xs
xsm
sm
md
lg

ไม่หยุดติดตามจนกว่า “ดาวหางแพนสตาร์ส” จะหายไปจากฟ้า

เผยแพร่:   โดย: ศุภฤกษ์ คฤหานนท์

 ภาพถ่ายดาวหางแพนสตาร์ส (C/2011 L4 PANSTARRS) ในวันที่ 10 มีนาคม 2556 เวลา 19.17 น. บริเวณพระมหาธาตุนภเมทนีดล ดอยอินทนนท์ ซึ่งถือเป็นวันที่ถ่ายภาพได้ชัดเจนมากที่สุด (ภาพโดย : ศุภฤกษ์ คฤหานนท์ : Canon EOS 5D Markll / Takahashi TOA150 1100 มม. / F7.3 / ISO 1000 / 4 วินาที)
ในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมาผมอยู่กับภารกิจตามล่าดาวหางแพนสตาร์สตลอด ผมรวมทั้งทีมเจ้าหน้าที่สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติได้เริ่มติดตามดาวหางดวงนี้ มาตั้งแต่วันที่ 6 มีนาคม เนื่องจากเป็นวันที่ท้องฟ้าในจังหวัดเชียงใหม่เริ่มใสหรือ “เคลียร์" ผมและทีมตามล่าดาวหางจึงเริ่มติดตามดาวหางดวงนี้

หากแต่ความสว่างของดาวหางก็ไม่เป็นไปตามที่คาดการณ์ไว้ก่อนหน้านี้ โดยอุปสรรคของการสังเกตดาวหางในประเทศไทยของเรานั้น คือ ตำแหน่งของดาวหางจะปรากฏให้เห็นได้ในช่วงแสงสนธยา (Twilight) เรียกได้ว่า ดาวหางมาพร้อมกับแสงสนธยา หนำซ้ำยังอยู่ใกล้ขอบฟ้าค่อนข้างมาก รวมทั้งปัญหา “ฟ้าหลัว” ในช่วงตอนเย็น ทำให้ในประเทศไทยมีเวลาสังเกตดาวหางเพียง 30 นาทีเท่านั้น ซึ่งเป็นอุปสรรคในการสังเกตการณ์มากที่สุด

ผิดกับต่างประเทศ เช่น ประเทศออสเตรเลีย ที่ตำแหน่งดาวหางอยู่สูงจากขอบฟ้าค่อนข้างมาก ทำให้สามารถสังเกตเห็นดาวหางในช่วงหลังดวงอาทิตย์ตกได้นานกว่าและมีแสงดวงอาทิตย์รบกวนน้อยกว่า และแน่นอนหลายท่านคงพลาดโอกาสสังเกตเห็นดาวหางดวงนี้

เริ่มภารกิจตามล่าดาวหาง
ในวันที่ 6 มีนาคม ผมและทีมเจ้าหน้าที่ไม่สามารถสังเกตเห็นดาวหางได้ เนื่องจากตำแหน่งดาวหางที่สังเกตจากจุดชมวิวดอยปุย จังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งอยู่สูงจากระดับน้ำทะเลปานกลางเกือบ 2,000 เมตร แต่ดาวหางนั้นก็อยู่ใกล้ขอบฟ้ามาก ในการเริ่มสังเกตครั้งนี้ผมใช้เทคนิคการถ่ายภาพท้องฟ้าทางทิศตะวันตกด้วยเลนส์มุมกว้าง เพื่อสุ่มดูจากภาพถ่ายหลังกล้องในการค้นหาดาวหาง เนื่องจากกล้องถ่ายภาพสามารถสะสมแสงได้ดีกว่าตาของเรา และหลังดวงอาทิตย์ตกลับขอบฟ้าไปแล้ว ผมจึงเริ่มใช้กล้องกล้องสองตา ส่องกวาดดูทั่วท้องฟ้าทิศตะวันตก แต่ก็ไม่สามารถสังเกตเห็นได้
จุดสังเกตการณ์ดาวหาง บริเวณจุดชมวิวดอยปุยที่สามารถสังเกตเห็นขอบฟ้าทางทิศตะวันตกได้อย่างชัดเจน โดยเริ่มถ่ายภาพเพื่อสุ่มหาดาวหางตั้งแต่ช่วงแสงสนธยา
สังเกตเห็นครั้งแรก ถ่ายภาพได้คนแรก
ภาพถ่ายดาวหางแพนสตาร์ส ภาพแรกของประเทศ ในวันที่ 9 มีนาคม 2556) ในวันที่ 9 มีนาคม 2556 เวลา 19.10 น. ณ จุดชมวิวดอยปุย จังหวัดเชียงใหม่ (ภาพโดย : รณภพ  ตันวุฒิบันฑิต : Nikon D7000 / 105 มม. / F5.6 / ISO 1000 / 3 วินาที)
หลังจากวันที่ 6 มีนาคม ที่ภารกิจล้มเหลว ผมและทีมเจ้าหน้าที่วางแผนการติดตามดาวหางดวงนี้อีกครั้ง โดยศึกษาตำแหน่งอย่างละเอียด รวมทั้งใช้อุปกรณ์กล้องโทรทรรศน์ เพื่อค้นหาตำแหน่งของดาวหาง ซึ่งในวันที่ 9 มีนาคม พวกเราก็กลับขึ้นไปถ่ายดาวหางที่จุดชมวิวดอยปุยอีกครั้ง ครั้งนี้ ดร.ศรัณย์ โปษยะจินดา นำทีมสังเกตการณ์เองและก็ไม่พลาดครับ นักล่าดาวหางมานำทีมเอง ไม่พลาดจริงๆ ครับ “วันนี้เราเจอดาวหางกันแล้ว”

