xs
xsm
sm
md
lg

ผู้จัดการสุดสัปดาห์

x

“นาซา-อู่ตะเภา”เพื่อไทยยิ่งดิ้นยิ่งเข้าตัว

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

เครื่องบิน นาซาดีซี-8 ที่ใช้ในการศึกษาชั้นบรรยากาศของนาซา
ASTVผู้จัดการสุดสัปดาห์- พรรคเพื่อไทย รวมทั้ง พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร มักจะออกตัวอยู่เสมอว่า พรรคของตัวเองไม่ถนัดเกมการเมือง ถนัดแต่การทำงานเพื่อประชาชนเท่านั้น

แต่กรณีองค์การนาซาขอใช้สนามบินอู่ตะเภาในโครงการสำรวจชั้นบรรยากาศ ซึ่งกลายเป็นประเด็นคึกโครมบนหน้าสื่อตลอดช่วง 2 สัปดาห์ที่ผ่านมา ได้สะท้อนให้เห็นว่า พรรคเพื่อไทยนี่แหละที่งัดเอาเล่ห์เหลี่ยมการเมืองสารพัดมาใช้เพื่อเอาชนะฝ่ายตรงข้าม

กรณีดังกล่าว เป็นประเด็นขึ้นมาเนื่องจากมีเอกสารกระทรวงการต่างประเทศลงวันที่ 5 มิถุนายน 2555 เสนอเรื่องเข้าสู่ที่ประชุม ครม.ให้รัฐบาลลงนามให้องค์กรนาซาใช้สนามบินอู่ตะเภาในการสำรวจชั้นบรรยากาศ ตามโครงการศึกษาองค์ประกอบเมฆที่สัมพันธ์กับภูมิอากาศในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (Southeast Asia Composition, Cloud, Climate Coupling Regional Study) หรือ SEAC4RS ซึ่งมีระยะเวลาการทดลองระหว่างเดือน ส.ค.-ก.ย.2555

โครงการนี้ทำให้หลายฝ่ายออกมาตั้งข้อสังเกตว่าอาจมีผลกระทบต่อความมั่นคง โดย สภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) ได้ตั้งข้อสังเกตว่า โครงการนี้มีความละเอียดอ่อน 6 ข้อที่น่ากังวล แม้นาซาจะระบุว่าบินผ่านน่านน้ำสากลและประเทศที่ให้ความยินยอมเท่านั้น แต่ประเทศเพื่อนบ้านอาจมีความหวาดระแวงว่าจะมีการนำไปใช้ประโยชน์ด้านยุทธศาสตร์ทหาร การบินผ่านพื้นที่ชายแดนไทยและบินจอดฉุกเฉินโดยไม่ได้รับอนุญาต การบินผ่านเขตหวงห้ามของไทย การซ่อนเร้นอุปกรณ์นอกเหนือจากอุปกรณ์ทางวิทยาศาสตร์บนเครื่องบินสำรวจ และการกระตุ้นให้ฝ่ายต่อต้านสหรัฐฯ ก่อเหตุร้ายในไทย
        
  นอกจากนี้ สมช.ยังมีข้อสังเกตกรณีที่มีชื่อบริษัทเชฟรอนเข้ามาร่วมสำรวจด้วย โดยอ้างว่าต้องใช้สหวิทยาการ จึงน่าสงสัยว่าจะเกี่ยวข้องกับผลประโยชน์เรื่องสัมปทานแหล่งพลังงานของบริษัทเซฟรอนด้วยหรือไม่ แต่ก็ไม่ได้รับคำตอบจากนาซาแต่อย่างใด

ขณะที่ฝ่ายค้านได้ตั้งข้อสงสัยด้วยว่า การเร่งรีบนำเรื่องนี้เข้าสู่ ครม.เป็นการแลกเปลี่ยนกับการที่สหรัฐอเมริกาจะให้วีซาแก่ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ในการเดินทางเข้าสหรัฐฯ ด้วยหรือไม่ พร้อมเรียกร้องให้รัฐบาลนำเรื่องนี้เข้าสู่การพิจารณาของรัฐสภาตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 190 (2) ไม่เช่นนั้นก็จะซ้ำรอยกรณีการทำเอฟทีเอกับจีน ในยุครัฐบาล พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร และแถลงการณ์ร่วมไทย-กัมพูชา ในรัฐบาลนายสมัคร สุนทรเวช

