คณะวิทย์ จุฬาฯ เผยอาจารย์จากรั้วจามจุรีมีส่วนในงานวิจัยพิสูจน์ว่าอนุภาค "ฮิกกส์" มีจริง แม้จะเป็นเพียงส่วนเล็กๆ ของนักวิทยาศาสตร์กว่า 3,000 คนจากเซิร์นที่ร่วมพิสูจน์ แต่ก็มีความสำคัญอ
จดหมายข่าวจากคณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เผยว่านักวิจัยจากคณะได้มีส่วนร่วมในทีมนักวิทยาศาสตร์ขององค์กรความร่วมมือวิจัยนิวเคลียร์ยุโรป หรือเซิร์น (CERN) ในการพิสูจน์การมีอยู่ของอนุภาคฮิกกส์โบซอน ซึ่งเป็นผลงานรางวัลโนเบลปีล่าสุด
ทั้งนี้ รางวัลโนเบล สาขาฟิสิกส์ ประจำปี 2556 ได้มอบให้แก่ ศ.ดร. ฟรองซัวส์ อองแกลร์ต (François Englert) จากมหาวิทยาลัยลิเบร เด บรุกเซเล (Université Libre de Bruxelles) ประเทศเบลเยียม และ ศ.ดร.ปีเตอร์ ฮิกส์ (Peter Higgs) จากมหาวิทยาลัยเอดินบะระ (Edinburgh University) สหราชอาณาจักร จากการค้นพบอนุภาค ฮิกส์ โบซอน
ในเอกสารประกาศเชิดชูเกียรติระบุไว้ชัดเจนว่า ผลงานที่ทำให้ได้รับรางวัลระดับโลกครั้งนี้ เกิดจากการเสนอทฤษฎี เมื่อ 49 ปี ที่ผ่านมาว่า กลไกการกำเนิดมวลของสสารในจักรวาลนั้น เกี่ยวข้องกับอนุภาคมูลฐานทางฟิสิกส์ชนิดหนึ่ง ซึ่งทฤษฎีดังกล่าวได้รับการพิสูจน์ยืนยันโดยเซิร์น ซึ่งตีพิมพ์ในวารสารวิจัย (Phys.Lett. B) และไซน์ (Science) ในปี 2555 ว่าอนุภาคมูลฐานชนิด นั้นมีอยู่จริง และเป็นที่รู้จักกันในชื่อว่า อนุภาคฮิกส์โบซอน
"ที่น่าภาคภูมิใจคือ ในบทความวิจัยดังกล่าวมีชื่อนักวิทยาศาสตร์ไทยและชื่อจุฬาฯ ร่วมอยู่ด้วย ได้แก่ ผศ.ดร.บุรินทร์ อัศวพิภพ และ ดร.นรพัทธ์ ศรีมโนภาษ จากภาควิชาฟิสิกส์ คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย" จดหมายข่าวจากคณะวิทย์ จุฬา ระบุ
ปัจจุบัน จุฬาฯ ได้ติดตั้งเครือข่ายคอมพิวเตอร์ที่สามารถทำให้นักวิจัยจากจุฬาฯ สามารถเข้าไปใช้ข้อมูลกลางที่เซิร์นได้โดยตรง ร่วมกับนักวิจัยจากประเทศอื่นๆอีกหลายพันคน โดยเซิร์นได้มีการแบ่งงานเป็นกลุ่มๆ
"ในแต่ละครั้งที่มีการค้นพบสิ่งใหม่ๆ จะส่งผลงานลงตีพิมพ์ในวารสารวิจัยระดับนานาชาติ โดยมีเงื่อนไขว่า ต้องมีชื่อนักวิจัยและชื่อสถาบันฯของทุกคนในกลุ่ม เช่น วารสารที่ค้นพบอนุภาคฮิกส์ข้างต้น มีชื่อผู้ร่วมวิจัยกว่า 3000 คนจาก 39 ประเทศ และอาจารย์ จากจุฬาฯ ก็เป็น 2 คนจาก สมาชิก 3,000 คนด้วย นับเป็นส่วนร่วมที่หลายคนอาจมองว่าเล็กน้อย แต่นับเป็นจุดเล็กๆของความสำเร็จที่ยิ่งใหญ่ในวงการฟิสิกส์โลก" อ้างตามข้อความในจดหมายข่าว
