xs
xsm
sm
md
lg

พลาดร่วมนาซานักวิจัยไทยตั้งแคมเปญศึกษาบรรยากาศเอง 200 ล้าน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นักวิทยาศาสตร์หารือว่าจะเดินหน้าต่อไปอย่างไร หลังพลาดร่วมการศึกษากับนาซา โดยได้ข้อมูลในการตั้งแคมเปญศึกษาโดยนักวิทยาศาสตร์ไทยเองด้วยงบ 200 ล้านบาท
นักวิจัยไทยหารือแนวทางเดินหน้าหลังพลาดร่วมวิจัยนาซา ตั้งแคมเปญศึกษาชั้นบรรยากาศโดยทีมวิจัยเองด้วยงบ 200 ล้านบาท พร้อมเผยแพร่ข้อมูลสู่สาธารณะ อาศัยการเก็บข้อมูลทั้งเครื่องบิน เรือสำรวจทางทะเลและปล่อยบอลลูนสู่ชั้นบรรยากาศ ด้าน “ปลอด” ขึงขังได้งบแน่ ถ้าไม่ได้จะดึงงบประทรวงมาสนับสนุน

“สิ่งที่ผ่านมาแล้วก็ผ่านไปแล้ว ตอนนี้มาคิดกันว่าเราจะใช้ขีดความสามารถที่มีอย่างไรได้บ้าง” ดร.อานนท์ สนิทวงศ์ ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ กล่าวรายงานต่อ นายปลอดประสพ สุรัสวดี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี หลังการหารือของนักวิทยาศาสตร์จากมหาวิทยาลัยและสถาบันต่างๆ อันเนื่องจากการไม่ได้เข้าร่วมศึกษาในโครงการ SEAC4RS ขององค์การบริหารการบินอวกาศสหรัฐ (นาซา)

ทั้งนี้ มีนักวิทยาศาสตร์จากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ.) สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัยแห่งชาติ (สกว.) ศูนย์เครือข่ายงานวิเคราะห์วิจัยและฝึกอบรมการเปลี่ยนแปลงของโลกแห่งภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (START) และศูนย์จัดการความรู้ด้านการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ (ศรภอ.) รวมหารือเมื่อวันที่ 2 ก.ค.55 ณ กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ซึ่งทีมข่าววิทยาศาสตร์ ASTV-ผู้จัดการออนไลน์ และผู้สื่อข่าวได้ร่วมติดตามการหารือครั้งนี้ด้วย

ผลจากการหารือได้ข้อสรุปว่านักวิทยาศาสตร์ไทยจะตั้งแคมเปญ (campeign) ศึกษาชั้นบรรยากาศขึ้นเอง โดยอาศัยสถานีตรวจวัดอากาศภาคพื้นที่ทำหน้าที่วัดองค์ประกอบทางเคมีของอากาศ ดาวเทียมสำรวจทรัพยากรไทยโชตหรือธีออส ดาวเทียมโมดิส (MODIS) ของนาซา ดาวเทียมสำรวจทรีพยากรธรรมชาตอขนาดเล็กเอสเอ็มเอ็สเอส (SMMS) ของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ บอลลูนตรวจวัดสภาพอากาศของกรมอุตุนิยมวิทยา และเครื่องบินซูเปอร์คิงแอร์ (Super King Air) ของสำนักฝนหลวงและการเกษตร

ดร.อานนท์กล่าวว่า การทำความเข้าใจชั้นบรรยากาศเป็นเรื่องสำคัญและไม่ใช่เพียงการต่อจิ๊กซอว์ของข้อมูลชั้นบรรยากาศที่ยังไม่ครบถ้วน หากแต่ยังเป็นประโยชน์ต่อไทยทั้งในการเข้าใจเรื่องการเกิดเมฆ การเคลื่อนตัวของฝุ่นละออง การเคลื่อนตัวของมลพิษในเขตอุตสาหกรรม และการพยากรณ์อากาศ ซึ่งไม่เพียงแค่การพยากรณ์ในภาพรวมทั้งประเทศ แต่ยังพยากรณ์ได้ในระดับพื้นที่ของแต่ละท้องถิ่น

ทั้งนี้ มีหลายมหาวิทยาลัยที่สนใจในเรื่องการศึกษาชั้นบรรยากาศนี้ และบางแห่งก็มีการวิจัยไปมากแล้ว บางแห่งก็มีความร่วมมือทางวิชาการในระดับบุคคลกับนักวิจัยต่างประเทศ แต่ที่ผ่านมายังเป็นการทำงานแบบแยกกัน เป็นการรวมตัวแบบหลวมๆ ไม่ได้นำความรู้มาใช้ร่วมกัน ดังนั้น ในการทำแคมเปญศึกษาชั้นบรรยากาศครั้งนี้ ดร.อานนท์กล่าวว่า จะทำให้การศึกษาวิจัยเด่นชัดขึ้น และนอกจากนี้ยังเสนอให้ตั้งองค์กรศึกษาวิทยาศาสตร์ระบบโลก เพราะที่ผ่านมาเป็นการศึกษาแบบกระจาย ทำให้ไม่สามารถศึกษาในเชิงลึกได้