นอกจากกระแสคัดค้านจากผู้เชี่ยวชาญด้านความมั่นคงและภาคประชาชนที่สะท้อนออกมาทางเครือข่ายสังคมออนไลน์แล้ว ฝ่ายค้านได้ประกาศจับตาเรื่องนี้อย่างใกล้ชิด หากมีการอนุมัติจาก ครม.โดยไม่เสนอรัฐสภา จะดำเนินการตามกฎหมายกับบุคลที่เกี่ยวข้อง รวมทั้ง ครม. โดยอาจใช้ช่องทางแรกคือศาลปกครอง เพื่อขอคุ้มครองชั่วคราวไม่ให้นาซาเข้ามา และจะเอาผิดกับคนที่ทำผิดรัฐธรรมนูญ เหมือนที่เคยเกิดขึ้นกับนายนพดล ปัทมะ กรณีแถลงการณ์ร่วมไทย-กัมพูชาด้วย

การตอบโต้จากฝ่ายรัฐบาลนั้น แทนที่จะมุ่งไปที่การคลายปมข้อสงสัยทั้ง 6 ข้อของ สมช.ออกมาให้ได้ แต่กลับใช้วิธีการตอบโต้ด้วยเทคนิกทางการเมือง เช่น นำเรื่องการเสนอใช้อู่ตะเภาจัดตั้งศูนย์บรรเทาสาธารณภัยในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (HDRC) ในยุครัฐบาลนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ มาสวนกลับว่าฝ่ายค้านก็เคยทำแบบนี้มาแล้ว

รวมทั้งการนำกรณีการลงนามความร่วมมือระหว่างประธานสำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศ และภูมิสารสนเทศ (JISDA) กับองค์การนาซา ว่าด้วยความร่วมมือในการสำรวจสภาพภูมิอากาศในประเทศไทย ที่ทำขึ้นเมื่อวันที่ 28 ก.ย.2553 สมัยพรรคประชาธิปัตย์เป็นรัฐบาล มาย้อนศรไปยังฝ่ายค้านว่า ทำไมสมัยนั้นถึงไม่นำเข้าผ่านความเห็นชอบจากรัฐสภาตามรัฐธรรมนุญมาตรา 190 ก่อน
ขณะที่ พล.อ.อ.สุกำพล สุวรรณทัต รมว.กลาโหม ไปไกลถึงขั้นกล่าวหาว่าคนที่คัดค้านไม่รักชาติ
     
การเล่นเกมของพรรคเพื่อไทยถูกตอบโต้ทันที จากพรรคประชาธิปัตย์ที่ชี้ถึงความแตกต่างเรื่องการใช้สนามบินอู่ตะเภาระหว่างรัฐบาลอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ กับรัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ว่า รัฐบาลนายอภิสิทธิ์เป็นเรื่องภัยพิบัติ มนุษยธรรม ดำเนินการในลักษณะพหุภาคี ไม่ใช่ทวิภาคี เช่นในกรณีของรัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ซึ่งเป็นข้อเสนอของสหรัฐอเมริกาในการใช้ประโยชน์จากสนามบินอู่ตะเภา 
      
   รัฐบาลนายอภิสิทธิ์ให้ใช้สนามบินอู่ตะเภาเพื่อประโยชน์ร่วมกันของเวทีโลกโดยมีไทยเป็นศูนย์กลางช่วยเหลือ แต่รัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ให้องค์การนาซาใช้ประโยชน์มีแต่สหรัฐฯ ที่ได้ประโยชน์เพียงประเทศเดียว สาระของการดำเนินการเป็นเรื่องมนุษยธรรมชัดเจนมีการเจรจาเปิดเผยแต่โครงการของรัฐบาลชุดนี้ให้ประโยชน์สหรัฐฯ ในด้านเทคนิค ข้อมูลโดยที่ประโยชน์ที่ประเทศไทยจะได้รับยังไม่มีความชัดเจน อีกทั้งยังปกปิดข้อมูลต่อสาธารณะด้วย           

ส่วนการลงนามกับ JISDA นั้น เป็นการลงนามระหว่างหน่วยงานของรัฐ ซึ่งไม่เข้าข่ายที่ต้องพิจารณาตามมาตรา 190 (2) ของรัฐธรรมนูญ เพราะเป็นการลงนามร่วมมือในด้านทั่วไปทางวิทยาศาสตร์และป้องกันการถล่มของดิน โดยไม่มีส่วนใดในบันทึกข้อตกลงระบุถึงการให้เครื่องบินเข้ามาบินสำรวจหรือใช้สนามบินอู่ตะเภา

