ผู้อำนวยการหน่วยงานอวกาศไทยชี้ ผลเสียหายฝั่งไทยกรณี “นาซา” ใช้ “อู่ตะเภา” ไม่ได้ ก็แค่ทำให้งานวิจัยต้องเลื่อนออกไป ไม่ได้เสียหายร้ายแรง เพราะ 20-30 ปีที่ผ่านมาไม่มีงานวิจัยนี้ก็ยังอยู่กันได้ แต่อาจกระทบต่องานวิจัยในระดับนานาชาติที่รอข้อมูลจากการสำรวจครั้งนี้
ดร.อานนท์ สนิทวงศ์ ณ อยุธยา ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (สทอภ.) เผยแก่ทีมข่าววิทยาศาสตร์ ASTV-ผู้จัดการออนไลน์และผู้สื่อข่าวถึงกรณีการขอใช้พื้นที่สนามบินอู่ตะเภาขององค์การบริหารการบินอวกาศสรัฐ (นาซา) ว่า ในส่วนของ สทอภ.นั้นได้มีความร่วมมือกับนาซาในแง่ของการวางแผนถ่ายภาพจากดาวเทียม ซึ่งฝ่ายวางแผนการถ่ายภาพดาวเทียมจะเป็นหน่วยสำคัญของสำนักงานในการประสานงานเรื่องนี้
การถ่ายภาพบริเวณประเทศไทยโดยดาวเทียมธีออส (THEOS) หรือดาวเทียมไทยโชตินั้นพบปัญหาฝุ่นละอองในอากาศทำให้ได้ภาพถ่ายที่มีสีผิดเพี้ยน ส่งผลให้หน่วยงานที่นำภาพถ่ายดาวเทียมไปใช้งานแปรข้อมูลที่ได้คลาดเคลื่อน ซึ่งทาง สทอภ.ก็ได้รับข้อติติงในเรื่องดังกล่าว นอกจากนี้ ฝุ่นละอองในชั้นบรรยากาศยังมีผลต่อการเกิดเมฆ ซึ่งที่ผ่านมาทางสำนักงานใช้แบบจำลองการเกิดเมฆที่ไม่สอดคล้องกับภูมิประเทศทำให้หลายครั้งที่ส่งให้ดาวเทียมภาพแล้วไปติดช่วงที่ชั้นบรรยากาศมีเมฆมาก
“การสั่งให้ดาวเทียมถ่ายภาพนั้นไม่สามารถทำได้ทันที ต้องสั่งล่วงหน้า 12-24 ชั่วโมง แต่เราพบปัญหาว่าพอสั่งไปแล้วถึงเวลาหลายกลับมีเมฆมาก ถ่ายไปแล้วไม่ได้ภาพที่ต้องการ เราจึงต้องการสร้างแบบจำลองของเราเองที่คาดการณ์ได้ว่าช่วงไหนจะเกิดเมฆ ซึ่งเราจะได้ข้อมูลเพื่อสร้างแบบจำลองจากการร่วมวิจัยกับนาซา” ดร.อานนท์กล่าว และบอกว่าการศึกษาครั้งนี้เป็นเพียงส่วนย่อยในโครงการใหญ่ของนาซา
ดร.อานนท์กล่าวว่า ฝุ่นละอองที่ส่งผลต่อการเกิดเมฆมี 2 กลุ่มหลัก คือ ฝุ่นเกลือแบบที่ใช้ในโครงการฝนหลวง ซึ่งทำให้เกิดเมฆ แต่พบว่าฝุ่นละอองจากการเผาไหม้นั้นทำให้เกิดการสลายตัวของเมฆ โดยเมื่อปี 2549 สทอภ.เคยใช้อุปกรณ์ของนาซาติดตั้งบนเครื่องบินผลิตฝนหลวงขึ้นไปเก็บข้อมูลฝุ่นละออง แต่เครื่องบินขึ้นไปได้เพียง 6-7 กิโลเมตร ขณะที่การทดลองของนาซาจะบินขึ้นไปเก็บข้อมูลได้สูงถึง 20-30 กิโลเมตร