ในการศึกษาจะแบ่งเป็น 2 ช่วง คือ ช่วงเดือน ก.ย.-ต.ค. เป็นการศึกษาบรรยากาศในช่วงปลายมรสุมอันเกิดจากลมตะวันตกเฉียงใต้ โดยจะเน้นศึกษาในภาคใต้ทางฝั่งอันดามันและอ่าวไทย ซึ่งจะมีการออกเรือไปสำรวจข้อมูล และเป็นการศึกษาที่ทำมากกว่าขอบเขตที่ทางนาซาเสนอ และอีกช่วงคือเดือน ก.พ.-มี.ค.จะเป็นการศึกษาที่เน้นในเรื่องหมอกควันทางภาคเหนือ ซึ่งข้อมูลจากการศึกษาทั้งมหดนี้จะเปิดเผยแก่สาธารณะและให้ประเทศเพื่อนบ้านเข้ามามีส่วนร่วมในการศึกษานี้ด้วย โดยเน้นประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

สำหรับงบประมาณ 200 ล้านบาทที่จะนำไปใช้ในแคมเปญศึกษาชั้นบรรยากาศนี้ ดร.อานนท์กล่าวว่าไม่แพงสำหรับการศึกษาวิทยาศาสตร์พื้นฐานของชั้นบรรยากาศ ซึ่งต้องใช้การลงทุนที่มาก โดยงบส่วนใหญ่จะหมดไปกับวัสดุสิ้นเปลือง โดยเฉพาะการออกสำรวจที่ต้องมีค่าใช้จ่ายจำนวนมาก เช่น การออกเรือสำรวจแต่ละครั้งใช้เงินมากถึง 10 ล้านบาท เป็นต้น แต่อย่างไรก็ดี ผลการศึกษาที่ได้ย่อมเทียบไม่ได้กับเครื่องมือของนาซา ที่มีเครื่องบินซึ่งสามารถบินสำรวจได้ถึง 21 กิโลเมตรจากพื้นดิน ขณะที่เครื่องบินฝนหลวงบินได้สูงสุดประมาณ 10 กิโลเมตรเท่านั้น

ด้าน นายปลอดประสพกล่าวว่า จะเสนอของบประมาณเพื่อศึกษาในแคมเปญนี้จากคณะรัฐมนตรีตามที่ทางนักวิทยาศาสตร์ประมาณการณ์ แต่หากไม่ได้รับการอนุมัติงบประมาณกลางก็จะตัดงบประมาณกระทรวงมาใช้ในส่วนนี้ โดยมั่นใจว่าอย่างไรก็ได้ต้องงบประมาณมาอย่างแน่นอน และขอให้นักวิทยาศาสตร์เดินหน้าทำโครงการต่อไปตามที่วางแผนไว้

สำหรับการพลาดโอกาสร่วมงานกับนาซาในครั้งนี้ รศ.ดร.จริยา บุญญวัฒน์ นักวิทยาศาสตร์ผู้มีประสบการณ์ศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างสิ่งมีชีวิตและชั้นบรรยากาศกว่า 20 ปี และเป็นที่ปรึกษาโครงการวิจัยด้านบรรยากาศของ START กล่าวว่า ในวิกฤตก็ยังมีโอกาส เพราะปกติคนทั่วไปไม่เห็นความสำคัญของงานวิจัยในเรื่องนี้ เมื่อมีปัญหาก็ทำให้มีโอกาสตอบคำถามในเรื่องนี้ และเมื่อถามว่านักวิจัยที่จะศึกษาชั้นบรรยากาศของไทยมีเพียงพอความต้องการหรือไม่ ก็ต้องยอมรับว่ามีอยู่น้อยกว่าทีมศึกษาของนาซาอย่างแน่นอน

เมื่อสอบถามว่าจำเป็นหรือไม่ที่จะต้องศึกษาบรรยากาศในช่วงมรสุมของปี 2555 นี้ รศ.ดร.จริยากล่าวว่า ในแต่ละปีปัจจัยสภาพอากาศก็แตกต่างกันไป สำหรับปีนี้มีปัจจัยจากน้ำท่วมใหญ่ในปีที่ผ่านมา ซึ่งกระทบต่อความชื้นในดิน และกระทบต่อไปยังความชื้นอากาศ หากศึกษาในปีนี้ก็จะได้ข้อมูลจากสภาพสุดขั้วที่จะนำไปใช้พยากรณ์ได้ว่าบรรยากาศชั้นบนนั้นเป็นอย่างไร

นอกจากนี้ ในปี 2555 นี้ยังพบความแปรปรวนของสภาพอากาศ จากเดิมที่จะพบปัญหาหมอกควันทางภาคเหนือในช่วงเดือน มี.ค.-เม.ย.ก็ขยับเป็น ก.พ.-มี.ค. ส่วนทางภาคใต้ที่จะพบปัญหาหมอกควันในช่วง ส.ค.ก็พบว่าเลื่อนมาเป้นช่วงปลาย มิ.ย.แล้ว และภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ยังมีสัดส่วนพื้นดินและพื้นน้ำเท่ากับสัดส่วนของโลก คือมีน้ำอยู่ประมาณ70% และดิน 30% ซึ่งจะทำให้เข้าใจถึงอิทธิพลจากทะเลและมหาสมุทรที่ส่งผลต่อการภาคพื้นดินด้วย
ดร.อานนท์ สนิทวงศ์ ณ อยุธยา
ปลอดประสพ สุรัสวดี
กำลังโหลดความคิดเห็น