xs
xsm
sm
md
lg

เตรียมหลักสูตร “วิศวกรรมอวกาศ” นักเรียนทหารอากาศรับมือวัตถุพุ่งชนโลก

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


เหตุอุกกาบาตตกในรัสเซียเมื่อเดือน ก.พ.ที่ผ่านมา กลายเป็นภัยจากฟากฟ้าที่น่าหวาดผวาสำหรับคนทั่วไปอยู่มาก เนื่องจากเป็นปรากฏการณ์ที่หลายคนไม่คาดฝันมาก่อน และยังทำให้มีคนบาดเจ็บจำนวนหนึ่ง แต่น้อยคนจะทราบว่า นอกจากอุกกาบาตแล้ว รอบๆ โลกใบนี้ยังมีขยะอวกาศอยู่อีกเท่าไรและเป็นอันตรายหรือไม่

ในเรื่องนี้ น.อ.ฐากูร เกิดแก้ว ครูใหญ่แห่งหอดูดาวเกิดแก้ว อ.บ่อพลอย จ.กาญจนบุรี และผู้อำนวยการศูนย์การเรียนรู้วิทยาศาสตร์โลกและดาราศาสตร์ กล่าวว่า แท้จริงแล้วในอวกาศนั้นมีเศษดาวเทียมและขยะอวกาศอยู่มาก ซึ่งสิ่งเหล่านี้ล้วนเกิดจากฝีมือมนุษย์ทั้งสิ้น เช่น ซากจรวด ซากดาวเทียม เศษเชื้อเพลิง เป็นต้น และในจำนวนมากนั้นกำลังล้อมรอบโลกของเราอยู่

ทว่าเครื่องมือการตรวจจับอุกกาบาตและขยะอวกาศ ยังมีอยู่น้อย รวมถึงนักดาราศาสตร์นั้นยังมีไม่มาก ทำให้การตรวจจับนั้นเป็นไปค่อนข้างช้า แต่ปรากฏการณ์อุกกาบาตอย่างที่รัสเซียนั้น สามารถเกิดขึ้นได้ทั่วโลก ซึ่ง น.อ.ฐากูร ได้ชี้ถึงปัญหาการศึกษาในประเทศไทยว่า ตั้งแต่ระดับประถมศึกษาจนถึงระดับอุดมศึกษานั้น ยังไม่มีสถานศึกษาใดที่ให้ความสำคัญในเรื่องของดาราศาสตร์เท่าที่ควร โดยมีเพียงการแทรกความรู้ดาราศาสตร์ในวิชาวิทยาศาสตร์เท่านั้น

“ผู้เชี่ยวชาญด้านดาราศาสตร์ในไทยยังมีอยู่น้อย ทั้งที่จริงแล้วการติดตามเฝ้าระวังดาวเทียมและวัตถุอวกาศเป็นเรื่องสำคัญ” น.อ.ฐากูร บอกแก่ทีมข่าววิทยาศาสตร์ ASTV-ผู้จัดการออนไลน์ และบอกอีกว่าตัวเขานั้นเห็นความสำคัญของการเพิ่มเติมความรู้ในเรื่องดาราศาสตร์ให้กับนักวิทยาศาสตร์และนักดาราศาสตร์รุ่นใหม่ ซึ่งเทคโนโลยีอวกาศก็มีบทบาทในด้านการทหารอยู่มาก จึงเป็นเหตุผลที่ดีในการเริ่มให้ความรู้ในเรื่องของดาราศาสตร์กับเหล่านักเรียนทหาร และหวังที่จะต่อยอดไปยังนิสิตนักศึกษาและเยาวชนคนอื่นๆ

ในอนาคตโรงเรียนนายเรืออากาศเตรียมเปิด หลักสูตรวิศวกรรมอวกาศ (Aerospace Engineering) ให้แก่นักเรียนนายเรืออากาศ ซึ่งในปีนี้ได้เริ่มต้นฝึกนักเรียนดูดาวด้วยตาเปล่า ฝึกใช้กล้องโทรทรรศน์ ฝึกใช้ซอฟท์แวร์ด้านดาราศาสตร์ และกิจกรรมอื่นๆ ทางด้านดาราศาสตร์ เพื่อเป็นกิจกรรมยามว่างของเหล่านักเรียน โดยมีเป้าหมายเป็นการเพิ่มประสบการณ์ให้กับบุคลากรด้านอวกาศของกองทัพ

ทั้งนี้ ภายในหลักสูตรได้ฝึกให้ผู้เรียนใช้กล้องปืนใหญ่ รวมถึงกล้องโทรทรรศน์ประเภทต่างๆ จากหอดูดาวเกิดแก้ว ในการใช้เป็นเครื่องมือในการศึกษาดาราศาสตร์ โดยกองทัพอากาศได้ร่วมมือกับกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารให้โรงเรียนนายเรืออากาศพัฒนาชุดต้นแบบระบบติดตามเฝ้าระวังดาวเทียมและวัตถุอวกาศ และให้นักเรียนนายเรืออากาศทดลองใช้งานก่อน จนกว่าจะสามารถควบคุมผ่านอินเทอร์เน็ตได้ ก่อนย้ายไปใช้งานจริงที่สถานีเรดาร์บนดอยอินทนนท์ เพื่อเป็นเครื่องยิงแสงเลเซอร์สำหรับตรวจจับระยะทาง ความเร็ว และขนาดของวัตถุต้องสงสัย และน่าจะตรวจจับได้ดีกว่าเรดาร์ที่ใช้อยู่ทุกวันนี้

จากนี้ ทางหลักสูตรยังได้ร่วมมือกับโครงการเยาวชนผู้นำแห่งนาริท (NARIT Youth Leaders: NYL) ของสถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (สดร.) เพื่อนำนักเรียนนายเรืออากาศที่เรียนหลักสูตรวิศวกรรมอากาศยานเข้าร่วมกิจกรรมดาราศาสตร์ และจะจัดค่ายดาราศาสตร์เพื่อศึกษาดาวหางไอซอน (ISON) ที่จะโคจรเข้ามาใกล้โลกในปลายปี 2556 นี้

สำหรับโครงการเยาวชนผู้นำแห่งนาริทนั้น เป็นโครงการคัดเลือกเยาวชน 8 คน เพื่ออบรมให้มีความพร้อมในการสื่อสารวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีที่เกี่ยวข้องกับดาราศาสตร์ และการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ โดยเพิ่งดำเนินโครงการครั้งที่ 1 และอยู่ระหว่างการคัดเลือกผู้คุณสมบัติตามต้องการ และในจำนวนนั้นมี 1 คนที่จะได้รับคัดเลือกให้เป็น “ยุวทูตดาราศาสตร์แห่งประเทศไทย” (Thai Young Astronomy Ambassador: TYAA) รุ่นที่ 3 ด้วย










กำลังโหลดความคิดเห็น