นอกจากนี้ แม้ไม่เกี่ยวกับผลงานที่ได้รับรางวัลโนเบล แต่ ผศ.ดร.อรรถกฤต ฉัตรภูติ จากภาควิชาฟิสิกส์ คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาฯ ได้ทำงานวิจัยร่วมกับ ศ.ดร.ฟรองซัวส์ อองแกลร์ต ซึ่งเป็นหนึ่งในผู้ได้รับรางวัลโนเบลปีนี้ โดยเมื่อครั้งเป็นนักศึกษาปริญญาเอกอยู่ที่ มหาวิทยาลัยเดอแรห์ม (University of Durham) อังกฤษ ระหว่างปี 2544-2545
ผศ.ดร.อรรถกฤตได้มีโอกาสพบและช่วยงาน ศ.ดร.อองแกลร์ต และได้รับโอกาสให้ตีพิมพ์ผลงานวิชาการร่วมกัน 2 ฉบับ ซึ่งเป็นงานวิจัยเกี่ยวกับหลักการพื้นฐานของทฤษฎีสตริง โดยได้ตีพิมพ์ในวารสาร J. High. Ener. Phys. ปี 2546 และวารสาร Class.Quant.Grav.ปี 2546 โดยชื่อ ผศ. ดร. อรรถกฤต เป็นชื่อแรกทั้งสองบทความ
"อีกทั้งเมื่อปี 2547 ศ.อองแกลร์ต ยังได้เคยมาเยี่ยมคณะวิทยาศาสตร์ เพื่อเข้าร่วมการประชุมวิชาการ และที่น่าสนใจก็คือ ในวันสุดท้ายของการประชุม ท่านก็ได้ทราบข่าวว่าเป็นผู้ได้รับรางวัล Wolf prize in Physics ของปีนั้น ซึ่งถือกันว่าเป็นรางวัลที่มีความสำคัญเป็นอันดับรองจากรางวัลโนเบล" ข้อมูลจากจดหมายข่าวระบุ
ทางด้าน ศ.ดร.ฮิกกส์ ซึ่งได้รับการเก็งว่าจะคว้ารางวัลโนเบลมาหลายปี อีกทั้งเมื่อปีที่ผ่านมาเขายังไปร่วมบุ้นผลโนเบลที่เซิร์นด้วย แต่ปีล่าสุดคณะกรรมการรางวัลกลับติดต่อเขาไม่ได้หลังประกาศผลรางวัลแล้ว และเขาได้กล่าวแก่บีบีซีนิวส์ว่า ไม่ทราบว่าตัวเองได้รับรางวัล จนกระทั่งมีคนมาแสดงความยินดีระหว่างเขาเดินอยู่ในแหล่งสาธารณะ และนักฟิสิกส์วัย 84 ปีผู้นี้เผยว่าจะเกษียณตัวเองเมื่ออายุครบ 85 ปีด้วย
ขณะที่ ศ.ดร.รอล์ฟ ฮอยเออร์ (Rolf Heuer) ผู้อำนวยการใหญ่ของเซิร์น ที่เพิ่งเดินทางมาเยือนไทยหลังการประกาศผลรางวัลโนเบล เผยว่าการค้นพบอนุภาคฮิกกส์ อาจเป็นประตูสู่ความเข้าใจสสารมืดและพลังงานมืดที่มีอยู่ในเอกภพอีกกว่า 95% หรือกล่าวได้ว่าเป็นเงื่อนงำไปสู่ "เอกภพมืด" ที่เรายังไม่รู้จัก