ดร.ศรัณย์ เริ่มสังเกตการณ์ด้วยตาเปล่าตั้งแต่เวลา 6.30 น.ด้วยเทคนิคการวัดระยะเชิงมุมบนท้องฟ้า เพื่อหาระยะห่างของดาวหางกับดวงอาทิตย์ รวมทั้งการสังเกตการณ์ด้วยการใช้ตาเหลือบมอง และขณะที่ผมกำลังตั้งกล้องโทรทรรศน์อยู่นั่นเอง ดร.ศรัณย์ ก็บอกกับทีมเจ้าหน้าที่ว่า “เจอแล้ว!” ซึ่งตอนนั้นสามารถมองเห็นด้วยตาเปล่า เป็นเพียงจุดสว่างเล็กๆ เท่านั้น

ผมตื่นเต้นและรีบหันหน้ากล้องไปยังตำแหน่งที่ ดร.ศรัณย์ บอก โดยหลังจากที่สังเกตเห็นด้วยตาเปล่า เราจึงใช้กล้องสองตาในการสังเกตดาวหางเห็นเป็นดาวสว่างมีหางฟุ้งออกอย่างชัดเจน และหลังจากนั้นไม่กี่นาที คุณรณภพ ตันวุฒิบันฑิต หนึ่งในทีมเจ้าหน้าที่ ก็สามารถถ่ายภาพดาวหางไว้ได้เป็นภาพแรกของประเทศไทยเลยก็ว่าได้ ส่วนผมเองก็ได้ถ่ายภาพดาวหางผ่านกล้องโทรทรรศน์มุมกว้างไว้ด้วยเช่นกัน รวมทั้งนักท่องเที่ยวและทีมเจ้าหน้าที่ ที่มาร่วมสังเกตการณ์ต่างก็สามารถถ่ายภาพดาวหางดวงนี้ไว้ได้อย่างสวยงาม
ภาพถ่ายดาวหางแพนสตาร์ส ในวันที่ 9 มีนาคม 2556 เวลา 19.03 น. ณ จุดชมวิวดอยปุย จังหวัดเชียงใหม่ (ภาพโดย : ศุภฤกษ์  คฤหานนท์ : Canon EOS 5D Markll / Takahashi FSQ106  530 มม. / F5 / ISO 400 / 1.6 วินาที)
ภาพถ่ายดาวหางแพนสตาร์ส ในวันที่ 9 มีนาคม 2556 เวลา 19.03 – 19.21 น. ณ จุดชมวิวดอยปุย จังหวัดเชียงใหม่ (ภาพโดย : ศุภฤกษ์  คฤหานนท์ : Canon EOS 5D Markll / Takahashi FSQ106  530 มม. / F5 / ISO 400 / 1.6 วินาที)
ไม่หยุดติดตามจนกว่าดาวหางจะหายไปจากฟ้า
หลังจากที่พวกเราบันทึกภาพดาวหางไว้ได้เป็นภาพแรกๆ ของประเทศไทยแล้ว ทีมตามล่าดาวหางของเราก็ยังไม่หยุดติดตาม ในวันที่ 10 มีนาคม ซึ่งเป็นวันที่ดาวหางจะผ่านจุดใกล้ดวงอาทิตย์มีสุกสว่างมากที่สุด ผมและทีมเจ้าหน้าที่เดินทางขึ้นไปถ่ายภาพดาวหาง บริเวณพระมหาธาตุนภเมทนีดล ดอยอินทนนท์ โดยเป็นตำแหน่งที่สามารถสังเกตเห็นทิศตะวันตกได้เป็นมุมก้ม ทั้งยังอยู่สูงจากระดับน้ำทะเลปานกลางถึง 2,000 กว่าเมตร

