xs
xsm
sm
md
lg

รู้ไหมว่า...นาซามาทำอะไรที่อู่ตะเภา?

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ภารกิจศึกษาชั้นบรรยากาศในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (นาซา)
สำหรับโครงการทดลองขององค์การบริหารการบินอวกาศสหรัฐ (นาซา) ที่ต้องใช้อู่ตะเภาเป็นฐานในการขึ้นลงของเครื่องบินนี้คือโครงการศึกษาองค์ประกอบเมฆที่สัมพันธ์กับภูมิอากาศในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (Southeast Asia Composition, Cloud, Climate Coupling Regional Study) หรือ ซีซีโฟว์อาร์เอส (SEAC4RS) ซึ่งมีระยะเวลาการทดลองระหว่างเดือน ส.ค.-ก.ย.2012 โดยมีเป้าหมายพิเศษในการศึกษาบทบาทของวัฏจักรมรสุมและการกระจายตัวขององค์ประกอบกับเคมีของบรรยากาศชั้นบนในภูมิภาคเอเชีย

โครงการดังกล่าวต้องอาศัยเครื่องบินเอนกประสงค์หลายลำ โดยเครื่องบินนาซาดีซี-8 (NASA DC-8) จะบินสำรวจตั้งแต่ระดับใกล้พื้นดินขึ้นไปถึงระดับ 12 กิโลเมตร, เครื่องบินนาซาอีอาร์-2 (NASA ER-2) จะให้ข้อมูลสังเกตการณ์ ที่ระยะสูงขึ้นไประดับล่างของบรรยากาศชั้นสตราโทสเฟียร์ (stratosphere) ซึ่งจะเชื่อมต่อข้อมูลระหว่างสังเกตการณ์ระยะไกลด้วยดาวเทียมและสังเกตการณ์ระยะใกล้จากการบินสำรวจ และเครื่องบินเอ็นเอสเอฟ/เอ็นซีเออาร์ จีวี (NSF/NCAR GV) ซึ่งจะเก็บตัวอย่างอากาศที่ระดับความสูงประมาณ 12 กิโลเมตร

ข้อมูลบนเว็บไซต์ของนาซาซึ่งเผยแพร่มาตั้งแต่เดือน มี.ค.ระบุว่า นักวิทยาศาสตร์ ช่างเทคนิค รวมถึงผู้เชี่ยวชาญด้านฝุ่นละอองกว่า 150 คน ได้ไปรวมตัวกันที่โบลเดอร์ โคโลราโด สหรัฐฯ เมื่อเดือน ก.พ.ที่ผ่านมา “เพื่อกำหนดยุทธศาสตร์ในการทำบางอย่างที่ไม่เคยทำมาก่อน” โดยการพิสูจน์ว่ามลภาวะและองค์ประกอบเคมีที่กระจายสู่ชั้นบรรยากาศในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้นั้นส่งผลสืบเนื่องถึงภูมิอากาศโลกในวงกว้างหรือไม่ ทั้งนี้ นาซาเองยังต้องรอทางรัฐบาลอนุมัติแผนของโครงการในฐานะที่เป็นสถานเริ่มต้นสำหรับเที่ยวบินทดลอง

การศึกษาครั้งนี้จะเป็นโครงการศึกษาฝุ่นละอองที่ซับซ้อนมากที่สุดแห่งปีของนาซา โดยการศึกษาครั้งนี้ได้รับการสนับสนุนจากมูลนิธิวิทยาศาสตร์สหรัฐ (National Science Foundation) และห้องปฏิบัติการวิจัยกองทัพเรือสหรัฐ (Naval Research Laboratory) ซึ่งในโครงการนี้จะอาศัยสังเกตการณ์หลายส่วนทั้งจากดาวเทียมของนาซา เครื่องบินวิจัยอีกหลายลำ และพื้นที่สังเกตการณ์ในภาคพื้นดินและในทะเล และโครงการนี้ยังได้รับการอุปถัมภ์จากหน่วยวิทยาศาสตร์โลก ของสำนักอำนวยการปฏิบัติการวิทยาศาสตร์ ณ สำนักงานใหญ่ของนาซา ในวอชิงตัน สหรัฐฯ

