์ 48 เครื่องของประเทศอีกครั้ง เนื่องจากการปิดดำเนินการอย่างเนิ่นนานจะบีบให้แดนอาทิตย์อุทัยต้องพึ่งพาพลังงานเชื้อเพลิงนำเข้าที่มีราคาสูง

สำนักงานควบคุมนิวเคลียร์ญี่ปุ่น (เอ็นอาร์เอ) ได้อนุมัติให้โรงไฟฟ้าเซ็นได ของบริษัทคิวชูอิเล็กทริก ผ่านเกณฑ์ความปลอดภัยเบื้องต้น ด้วยการยอมรับรูปแบบปรับปรุง และลักษณะความปลอดภัยต่างๆ โดยมาตรการรักษาความปลอดภัยใหม่ที่จะนำมาใช้ มีดังเช่น การป้องกันความเสียหายจากภัยธรรมชาติอย่างแผ่นดินไหว และคลื่นยักษ์สึนามิ ตลอดจนอุบัติเหตุขั้นรุนแรงต่างๆ

เป็นที่คาดหมายกันว่า โรงไฟฟ้าแห่งนี้จะสามารถกลับมาผลิตกระแสไฟฟ้าได้อีกครั้งในช่วงฤดูใบไม้ร่วง คือในช่วงเดือนกันยายนถึงพฤศจิกายน

เตาปฏิกรณ์นิวเคลียร์ของญี่ปุ่นทยอยปิดไปทีละเครื่องสองเครื่อง โดยเครื่องสุดท้ายถูกระงับการใช้งานเมื่อปีที่แล้ว หลังเกิดแผ่นดินไหวครั้งรุนแรง และคลื่นยักษ์สึนามิซัดถล่มโรงไฟฟ้าฟูกูชิมะ ไดอิจิ เมื่อเดือนมีนาคม ปี 2011 จนจุดชนวนให้เกิดภัยพิบัตินิวเคลียร์ครั้งเลวร้ายที่สุด นับตั้งแต่โศกนาฏกรรมโรงไฟฟ้านิวเคลียร์เชอร์โนบิล เมื่อปี 1986

ภัยพิบัติฟูกูชิมะได้ทำลายความเชื่อถือที่สาธารณชนมีต่อพลังงานปรมาณู และเผยให้เห็นถึงความสัมพันธ์กันอันใกล้ชิดระหว่างอุตสาหกรรมพลังงานนิวเคลียร์ กับโรงไฟฟ้าในความดูแลของหน่วยงานรัฐบาล ที่มีหน้าที่ส่งเสริมแหล่งพลังงาน

เอ็นอาร์เอ ซึ่งเป็นหน่วยงานเฝ้าระวังอิสระที่ก่อตั้งเมื่อปี 2012 ได้ตรวจสอบคำขอเปิดเดินหน้าเปิดโรงไฟฟ้าอีกครั้งมานานกว่า 1 ปี

การอนุมัติให้โรงไฟฟ้าเซ็นไดสามารถกลับมาผลิตกระแสไฟฟ้าอีกครั้ง ได้บรรเทาความกังวลให้แก่บริษัทคิวชูอิเล็กทริก ซึ่งขาดทุนมานาน 3 ปี จนต้องขอเงินช่วยเหลือจากธนาคารที่รัฐสนับสนุน โดยกิจการแห่งนี้คาดการณ์ว่า จะต้องทุ่มงบกว่า 3 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ (ราว 9.7 หมื่นล้านบาท) เพื่อปรับปรุงโรงไฟฟ้า 2 แห่งของบริษัท ซึ่งตั้งอยู่ทางตอนใต้ของญี่ปุ่น

โทโมยะ อิชิมูระ ผู้อำนวยการอาร์เอ็นเอระบุว่า การตัดสินใจของอาร์เอ็นเอยังจะช่วยสนับสนุนอุตสาหกรรมนิวเคลียร์ที่กำลังขยายตัวมากขึ้น โดยจะช่วยให้ขั้นตอนการอนุมัติขอเปิดโรงไฟฟ้านิวเคลียร์แบบใช้น้ำความดันสูงอีก 5 แห่งเดินหน้าไปอย่างรวดเร็วขึ้น ในเวลานี้มีโรงไฟฟ้าของญี่ปุ่น 9 แห่งยื่นเรื่อง ขอเดินเครื่องเตาปฏิกรณ์นิวเคลียร์ 19 เครื่องอีกครั้ง

ทั้งนี้ การกลับมาเปิดโรงไฟฟ้าเซ็นไดอีกครั้งอีกครั้งจะเป็นการสนับสนุนความพยายามของอาเบะ

การสั่งยุติอุตสาหกรรมนิวเคลียร์ ซึ่งก่อนเกิดภัยพิบัติฟูกูชิมะ เคยผลิตกระแสไฟฟ้าเป็นสัดส่วนถึง 1 ใน 3 ของพลังงานไฟฟ้าทั้งหมดที่หล่อเลี้ยงญี่ปุ่น ทำให้ชาวบ้านและผู้กิจการห้างร้านต่างๆ ต้องแบกรับค่าไฟที่แพงขึ้น และมีส่วนทำให้แดนอาทิตย์อุทัยขาดดุลการค้ามากเป็นประวัติการณ์นานถึง 23 เดือน
บ้านพักชั่วคราวซึ่งสร้างขึ้นเพื่อรองรับชาวญี่ปุ่นที่ได้รับผลกระทบจากภัยพิบัติฟูกูชิมะ ในเขตคาวามาตะ จังหวัดฟูกูชิมะ ทั้งนี้แผ่นดินไหวที่เกิดขึ้นในจังหวัดนี้ ได้จุดชนวนให้เกิดคลื่นยักษ์สึนามิซัดถล่มโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ฟูกูชิมะ ไดอิจิ จนเกิดเป็นอุบัติภัยนิวเคลียร์ครั้งเลวร้าย ที่บีบให้ชาวบ้านในพื้นที่กว่า 150,000 คนต้องอพยพออกจากพื้นที่
กำลังโหลดความคิดเห็น