xs
xsm
sm
md
lg

จริงเหรอ? ดาวเทียมไทยส่องม็อบเห็นหน้าเป็นรายคน!

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ดาวเทียมควิกเบิร์ดความละเอียด 80-90 เซ็นติเมตร ส่องไม่เห็นหน้าคน แยกได้แค่รถเป็นเก๋งหรือกระบะ
น่าตื่นเต้นดีทีเดียวหากกล้องจากดาวเทียมสามารถบันทึกภาพถ่ายเราจากบนฟ้าแล้วเห็นหน้าได้ชัดเจน ซึ่ง “นายขวัญชัย” คนสนิทของ “รองนายกฯเฉลิม” ได้ออกมาอธิบายว่า การทำงานของ “ดาวเทียมส่องม็อบ” ที่สามารถถ่ายภาพผู้ชุมนุมได้เป็นรายบุคคล …ไทยมีดาวเทียมที่ว่าจริงหรือ แล้วเทคโนโลยีดาวเทียมของไทยมีความสามารถขนาดไหน?

รศ.ดร.อานนท์ สนิทวงศ์ ณ อยุธยา ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาเทคโนโลนีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) หรือ สทอภ.เผยแก่ทีมข่าววิทยาศาสตร์ ASTV-ผู้จัดการออนไลน์ ว่า สำหรับดาวเทียมไทยโชต ซึ่งเป็นดาวเทียมสำรวจทรัพยากรของไทยนั้นไม่สามารถถ่ายภาพผู้ชุมนุมทางการเมืองจนเห็นหน้าอย่างชัดเจนได้ แต่ให้รายละเอียดได้ว่ามีผู้ชุมนุมกันเป็นกลุ่มๆ และเห็นคนเป็นจุดๆ เท่านั้น

นอกจากดาวเทียมไทยโชตที่ไทยเป็นเจ้าของแล้ว ทาง สทอภ.ยังมีสัญญารับสัญญาณดาวเทียมของต่างประเทศ 14-15 ดวง ซึ่งแต่ละมีวงโคจรเฉพาะและมีรอบการบินผ่านประเทศไทยไม่เท่ากัน บางดวงผ่านมาวันเว้นวัน บางดวง 3 วันผ่านมาครั้ง โดยดวงที่ไทยมีสัญญาในการรับสัญญาณที่ให้ความละเอียดสูงสุดคือดาวเทียม “ควิกเบิร์ด” (QuickBird) และดาวเทียม “เวิลด์วิว” (WorldView) ซึ่งให้ความละเอียด 80-90 เซนติเมตร

สำหรับดาวเทียมควิกเบิร์ดและเวิลด์วิวนั้นเป็นดาวเทียมเอกชนของสหรัฐฯ ซึ่ง รศ.ดร.อานนท์อธิบายว่า สหรัฐฯ จะให้บริษัทเอกชนเป็นผู้ดำเนินธุรกิจดาวเทียมความละเอียดสูง ส่วนดาวเทียมของรัฐบาลจะมีรายละเอียดไม่สูงนัก เช่น ดาวเทียมขององค์การบริหารการบินอวกาศสหรัฐฯ (นาซา) ซึ่งจะเน้นให้บริการทางด้านวิทยาศาสตร์และการศึกษาในภาพกว้าง โดยมีรายละเอียดระดับกิโลเมตร แต่ให้บริการฟรี

รศ.ดร.อานนท์ กล่าวว่า ความละเอียดของดาวเทียมที่ไทยรับบริการอยู่นั้น เมื่อถ่ายภาพผู้ชุมนุมจะไม่ให้รายละเอียดมากนัก โดยเห็นรายละเอียดแค่บอกได้ว่าเป็นรถประเภทใด กระบะหรือเก๋ง และสีอะไร แต่การระบุลงไปว่าเป็นรถยี่ห้อใดนั้นต้องอาศัยผู้เชี่ยวชาญจากภายนอก เพราะ สทอภ.ไม่มีผู้เชี่ยวชาญทางด้านนี้

