เอเอฟพี - นายกรัฐมนตรีชินโซ อาเบะ แห่งญี่ปุ่น แสดงความปรารถนาที่จะพบและหารือกับประธานาธิบดีสี จิ้นผิง ของจีน ระหว่างการประชุมสุดยอดผู้นำความร่วมมือทางเศรษฐกิจเอเชีย-แปซิฟิก (เอเปก) ซึ่งจะจัดขึ้นที่กรุงปักกิ่งในเดือนพฤศจิกายนนี้ ซึ่งนับเป็นคำขอเจรจาแบบตัวต่อตัวครั้งล่าสุดจากอาเบะ ท่ามกลางวิกฤตการทูตระหว่าง 2 มหาอำนาจเอเชีย
อาเบะ อ้างถึงความสัมพันธ์ด้านการค้าและธุรกิจระหว่างญี่ปุ่นกับจีนที่มีมูลค่ามหาศาล และ “แยกจากกันไม่ได้” แม้ทั้งสองชาติจะมีความขัดแย้งเกี่ยวกับกรรมสิทธิ์เหนือหมู่เกาะในทะเลจีนตะวันออก รวมถึงปมปัญหาทางประวัติศาสตร์ซึ่งเกิดจากการกระทำของกองทัพจักรวรรดิญี่ปุ่นในช่วงครึ่งแรกของศตวรรษที่ 20
“ผมอยากจะหารือระดับผู้นำ (กับประธานาธิบดีสี) ในช่วงที่มีการประชุมเอเปกที่กรุงปักกิ่ง” ผู้นำญี่ปุ่นเผย
“ผมยินดีที่จะเจรจาเสมอ และหวังว่าทางการจีนก็จะยึดถือจุดยืนเดียวกัน”
อาเบะ และ สี ซึ่งมีแนวคิดชาตินิยมจัดด้วยกันทั้งคู่ ยังไม่เคยเปิดประชุมซัมมิตทวิภาคีเลยแม้แต่ครั้งเดียว ตลอดระยะเวลากว่า 18 เดือนที่ทั้งสองก้าวสู่ตำแหน่งผู้นำประเทศ
อย่างไรก็ดี อาเบะเคยเป็นฝ่ายยื่นข้อเสนอพุดคุยกับสี จิ้นผิง และประธานาธิบดีพัค กึน-ฮเย แห่งเกาหลีใต้มาแล้วหลายครั้ง นับตั้งแต่ขึ้นดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีญี่ปุ่นเมื่อปลายปี 2012
ระหว่างเดินทางเยือนออสเตรเลียและนิวซีแลนด์เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว อาเบะก็ได้ย้ำความปรารถนาที่จะเจรจากับผู้นำจีน ซึ่งเลขาธิการคณะรัฐมนตรีญี่ปุ่น โยชิฮิเดะ สุกะ ก็ออกมาแถลงตรงกัน
ปมปัญหาทั้งเรื่องดินแดนและประวัติศาสตร์ทำให้ความสัมพันธ์ญี่ปุ่นกับจีนเสื่อมถอยลงทุกขณะ โดยทางการจีนได้ส่งเรือรุกล้ำเข้าไปใกล้หมู่เกาะเซ็งกากุหรือ “เตี้ยวอี๋ว์” เพื่อท้าทายอำนาจโตเกียวอยู่เนืองๆ จนบางครั้งญี่ปุ่นถึงกับส่งเครื่องบินขับไล่ออกไปป้องปราม
จีนยังเดือดดาลไม่น้อยที่รัฐบาลญี่ปุ่นประกาศตีความรัฐธรรมนูญฉบับสันติภาพที่ใช้มาตั้งแต่ยุคหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 เสียใหม่ เพื่อเปิดทางสู่การขยายบทบาททางทหาร
จากบทสัมภาษณ์ที่เผยแพร่ลงหนังสือพิมพ์ ไมนิจิ ชิมบุน วานนี้ (13) อาเบะ ไม่ได้ระบุชัดว่า เขาจะเดินทางไปสักการะศาลวีรชนสงครามยาสุกุนิในวันที่ 15 สิงหาคม ซึ่งเป็นวันครบรอบ 69 ปีที่ญี่ปุ่นแพ้สงครามโลกครั้งที่ 2 หรือไม่
บรรดานักการเมืองหัวอนุรักษ์ในญี่ปุ่นตบเท้าไปสักการะดวงวิญญาณทหารที่เสียชีวิตในสงคราม ณ ศาลเจ้าแห่งนี้เป็นประจำทุกปี เรียกเสียงตำหนิอย่างรุนแรงจากปักกิ่งและโซลที่มองว่าการกระทำดังกล่าวสะท้อนให้เห็นว่าญี่ปุ่นไม่เคยสำนึกผิดอย่างจริงจัง
ศาลเจ้ายาสุกุนิในกรุงโตเกียวยังเป็นสถานที่เก็บป้ายวิญญาณอดีตนักการเมืองและนายพลญี่ปุ่น 14 คนที่ถูกศาลฝ่ายสัมพันธมิตรตราหน้าเป็นอาชญากรสงคราม