เมื่อไม่สามารถหักล้างเงื่อนงำข้อสงสัยของสาธารณชนได้ รัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ตัดสินใจไม่นำเรื่องนี้เข้า ครม.ตามกำหนดเดิมวันที่ 19 มิ.ย.ที่ผ่านมา และมีมติที่จะนำเรื่องนี้เข้าสู่การพิจารณาของสภาตามมาตรา 179 ของรัฐธรรมนูญ คือ เปิดให้มีการอภิปรายทั่วไปโดยไม่ต้องลงมติ

การพลิกเกมแบบนี้ อาจทำให้ได้ภาพว่า รัฐบาลให้ความสำคัญกับรัฐสภา แต่เมื่อมองให้ลึกจะเห็นว่าวิธีการนี้แฝงไว้ด้วยเล่ห์เหลี่ยมที่จะหนีการตรวจสอบตามมาตรา 190 และเป็นการสร้างมาตรฐานใหม่ ให้มาตรา 190 ไม่สามารถใช้บังคับกับการลงนามกับต่างประเทศกรณีอื่นๆ ได้อีก

ขณะเดียวกัน ในการประชุม ครม.วันที่ 26 มิ.ย.นั้น มีการหารือ เพื่อวางแนวทางแก้เกมการเมืองโยนเผือกร้อนกลับไปให้พรรคประชาธิปัตย์และฝ่ายที่คัดค้านโครงการนี้ให้ตกเป็นจำเลยของสังคมเสียเองในฐานะที่ทำให้ประเทศชาติเสียโอกาสที่จะได้ข้อมูลจากการสำรวจบรรยากาศเพื่อใช้ในการพยากรณ์อากาศที่แม่นยำเพื่อป้องกันปัญหาอุทกภัยที่จะเกิดขึ้น ซึ่งนายกฯ ได้มอบหมายให้นายนิวัฒน์ธำรง บุญทรงไพศาล รัฐมนตรีประจำสำนักนายกฯ กำกับดูแลสื่อของรัฐไปดูแลจัดรายการผ่านสื่อของรัฐทุกช่องทาง โดยนำนักวิทยาศาสตร์ไปออกรายการเพื่อชี้แจงว่าเป็นโครงการที่ดี แต่ทำไม่ได้ เพราะฝ่ายค้านขัดขวางทำให้ประเทศชาติเสียโอกาส เพื่อล้อมกรอบให้สังคมชี้ไปที่ฝ่ายค้านว่าเป็นคนทำให้ประเทศชาติได้รับความเสียหาย

ขณะที่ในข้อเท็จจริงนั้น รศ.ดร.เสริม จันทร์ฉาย จากภาควิชาฟิสิกส์ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร กล่าวถึงประโยชน์จากโครงการนี้ของนาซาว่า เป็นเรื่องการวิจัยฝุ่นละอองในชั้นบรรยากาศที่อยู่สูงขึ้นไป ซึ่งไทยจะได้ข้อมูลที่ปกติไม่สามารถทำได้เองเพราะอุปกรณ์ที่ใช้มีมูลค่าแพงมาก ส่วน ดร.นริศรา ทองบุญชู จากภาควิชาวิศวกรรมเคมี คณะวิศวกรรมศาสตร์ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง บอกว่าจะได้ข้อมูลที่ช่วยทำนายการเกิดฝนในประเทศไทยได้ดีขึ้น และได้เปิดโอกาสให้นักวิจัยรุ่นใหม่ๆ ได้มีโอกาสเข้าร่วมโครงการระดับโลก 

อย่างไรก็ตาม ดร.อานนท์ สนิทวงศ์ ณ อยุธยา ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (สทอภ.) บอกว่า หากนาซาไม่สามารถทำการทดลองได้ตามกำหนด ในมุมของประเทศไทยก็ไม่ได้ส่งผลเสียหายร้ายแรงนัก กรณีที่ต้องรอก็ต้องรอ ที่ผ่านมาไม่ได้ทำการทดลองก็ไม่เกิดปัญหาอะไร เพียงแต่จะทำให้งานล่าช้าออกไป แต่ในส่วนของต่างชาติอาจจะมีคนรอข้อมูลจากโครงการนี้         

นั่นแสดงว่า การที่นาซาประกาศยกเลิกการเข้ามาใช้สนามบินอู่ตะเภาก็ไม่ได้สร้างความเสียหายมากมายใหญ่โตตามที่รัฐบาลยัดเยียดให้ฝ่ายต่อต้าน แต่การที่รัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์พยายามเล่นเกมที่โอเวอร์รีแอกต์เกินไป ก็ยิ่งทำให้โครงการขอใช้สนามบินอู่ตะเภาของนาซามีข้อเคลือบแคลงสงสัยมากขึ้น                              
กำลังโหลดความคิดเห็น