ไทยอาจไม่มีศูนย์อวกาศใหญ่โตที่มีฐานปล่อยจรวด แต่ศูนย์รับสัญญาณดาวเทียมของเรากำลังขยายบทบาทสู่การเป็น “อุทยานวิทยาศาสตร์” ด้านอวกาศ กลายเป็น “ศูนย์รังสรรค์นวัตกรรมอวกาศ” ซึ่งจะส่งเสริมให้มีการเข้าไปสร้างธุรกิจเทคโนโลยีอวกาศ
“อุทยานรังสรรค์นวัตกรรมอวกาศ” เปิดตัวขึ้น ณ สถานีควบคุมดาวเทียมไทยโชต อ.ศรีราชา จ.ชลบุรี โดยเป็นโครงการที่จุดประสงค์เพื่อสนับสนุนและส่งเสริมการต่อยอดงานวิจัยและพัฒนานวัตกรรมด้านเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ โดยมีพื้นที่ให้หน่วยงานเอกชนได้เข้าไปทำวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ รวมถึงบริการเพื่อสนับสนุนการวิจัยให้เกิดผลเชิงพาณิชย์ และมีความสามารถในการแข่งขันทางธุรกิจ
รศ.ดร.อานนท์ สนิทวงศ์ ณ อยุธยา ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (สทอภ.) กล่าวว่า เดิมที่ตั้งของศูนย์รังสรรค์นวัตกรรมอวกาศนั้นเป็นเพียงศูนย์ควบคุมดาวเทียมไทยโชต (ThaiChote) ดาวเทียมสำรวจทรัพยากรดวงเดียวไทย และเป็นสถานีรับสัญญาณดาวเทียม โดยปัจจุบันได้ผลิตข้อมูลมาตรฐานหรือข้อมูลที่ยังไม่ได้แปรผลส่งเข้ากรุงเทพฯ เพื่อให้บริการแก่หน่วยงานภาครัฐเท่านั้น แต่อยากผนวกภาคเอกชนให้เข้ามาร่วมด้วยจึงได้เปิดเป็นอุทยานรังสรรค์นวัตกรรมอวกาศขึ้น
ทั้งนี้ สทอภ.เพิ่งเปิดตัวอุทยานอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 28 พ.ย.55 และมีบริษัทเอกชน 6 รายที่แสดงความจำนงเข้าใช้พื้นที่แล้ว โดยเป็นบริษัทสัญชาติสวีเดน ฝรั่งเศส ซึ่ง รศ.ดร.อานนท์ กล่าวว่า อุทยานมีเครื่องอำนวยความสะดวกพร้อม และการเข้ามาพัฒนานวัตกรรมอวกาศก็ไม่จำเป็นต้องใช้คนมาก แค่ 2-3 คนก็เพียงพอ โดยอาจเข้ามานำข้อมูลภาพถ่ายดาวเทียมไปพัฒนาต่อยอดเป็นผลิตภัณฑ์ เช่น แผ่นที่ในโทรศัพท์มือถือ หรือพัฒนาสถานีรับสัญญาณดาวเทียม รวมถึงทดสอบอุปกรณ์และชิ้นส่วนเกี่ยวกับดาวเทียม เป็นต้น
“ดาวเทียมไม่จำเป็นต้องใช้ ขนาดเล็กๆ ไม่กี่ฟุตก็ทำได้ แล้วค่อยส่งไปออกไปทดสอบ” รศ.ดร.อานนท์ กล่าวและบอกว่า อุทยานแห่งนี้จะเป็นอุทยานวิทยาศาสตร์ด้านอวกาศ เป็นอุทยานวิทยาศาสตร์เฉพาะทาง และต่อไปจะเปิดรับคนในอาเซียน รวมถึงเป็นศูนย์ฝึกอบรมนานาชาติของอาเซียนเพื่อสร้างเครือข่าย ซึ่งเวียดนามก็อยากสร้างอุทยานอวกาศลักษณะเดียวกันนี้ แต่ความเชี่ยวชาญของเวียดนามจะเป็นเรื่องการประกอบดาวเทียม ส่วนไทยมีความเชี่ยวชาญด้านการพัฒนาซอฟท์แวร์บางส่วนเพื่อควบคุมดาวเทียม
แม้จะมีดาวเทียมเป็นของตัวเอง แต่ รศ.ดร.อานนท์ กล่าวว่า หากชาติอื่นต้องตั้งสถานีรับสัญญาณดาวเทียมไทยโชตจากไทย เขาต้องติดต่อไปยังฝรั่งเศสซึ่งเป็นผู้ผลิตดาวเทียมให้ไทย แต่อนาคตหากมีดาวเทียมดวงใหม่ก็อยากเป็นผู้พัฒนาสถานีรับสัญญาณเอง ซึ่งสิ่งสำคัญและมีมูลค่ามากที่สุดสำหรับสถานีรับสัญญาณคือซอฟต์แวร์ที่อาจมีมูลค่าเกือบร้อยล้าน และหากไทยทำได้จริงก็จะหารายได้จากการสร้างสถานีรับสัญญาณดาวเทียมไปได้เรื่อยๆ
สำหรับโครงสร้างพื้นฐานในอุทยานรังสรรค์นวัตกรรมอวกาศ แบ่งเป็น 7 ส่วน ได้แก่
1.Satellite Operations หน่วยควบคุมและผลิตข้อมูลดาวเทียมไทยโชต รวมถึงดาวเทียมอื่นๆ ตามภารกิจของ สทอภ.
2.Geo-Informatics Solution Delivery and Center ศูนย์กลางด้านภูมิสารสนเทศระดับอาเซียน เพื่อวิจัยและพัฒนาระบบภูมิสารสนเทศ และเผยแพร่ความรู้โดยมีหลักสูตรฝึกอบรมจากผู้เชี่ยวชาญ
3.Visionarium สถานที่จัดกิจกรรมและแสดงประวัติความเป็นมาด้านเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ แก่ประชาชน นักเรียน นักศึกษา และเป็นศูนย์รวมข้อมูลและวิชาการที่เกี่ยวข้อง ซึ่งทาง สทอภ.จะให้องคืการพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ (อพวช.) มีส่วนในการบริหารจัดการพิพิธภัณฑ์
4.Space Development เพื่อการวิจัยพัฒนาเทคโนโลยีการออกแบบและประกอบดาวเทียมสำรวจโลก รวมถึงเทคโนโลยีอวกาศอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง
5.Space Business Prototyping เพื่อบ่มเพาะผู้ประกอบการใหม่ ที่ต้องการสร้างธุรกิจที่ใช้เทคโนโลยีด้านอวกาศและภูมิสารสนเทศเป็นฐาน โดยทาง สทอภ.มีแผนที่จะให้อุทยานวิทยาศาสตร์ภาคตะวันออก (Eastern Science Park) ที่มหาวิทยาลัยบูรพาเป็นแม่ข่าย เข้ามาร่วมดำเนินการ เพื่อเชื่อมโยงเครือข่ายบัณฑิตและผู้ประกอบการที่ต้องการสร้างธุรกิจทางด้านนี้
6.Entrepreneurial Development เป็นพื้นที่เช่าสำหรับเอกชนที่ต้องการทำวิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์ ที่นำเทคโนโลยีด้านอวกาศและภูมิสารสนเทศ ไปต่อยอดจนนเกิดการทำงานร่วมกันระหว่างบริษัทเอกชน มหาวิทยาลัย สถาบันวิจัยและ สทอภ.
7.Recreation Area เป็นพื้นที่สันทนาการสำหรับนักวิจัยและผู้ปฏิบัติงาน