ในครั้งนี้เทคนิคที่ผมใช้ในการหาตำแหน่งของดาวหาง คือ การตั้งกล้องโทรทรรศน์ โดยใช้ขาตั้งกล้องแบบ Equatorial เพื่อใช้เทคนิคการตั้งกล้องแบบ Setting Circle ซึ่งเป็นเทคนิคที่ใช้ในการค้นหาสิ่งที่ไม่สามารถเห็นได้ด้วยตาเปล่า โดยทำการตั้งค่าไรต์แอสเซนชัน (R.A) และค่าเดคลิเนชัน (Dec) ให้ตรงกับตำแหน่งดาวหาง แล้วรอเวลาให้ดวงอาทิตย์ตกลับขอบฟ้าไป 30 นาที ดาวหางก็เริ่มปรากฏในช่องมองภาพ ผมสังเกตเห็นหางฝุ่นของดาวหางได้อย่างชัดเจน และวันนี้ถือเป็นวันที่ผมสามารถถ่ายภาพดาวหางได้อย่างชัดเจนมากที่สุด
ภาพถ่ายดาวหางแพนสตาร์ส ในวันที่ 10 มีนาคม 2556 เวลา 19.23 น. บริเวณพระมหาธาตุนภเมทนีดล ดอยอินทนนท์ ซึ่งถือเป็นวันที่ถ่ายภาพได้ชัดเจนมากที่สุด (ภาพโดย : ศุภฤกษ์  คฤหานนท์ : Canon EOS 5D Markll / Takahashi TOA150 1100 มม. / F7.3 / ISO 1000 / 10 วินาที)
 ภาพถ่ายดาวหางแพนสตาร์ส ในวันที่ 12 มีนาคม 2556 เวลา 18.59 น. ดาดฟ้าสถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ อ.เมือง จ.เชียงใหม่ ซึ่งถือเป็นวันที่สังเกตเห็นดาวหางได้ในตัวเมือง (ภาพโดย : ศุภฤกษ์ คฤหานนท์ : Canon EOS 5D Markll / Takahashi FSQ106 530 มม. / F5 / ISO 800 / 1/4 วินาที)
ในวันที่ 13 มีนาคม ซึ่งเป็นวันที่ตำแหน่งดาวหางกับดวงจันทร์ ข้างขึ้น 1 จะปรากฏอยู่ใกล้กันที่ระยะห่าง 5 องศา และน่าจะเป็นภาพที่สวยมากๆ ผมและทีมเจ้าหน้าที่ก็วางแผนจะติดตามเป็นวันสุดท้ายของการติดตามดาวหางดวงนี้ พวกเราขนอุปกรณ์ชุดใหญ่เพื่อเก็บภาพช่วงสุดท้ายของดาวหาง ก่อนที่เราจะไม่สามารถสังเกตเห็นมันได้อีกแล้วในช่วงชีวิตเรา แต่ทุกอย่างกลับไม่เป็นไปอย่างที่คิดไว้ ท้องฟ้าในวันนั้น เต็มไปด้วยเมฆเต็มฟ้า รวมทั้งฟ้าหลัวที่ขึ้นอยู่มาถึงขอบฟ้าของจุดสูงสุดยอดดอยอินทนนท์ เราจึงพลาดโอกาศอย่างน่าเสียดาย

หากแต่ภารกิจตามล่าดาวหางดวงนี้ก็ถือเป็นประสบการณ์ที่คุ้มค่า เพราะมันสอนให้เราได้เรียนรู้ว่า ครั้งต่อไป สำหรับการถ่ายภาพดาวหางไอซอน - C/2012 S1 (ISON) ในช่วงต้นเดือนพฤศจิกายน 2556 ถึงต้นเดือนมกราคม 2557 นี้เราควรวางแผนอย่างไรและควรใช้เทคนิคอะไรบ้าง ซึ่งพอจะสรุปได้คร่าวๆ ดังนี้ครับ
ภาพถ่ายดาวหางแพนสตาร์ส ในวันที่ 13 มีนาคม 2556 เวลา 19.14 น. บริเวณยอดดดอยอินทนนท์ ซึ่งตำแหน่งดาวหางกับดวงจันทร์ ข้างขึ้น 1 จะปรากฏอยู่ใกล้กันที่ระยะห่าง 5 องศา (ภาพโดย : ศุภฤกษ์  คฤหานนท์ : Canon EOS 5D Markll / Canon EF 300 มม. / F4 / ISO 2500 / 0.6 วินาที)
เทคนิคและวิธีการที่ได้จากภารกิจตามล่าดาวหางแพนสตาร์ส
1. วางแผนศึกษาตำแหน่ง ช่วงเวลา ของการสังเกตดาวหางอย่างละเอียด โดยควรทราบค่าไรต์แอสเซนชัน (R.A) และค่าเดคลิเนชัน (Dec) ซึ่งสามารถอัพเดทได้จากซอฟแวร์สำหรับการดูดาว เช่น Stellarium ไว้ล่วงหน้า