อย่างไรก็ดี หากนาซาไม่สามารถทำการทดลองได้ตามกำหนดนั้น ดร.อานนท์กล่าวว่า ในมุมของประเทศไทยก็ไม่ได้ส่งผลเสียหายร้ายแรงนัก กรณีที่ต้องรอก็ต้องรอ เพราะงานวิจัยนี้ไม่ใช่งานวิจัยที่ต้องทำทุกปี 20-30 ปีที่ผ่านมาไม่ได้ทำการทดลองก็เกิดปัญหาอะไร เพียงแต่จะทำให้งานล่าช้าออก ส่วนในมุมมองของนักวิจัยต่างชาติอาจมีคนที่ต้องรอข้อมูลจากการทดลองครั้งนี้
“ความจริงก็ไม่มีใครปฏิเสธโครงการนี้นะ แต่ปัญหาคือเรื่องการนำเครื่องบินเข้ามาเท่านั้น” ดร.อานนท์กล่าว และบอกว่าดาวเทียมของนาซานั้นอาจจะไม่ละเอียดเท่ากับดาวเทียมของ สทอภ.ด้วยซ้ำ เพราะวัตถุประสงค์การใช้งานต่างกัน แต่ในส่วนของกองทัพสหรัฐฯ นั้นอาจจะมีโครงการลับและดาวเทียมลับซึ่งมีเทคโนโลยีที่ก้าวหน้าไปไกลอีกมากที่ไม่เปิดเผย ที่แม้แต่นาซาเองก็อาจจะไม่ทราบ ส่วนเขาเองก็ไม่สามารถให้รายละเอียดในเรื่องโครงการลับเหล่านั้นได้
เมื่อปี 2553 สทอภ.และนาซาได้ร่วมลงนามในหนังสือเจตจำนงแสดงความสนใจร่วมกัน ซึ่งมีกรอบในเรื่องการสำรวจโลก ภูมิอากาศ ภัยพิบัติและการพัฒนาบุคลากร แต่ ดร.อานนท์ยืนยันว่าไม่เคยผูกพันในระดับองค์กร โดยทั้งสององค์กรเป็นหน่วยงานอวกาศเหมือนกัน แต่ไม่ได้มีความสนใจเหมือนกันในทุกเรื่อง อย่างนาซามีความสนใจส่งคนไปดาวอังคาร ทาง สทอภ.คงไม่มีศักยภาพไปร่วมมือในตรงนั้น ขณะเดียวกันความสนใจของ สทอภ.ก็มีเรื่องที่นาซาไม่ได้สนใจเช่นกัน
สำหรับโครงการทดลองของนาซาที่ต้องใช้อู่ตะเภาเป็นฐานในการขึ้นลงของเครื่องบินนี้คือโครงการศึกษาองค์ประกอบเมฆที่สัมพันธ์กับภูมิอากาศในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (Southeast Asia Composition, Cloud, Climate Coupling Regional Study) หรือ ซีซีโฟว์อาร์เอส (SEAC4RS) ซึ่งมีระยะเวลาการทดลองระหว่างเดือน ส.ค.-ก.ย.2012 โดยมีเป้าหมายพิเศษในการศึกษาบทบาทของวัฏจักรมรสุมและการกระจายตัวขององค์ประกอบกับเคมีของบรรยากาศชั้นบนในภูมิภาคเอเชีย
โครงการดังกล่าวต้องอาศัยเครื่องบินเอนกประสงค์หลายลำ โดยเครื่องบินนาซาดีซี-8 (NASA DC-8) จะบินสำรวจตั้งแต่ระดับใกล้พื้นดินขึ้นไปถึงระดับ 12 กิโลเมตร, เครื่องบินนาซาอีอาร์-2 (NASA ER-2) จะให้ข้อมูลสังเกตการณ์ ที่ระยะสูงขึ้นไประดับล่างของบรรยากาศชั้นสตราโทสเฟียร์ (stratosphere) ซึ่งจะเชื่อมต่อข้อมูลระหว่างสังเกตการณ์ระยะไกลด้วยดาวเทียมและสังเกตการณ์ระยะใกล้จากการบินสำรวจ และเครื่องบินเอ็นเอสเอฟ/เอ็นซีเออาร์ จีวี (NSF/NCAR GV) ซึ่งจะเก็บตัวอย่างอากาศที่ระดับความสูงประมาณ 12 กิโลเมตร