ทั้งนี้ ดาวเทียมจะมีวงโคจรเฉพาะและไม่ได้บันทึกภาพตลอดเวลาเพื่อประหยัดพลังงาน ดังนั้น ในการถ่ายภาพจึงต้องป้อนคำสั่งจากศูนย์ควบคุมไปยังดาวเทียม ซึ่งปกติทาง สทอภ.จะวางคำสั่งไว้ล่วงหน้า 1 วัน เว้นแต่มีเหตุฉุกเฉินต้องใช้คำสั่งจากสถานีควบคุมที่ขั้วโลก เนื่องจากดาวเทียมจะโคจรผ่านขั้วโลกมากกว่า 10 ครั้งต่อวัน ในขณะที่ผ่านเส้นศูนย์สูตรเพียงวันละ 4 ครั้งเท่านั้น

การใช้สถานีควบคุมที่ขั้วโลกก็มีค่าใช้จ่ายสำหรับค่าบริการในหลักหมื่นบาท แต่ที่ผ่านมา รศ.ดร.อานนท์ กล่าวว่า ยังไม่เคยใช้คำสั่งฉุกเฉิน ซึ่งหากจำเป็นจริงๆ จะต้องใช้เวลาล่วงหน้า 2-3 ชั่วโมง

อย่างไรก็ดี โดยปกติหากมีเหตุการณ์ใดๆ เกิดขึ้นที่เมืองไทย ทาง สทอภ.ก็จะสั่งถ่ายภาพไว้อยู่แล้ว เช่น เหตุกรณ์น้ำท่วม สึนามิ หรือการชุมนุมทางการเมือง และในการชุมนุมวันที่ 24 พ.ย.55 นี้ทางสำนักงานก็จะบันทึกภาพไว้อย่างแน่นอน เพราะไม่สามารถถ่ายภาพเหตุการณ์ย้อนหลังได้ และเชื่อว่าคงมีหลายฝ่ายต้องการนำภาพไปใช้

“คิดว่าบริษัทดาวเทียมเอกชน (ต่างประเทศ) เขาถ่ายเหตุการณ์แบบนี้ไว้อยู่แล้ว ไม่ว่าจะเกิดเหตุการณ์ที่ใดบนโลก เพราะเป็นโอกาสทองในการทำธุรกิจของเขา ซึ่งคงมีหลายฝ่ายต้องการ อีกทั้งยังไม่มีกฎหมายไปห้ามไม่ให้บันทึกภาพจากดาวเทียม ส่วนข้อมูลที่เราถ่ายได้ หากเป็นข้อมูลที่เป็นประโยชน์ต่อสาธารณะ เราก็จะให้นำไปใช้โดยไม่คิดค่าใช้จ่าย” รศ.ดร.อานนท์ กล่าว

************
หมายเหตุ
ดาวเทียมไทยโชต เดิมชื่อ ดาวเทียมธีออส (THEOS) เป็นดาวเทียมสำรวจทรัพยากรธรรมชาติดวงแรกของไทย ธีออสเป็นดาวเทียมขนาดเล็กมีน้ำหนัก 750 กิโลกรัม และมีระยะห่างจากโลกเมื่อส่งขึ้นไปโคจรที่ระดับ 822 กิโลเมตร มีโคจรในแนวเหนือ-ใต้ โคจรรอบโลกทั้งสิ้น 369 วงโคจร ซึ่งระยะทางระหว่างวงโคจรแต่ละวงเท่ากับ 105 กม.โดยจะโคจรมาที่จุดเดิมทุกๆ 26 วัน มีความจำอยู่ 51 กิกะไบท์หรือบันทึกภาพได้ประมาณ 100 ภาพ และสามารถถ่ายภาพได้ครอบคลุมทั่วโลก บันทึกภาพด้วยระบบเดียวกับกล้อง (Optical System) ความละเอียดของภาพขาวดำ 2 เมตร







กำลังโหลดความคิดเห็น