2. เริ่มต้นสังเกตดาวหางด้วยเทคนิคการวัดระยะเชิงมุมบนท้องฟ้า เพื่อหาระยะห่างของดาวหางกับตำแหน่งอ้างอิง ซึ่งอาจเป็นดวงอาทิตย์ หรือดาวสว่างก็ได้ รวมทั้งการสังเกตการณ์ด้วยการใช้ตาเหลือบมอง รวมทั้งใช้กล้องกล้องสองตาส่องกวาดดูทั่วท้องฟ้า

3. ถ่ายภาพด้วยเลนส์มุมกว้างเพื่อสุ่มดูดาวหางจากหลังกล้องถ่ายภาพ เมื่อทราบทิศทางและตำแหน่งของดาวหางแล้วให้ลองถ่ายภาพด้วยกล้องดิจิตอลดูก่อน เพราะกล้องสามารถรวมแสงได้ดีกว่าตาของเรา

4. ไวท์บาลานซ์ (WB) ที่ใช้ในการถ่ายภาพเพื่อค้นหาดาวหางนั้น ผมอยากแนะนำว่าลองใช้ค่า WB ที่อุณหภูมิสีประมาณ 8,000-10,000 เคลวิน เพราะดาวหางเป็นแสงสีขาวๆ หากเราถ่ายที่ค่า WB สูงๆ จะทำให้กล้องเราไวต่อแสงสีขาวได้ดีขึ้น จะทำให้เห็นภาพดาวหางได้ง่ายขึ้น เมื่อทราบตำแหน่งแล้วจึงปรับกลับเป็นค่าเดิม

5. ใช้เทคนิคการตั้งกล้องแบบ Setting Circle ในการค้นหาสิ่งที่ไม่สามารถเห็นได้ด้วยตาเปล่า โดยทำการตั้งค่าไรต์แอสเซนชัน (R.A) และค่าเดคลิเนชัน (Dec) ให้ตรงกับตำแหน่งดาวหาง ด้วยวิธีนี้จะทำให้เราไม่พลาดการถ่ายภาพดาวหาง เว้นเสียแต่มันจะสว่างน้อยมากจนมองไม่เห็น
การสังเกตดาวหางด้วยเทคนิคการวัดระยะเชิงมุมบนท้องฟ้า เพื่อหาระยะห่างของดาวหางกับตำแหน่งอ้างอิง ซึ่งอาจเป็นดวงอาทิตย์ หรือดาวสว่างก็ได้ รวมทั้งใช้กล้องกล้องสองตาส่องกวาดดูทั่วท้องฟ้า
ทั้งหมดนี้ก็อาจเป็นการเล่าถึงประสบการณ์และแนะนำเทคนิคการตามล่าดาวหาง ในแบบฉบับของผมเอง ซึ่งผมก็เป็นแค่นักดาราศาสตร์สมัครเล่นหน้าใหม่ๆ ของวงการเท่านั้น ทั้งนี้อาจมีเทคนิคที่ดีกว่านี้ซึ่ง หากทราบวิธีการใหม่ผมก็จะนำมาบอกกล่าวในคอลัมน์ต่อๆ ไปครับ



บรรยากาศการตามล่าดาวหาง

panstarrs10_03_2013 from Thai Astrophotographer on Vimeo.







เกี่ยวกับผู้เขียน

ศุภฤกษ์ คฤหานนท์

สำเร็จการศึกษาครุศาสตรบัณฑิต สาขาฟิสิกส์ จากมหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่ และครุศาสตรมหาบัณฑิต สาขาเทคโนโลยีและการสื่อสาร จากมหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่

ปัจจุบันเป็นเจ้าหน้าที่สารสนเทศทางดาราศาสตร์ สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ สดร., เคยทำวิจัยเรื่อง การทดสอบค่าทัศนวิสัยท้องฟ้าบริเวณสถานที่ก่อสร้างหอดูดาวแห่งชาติ มีประสบการณ์ในฐานะวิทยากรอบรมการดูดาวเบื้องต้น และเป็นวิทยากรสอนการถ่ายภาพดาราศาสตร์ในโครงการประกวดภาพถ่ายดาราศาสตร์ ประจำปี 2554 ของ สดร.ในหัวข้อ “มหัศจรรย์ภาพถ่ายดาราศาสตร์ในเมืองไทย”

“คุณค่าของภาพถ่ายนั้นไม่เพียงแต่ให้ความงามด้านศิลปะ แต่ทุกภาพยังสามารถอธิบายด้วยหลักการทางวิทยาศาสตร์ได้อีกด้วย”

อ่านบทความ ศุภฤกษ์ คฤหานนท์ ทุกวันจันทร์ที่ 1 และ 3 ของเดือน







กำลังโหลดความคิดเห็น