สำหรับโครงการนี้ ไบรอัน ตูน (Brian Toon) หัวหน้าภาควิชาชั้นบรรยากาศและมหาสมุทรศาสตร์ (Department of Atmospheric and Oceanic Sciences.) มหาวิทยาลัยโคโลราโด (University of Colorado) สหรัฐฯ เป็นหัวหน้าโครงการ โดยเขาเป็นผู้มีประสบการณ์ในการทำโครงการศึกษาฝุ่นละอองในบรรยากาศของนาซาหลายโครงการ ซึ่งมีทั้งโครงการส่งเครื่องบินไปศึกษารูรั่วของชั้นโอโซนในทวีปแอนตาร์กติกา และการศึกษาผลกระทบต่อชั้นบรรยากาศจากการปะทุของภูเขาไฟ

*******

เครื่องบินในโครงการ

นาซา อีอาร์-2
สำหรับใช้ศึกษาชั้นบรรยากาศโทรโฟสเฟียร์ตอนบนถึงชั้นบรรยากาซสตราโทสเฟียร์ตอนล่าง โดยบินศึกษาที่ความสุง 18-21 กิโลเมตร มีพิสัย 3,000 ไมล์ทะเล บินได้ทน 8-10 ชั่วโมง มีหน้าที่ในการส่งสัญญาณระยะไกลข้อมูลละอองลอย (aerosol) และการแผ่รังสีเพื่อวิเคราะห์องคืประกอบพื้นฐานทางเคมี

เอ็นเอสเอฟ/เอ็นซีเออาร์ จีวี
สำหรับใช้ศึกษาชั้นบรรยากาศโทรโพสเฟียร์ตอนกลางถึงตอนบน มีเพดานการบินที่ 14 กิโลเมตร มีพิสัย 4,000 ไมลทะเล บินได้ทน 8-10 ชั่วโมง มีหน้าที่ในการศึกษารายละเอียดองค์ประกอบของชั้นบรรยากาศ และเคมีเชิงแสงของก๊าซและละอองลอย รวมถึงองค์ประกอบขนาดเล็กของเมฆ

นาซา ดีซี-8
สำหรับใช้ศึกษาสภาพอากาศตั้งแต่พื้นผิวขึ้นไปถึงชั้นบรรยากาศโทรโพสเฟียร์ตอนบน มีเพดานบิน 12 กิโลเมตร พิสัย 4,000 ไมล์ทะเล มีความทนในการบิน 8-10 ชั่วโมง มีหน้าที่ในการศึกษารายละเอียดขององค์ประกอบชั้นบรรยากาศ และเคมีเชิงแสงของก๊าซและละอองลอย วัดรายละเอียดการแผ่รังสี ส่งสัญญาณระยะไกลของโอโซนและละอองลอย

บรา คิง แอร์ 350 (BRRAA King Air 350) /เครื่องบินในโครงการทำฝนหลวงของไทย
สำหรับใช้ศึกษาสภาพอากาศตั้งแต่พื้นผิวขึ้นไปถึงชั้นบรรยากาศโทรโพสเฟียร์ตอนบน มีเพดานบิน 10 กิโลเมตร พิสัย 1,700 ไมล์ทะเล มีความทนในการบิน 6 ชั่วโมง มีหน้าที่ในการวัดความเข้มข้นของอนุภาคและองค์ประกอบขนาดเล็กในเมฆ รวมถึงละลองลอยและความหนาเข้มข้นของนิวเคลียสที่ทำให้เมฆก่อตัว
เครื่องบิน นาซาดีซี-8 ซึ่งใช้ในการศึกษาเฮอริเคนด้วย
เครื่องบินนาซาอีอาร์-2 ซึ่งใช้ในการศึกษาเฮอริเคนด้วย
เครื่องบินเอ็นเอสเอฟ/เอ็นซีเออาร์ จีวี

กำลังโหลดความคิดเห็น