ด้วยสเปกของดาวเทียมสำรวจทรัพยากรดวงแรกของไทยเป็นเหตุบังคับให้ “ไทยโชต” ดาวเทียมของเราต้องโคจรอยู่ในตำแหน่งที่เผชิญขยะอวกาศมากมายอย่างช่วยไม่ได้ และต้องปรับวงโคจรหลบหลีกขยะอวกาศมาแล้ว 3 ครั้ง โดยการแจ้งเตือนของหน่วยงานในสหรัฐฯ
ดร.อานนท์ สนิทวงศ์ ณ อยุธยา ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) หรือ สทอภ.เปิดเผยแก่ทีมข่าววิทยาศาสตร์ ASTV-ผู้จัดการออนไลน์ ระหว่างการเยือนสถานีควบคุมและรับสัญญาณดาวเทียมไทยโชต (Thaichote) ว่า ไทยโชตซึ่งเป็นดาวเทียมสำรวจทรัพยากรดวงแรกของไทยนั้น อยู่ในวงโคจรที่ระดับความสูง 822 กิโลเมตร ซึ่งในระดับวงโคจร 600-800 กิโลเมตรนั้น เป็นระดับที่มีขยะอวกาศเยอะที่สุด ทำให้ดาวเทียมในวงโคจรนี้ต้องปรับวงโคจรปีละ 3-5 ครั้ง
สำหรับดาวเทียมไทยโชต ซึ่งถูกส่งขึ้นวงโคจรเมื่อปี 2551 นั้นต้องปรับวงโคจร เนื่องจากจะชนกับขยะอวกาศมาแล้ว 3 ครั้ง ซึ่งด้วยคุณสมบัติเฉพาะของดาวเทียมทำให้ไทยโชตต้องอยู่ในวงโคจรที่เสี่ยงชนขยะอวกาศ ขณะที่ดาวเทียมบางดวงอาจไม่ต้องปรับวงโคจรเลยเพราะอยู่วงโคจรที่ไม่ต้องเผชิญกับขยะอวกาศ
ผอ.สทอภ.กล่าวว่า หน่วยงานของสหรัฐฯ ซึ่งมีหน้าที่ในการตรวจตราการโคจรของดาวเทียมและขยะอวกาศจะเป็นผู้แจ้งเตือนประเทศต่างๆ ที่เป็นเจ้าของดาวเทียมว่ามีโอกาสที่จะถูกขยะอวกาศพุ่งชนและให้ปรับวงโคจรเพื่อหลบหลีก โดยหน่วยงานดังกล่าวมีฐานข้อมูลเกี่ยวกับชื่อ วงโคจร ขนาด ของดาวเทียมและขยะอวกาศทุกชิ้น และมีโปรแกรมคำนวณว่าวัตถุชิ้นใดมีโอกาสชนกัน ซึ่งสามารถคำนวณได้ล่วงหน้า รวมทั้งมีการส่งสัญญาณเรดาห์เพื่อตรวจสอบเป็นระยะๆ
“ปัจจุบันมีดาวเทียมที่ใช้งานอยู่ 500 ดวง และที่ยุติการใช้งานแล้วประมาณ 1,000 ดวง รวมถึงชิ้นส่วนขนาดกำปั้นอีกกว่า 300,000 ชิ้น ซึ่งทุกชิ้นมีชื่อทั้งหมด และเมื่อมีขยะอวกาศขนาดตั้งแต่กำปั้นขึ้นไปเข้าใกล้ดาวเทียมในระยะ 15-20 เมตร เขาก็จะแจ้งเตือนมา เมื่อเรารู้ก็ต้องใช้เวลาในการวางแผนปรับวงโคจร” ดร.อานนท์ กล่าว และบอกว่า ดาวเทียมโคจรรอบโลกได้โดยอาศัยแรงเหวี่ยงในตอนส่ง ส่วนเชื้อเพลิงที่มีอยู่มีไว้สำหรับปรับวงโคจร ซึ่งปัจจุบันไทยโชตเหลือเชื้อเพลิงอยู่ 50 กิโลกรัม ส่วนพลังงานสำหรับถ่ายภาพนั้นใช้พลังงานจากเซลล์แสงอาทิตย์
ดาวเทียมไทยโชตถูกส่งขึ้นสู่วงโคจรเมื่อ 1 ต.ค.51 โดยจรวดนำส่งเนปเปอร์ (Dnepr) ของบริษัท ไอเอสซีคอสโมทราส (Kosmotras) ของรัสเซีย จากฐานส่งจรวดเมืองยาสนี (Yasni) ของรัสเซีย เดิมใช้ชื่อดาวเทียมว่าธีออส (THEOS) และเมื่อ 10 ธ.ค.54 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานชื่อดาวเทียมใหม่ว่า “ไทยโชต”