xs
xsm
sm
md
lg

นาซาบินอู่ตะเภาอาจได้หลักฐานยืนยันภูมิภาคนี้ชอบเผา

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

เครื่องบินที่ รศ.ดร.นริศราเคยขึ้นบินศึกษาชั้นบรรยากาศร่วมกับนาซา
นักวิทยาศาสตร์ไทยที่ร่วมในโครงการนาซาบินศึกษาชั้นบรรยากาศจาก “อู่ตะเภา” แจงงานนี้โปร่งใส ตรวจสอบได้และเป็นงานวิทยาศาสตร์จริงๆ ชี้ไทยได้ประโยชน์จากข้อมูลที่ต้องลงทุนมหาศาล เพราะไม่สามารถซื้อหาเครื่องมือเองได้ และอาจได้ข้อมูลยืนยัน “ละอองลอย” จากการเผาของคนในภูมิภาคนี้ส่งผลกระทบต่อภูมิอากาศโลก

คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ร่วมกับคณะวิศวกรรมศาสตร์ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณมหารลาดกระบัง และคณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร จัดเสวนา “นาซาจะมาทำอะไรที่อู่ตะเภา” เมื่อวันที่ 25 มิ.ย.55 ณ คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ท่ามกลางความสนใจจากสื่อมวลชนจำนวนมาก และทีมข่าววิทยาศาสตร์ ASTV-ผู้จัดการออนไลน์ ได้ร่วมฟังเสวนาในครั้งนี้ด้วย

รศ.ดร.เสริม จันทร์ฉาย จากภาควิชาฟิสิกส์ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร ผู้มีประสบการณ์วิจัยละอองลอย (aerosol) กว่า 10 ปี และได้ประสานงานกับองค์การบริหารการบินอวกาศสหรัฐ (นาซา) ในการศึกษาชั้นบรรยากาศมาหลายครั้ง อธิบายถึงการขอใช้สนามบินอู่ตะเภาของนาซาว่า เกิดจากลักษณะพิเศษของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่มีการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจที่รวดเร็ว และประชากรในพื้นที่มีพฤติกรรม “ชอบเผา” ทำให้เกิดฝุ่นละอองลอยในชั้นบรรยากาศที่ส่งผลกระทบต่อภูมิอากาศ หากแต่ไม่เคยมีการศึกษาในภูมิภาคนี้มาก่อน

การศึกษาดังกล่าวอยู่ภายใต้โครงการซีเครส (SEAC4RS) ซึ่งเป็นการศึกษาความเชื่อมโยงระหว่างองค์ประกอบของอากาศและเมฆในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่มีผลต่อภูมิอากาศ ซึ่งเริ่มเมื่อปี 2553 โดยในปี 2548 นาซาได้ตั้งโครงการเซเวนซีส์ (7-SEAS) เพื่อศึกษาวิจัยสภาวะบรรยากาศในภูมิภาคนี้ และมี 7 ประเทศเข้าร่วม ได้แก่ ไทย เวียดนาม มาเลเซีย สิงคโปร์ อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ และไต้หวัน

จากการประชุมเป็นครั้งที่ 5 ในโครงการเซเวนซีส์ ณ กรุงฮานอย เวียดนาม จึงมีมติในการศึกษาฝุ่นละอองในภูมิภาคนี้โดยให้ไทยเป็นศูนย์กลางเนื่องจากมีความเหมาะสมด้านสนามบินและมีหน่วยงานพร้อมให้การสนับสนุน ซึ่ง รศ.ดร.เสริมกล่าวว่าเดิมกำหนดให้เป็นสนามบินสุราษฎร์ธานี แต่พบว่ามีทางขึ้นลงสั้นไม่เหมาะกับเครื่องบินที่มีปีกยาว จึงพยายามหาสนามบินอื่นๆ เช่น สนามบินดอนเมือง สนามบินสุวรรณภูมิ เป็นต้น แต่สนามบินเหล่านั้นมีการจราจรทางอากาศที่คับคั่ง สุดท้ายจึงได้เลือกสนามบินอู่ตะเภา

รศ.ดร.เสริมกล่าวว่า ละลองลอยหรือฝุ่นละอองนั้นมีผลกระทบทางบรรยากาศใหญ่หลวงมาก เพราะการที่ไอน้ำจะรวมตัวเป็นเมฆได้นั้นต้องมี “แกนกลาง” (nucleus) ซึ่งต้องอาศัยฝุ่นละอองเป็นแกนกลาง แต่ฝุ่นละอองเหล่านั้นก็มีทั้งที่ดูดกลืนแสงอาทิตย์ ทำให้ร้อนและเกิดการเสียสมดุล หรือหากกระเจิงแสงสะท้อนออกไปก็จะทำให้แสงเดินทางมาไม่ถึงโลก ก็เสียสมดุล นอกจากนี้มีทฤษฎีว่าหากมีฝุ่นเยอะเกินไปก็ทำให้ไม่เกิดเมฆได้ หรือฝุ่นละอองมากก็อาจทะให้ฝนมากได้เช่นกัน

ในการศึกษาชั้นบรรยากาศนั้นจะทำเป็น “เคมเปญ” (Campeign) คือทำการทดลองเป็นระยะเวลาสั้นๆ ซึ่งการประชุมที่ฮานอยได้ข้อสรุปว่าต้องทำเคมเปญใหญ่โดยต้องใช้เครื่องวัด 3 อย่าง คือ ดาวเทียม เครื่องบิน และเครื่องวัดภาคพื้นดิน ทำงานประสานกัน ในส่วนของเครื่องบินนั้นมีการดัดแปลงและติดตั้งอุปกรณ์เซนเซอร์ภายในตู้คอนเทนเนอร์ ส่วนภาคพื้นมีอุปกรณ์วัดแสงมูลค่าเครื่องละกว่า 1.5 ล้านบาทและมีการตัดตั้งอุปกรณ์ภาคพื้นที่แท่นขุดเจาะน้ำมันในอ่าวไทยด้วย

ประโยชน์ที่ได้จากโครงการนี้ รศ.ดร.เสริมกล่าวว่า ไทยจะได้ข้อมูลที่ปกติไม่สามารถทำได้เองเพราะอุปกรณ์ที่ใช้มีมูลค่าแพงมาก และในการทดลองครั้งนี้ต้องใช้งบประมาณสำหรับการขึ้นบินแต่ละครั้งสูงถึง 45 ล้านบาท ซึ่งหากโครงการนี้ไม่ได้รับการอนุมัติย่อมส่งผลเสียหายร้ายแรงต่อนาซา เพราะนาซาไม่มีแผนสำรอง และล้มโครงการไปเลย ดังนั้น เหตุใดเราจึงไม่ทำโครงการนี้ซึ่งมีความโปร่งใส ตรวจสอบได้ และเราไม่มีศักยภาพทำเอง แต่มีคนมาทำให้ฟรี

ส่วนสิ่งที่นาซาจะได้โครงการนี้นั้น รศ.ดร.เสริมกล่าวว่า นาซาให้ความสนใจในเรื่องนี้เป็นอย่างมาก เพราะภัยในศตวรรษที่ 21 คือภัยจากบรรยากาศที่จะทำให้เกิดความเสียหายต่อมนุษยชาติ จึงต้องทำความเข้าใจการกระทำของมนุษย์ว่ามีผลกระทบต่อชั้นบรรยากาศอย่างไร และผลจากการศึกษาครั้งนี้จะนำไปสู่การลงนามสนธิสัญญาเหมือนกรณีการศึกษาชั้นโอโซนที่พบว่ากระทำของมนุษย์ส่งผลให้เกิดรอยรั่วได้ และครั้งนี้เป็นไปได้ว่าภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้อาจต้องรับผิดชอบต่อการทำให้ละอองลอยสู่ชั้นบรรยากาศ

“เป็นที่ชัดเจนว่าคาร์บอนเป็นตัวการของโลกร้อน แต่ยังไม่ชัดเจนว่าละอองลอยส่งผลกระทบอย่างไร ซึ่งหากมีหลักฐานยืนยันเราเองก็ต้องมีส่วนรับผิดชอบต่อโลกใบนี้” รศ.ดร.เสริมกล่าว

ทางด้าน ดร.นริศรา ทองบุญชู จากภาควิชาวิศวกรรมเคมี คณะวิศวกรรมศาสตร์ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง ผู้มีประสบการณ์ร่วมบินกับนาซาเพื่อเก็บตัวอย่างชั้นบรรยากาศในปี 2544 และ 2548 แจงว่าในช่วง 2 เดือนของการทดลองนาซาซึ่งเดิมมีแผนต้องเดินทางและขนอุปกรณ์เข้ามาในไทยตั้งแต่เดือน พ.ค.ที่ผ่านมานั้นจะทำการบินทั้งหมด 20 ครั้ง โดยจะบินออกไปยังน่านน้ำสากลเป็นรัศมีไกล 5,000 กิโลเมตร

การบินสำรวจของนาซานั้นจะขึ้นไปถึงชั้นบรรยากาศสตราโทสเฟียร์ ซึ่ง รศ.ดร.เสริมอธิบายว่าชั้นบรรยากาศดังกล่าวเป็นชั้นที่ไม่มีเมฆ และพบว่าที่ชั้นดังกล่าวฝุ่นละอองสามารถค้างอยู่ได้นานหลายปีและส่งผลกระทบต่อภูมิอากาศโลก นอกจากนี้ยังมีภาพดาวเทียมที่แสดงให้เห็นว่าฝุ่นละอองจากเกาะสุมาตราฟุ้งกระจายไปไกล แต่เรายังไม่ทราบถึงกลไกการกระจายตัวของฝุ่นละอองเหล่านั้น และเป็นไปได้ว่ามีผลกระทบต่อภัยแล้งหรือน้ำท่วม ซึ่งหากไม่ทราบกลไกดังกล่าวอาจส่งผลถึงหายนะได้

พร้อมกันนี้ ดร.นริศราได้กล่าวถึงข้อดีของโครงการว่า จะได้ข้อมูลคุณภาพของเขตอุตสาหกรรมแหลมฉบังและมาบตาพุด ซึ่งจะนำมาใช้บริหารจัดการสภาพอากาศในเขตอุตสาหกรรมได้ และยังได้ข้อมูลที่ช่วยทำนายการเกิดฝนในประเทศไทยได้ดีขึ้น นอกจากนี้ยังได้เปิดโอกาสให้นักวิจัยรุ่นใหม่ๆ ได้มีโอกาสเข้าร่วมโครงการระดับโลกนี้ด้วย
นักวิทยาศาสตร์ในโครงการนาซาตรวจเช็คอุปกรณ์ขณะเครื่องบินกำลังบินเก็บข้อมูลสำรวจชั้นบรรยากาศ
ดร.เสริม จันทร์ฉาย
รศ.ดร.นริศรา ทองบุญเกิด
กำลังโหลดความคิดเห็น