xs
xsm
sm
md
lg

ศัตรูตัวใหญ่ที่สุดของอเมริกาก็คือตัวเอง

เผยแพร่:   โดย: ราล์ฟ เอ คอสซา

(เก็บความจากเอเชียไทมส์ออนไลน์ www.atimes.com)

America’s greatest enemy is itself
By Ralph A Cossa
07/10/2013

ขณะที่ยุทธศาสตร์ “ปักหมุดในเอเชีย” ของสหรัฐฯ กำลังทำให้ความน่าเชื่อถือของอภิมหาอำนาจรายนี้ได้รับความสนใจจับตามองอย่างกว้างขวาง ทว่าการเล่นเกมการเมืองชิงไหวชิงพริบกันในกรุงวอชิงตัน ก็กำลังกลายเป็นอุปสรรคที่ขัดขวางไม่ให้แผนการใหญ่นี้บรรลุความสำเร็จ สหรัฐฯใช้ความพยายามอย่างทรงพลังยิ่งเพื่อโน้มน้าวชักชวนชาติอื่นๆ ให้บังเกิดความมั่นอกมั่นใจว่า ยุทธศาสตร์เอเชียของตนนั้นบรรจุเอาไว้อย่างเพียบพร้อมแข็งแกร่งทั้งมิติทางด้านเศรษฐกิจ, การเมือง, และการทหาร แต่แล้วสภาวะการเผชิญหน้ากันในรัฐสภาอเมริกัน กลับกลายเป็นการส่งข้อความที่มีความหมายไปในทางตรงกันข้าม

บันทึกส่งถึงสมาชิกรัฐสภาสังกัดพรรครีพับลิกัน: ยังจำได้ไหมถึงคำพูดของประธานาธิบดีโรนัลด์ เรแกน ที่พูดถึง (การสร้างอเมริกาให้เป็นเสมือนนครที่พระเยซูกล่าวถึงในคำเทศนาที่ว่า) “นครอันสาดแสงไฟเรืองรองบนภูเขา”? พวกคุณนี่แหละคือผู้ที่เพิ่งจะดับแสงไฟเหล่านั้นทิ้งไป

บันทึกถึงส่งประธานาธิบดีโอบามา: ยังจำได้ไหมถึงยุทธศาสตร์ “ปักหมุด” ในเอเชีย ("pivot" to Asia) ของคุณ? ความน่าเชื่อถือของนโยบายนี้กำลังจางคลายลดฮวบลงไปอย่างรวดเร็วยิ่งกว่าเรตติ้งความนิยมของประชาชนอเมริกันที่มีต่อรัฐสภาเสียอีก

ขณะที่ชาวพรรคเดโมแครตและชาวพรรครีพับลิกันกำลังประลองทดสอบ “ความใจถึง” ของอีกฝ่ายหนึ่ง ตลอดจนกำลังเล่นเกมการเมืองชิงไหวชิงพริบมุ่งเพิ่มอำนาจให้พวกตนเองอย่างชนิดที่ไม่ได้สร้างประโยชน์โภชน์ผลอะไรให้ประชาชนเอาเลยอยู่นี้ ดูเหมือนไม่มีใครที่รู้สึกวิตกกังวลว่า สภาวการณ์เช่นนี้กำลังสร้างความเสียหายอย่างล้ำลึกให้แก่ภาพลักษณ์ในต่างแดนของอเมริกา กำลังสร้างความเสียหายให้แก่ “อำนาจละมุน” (soft power) ของเรา ซึ่งก็คือ เสน่ห์ดึงดูดใจแห่งอุดมการณ์, ค่านิยม, และระบบการเมืองของอเมริกา พวกเราจำเป็นที่จะต้องเลิกรวมศูนย์สนใจอยู่แต่ในประเด็นที่ว่าใครกันคือผู้ที่ “กำลังเป็นฝ่ายชนะ” ระหว่างโอบามากับรีพับลิกัน, ระหว่างทำเนียบขาวกับรัฐสภา ฯลฯ แล้วหันมาขบคิดพิจารณาประเด็นที่ว่าใครกันคือผู้ที่กำลังพ่ายแพ้สูญเสีย เพราะเอาเข้าจริงแล้ว ผู้ที่กำลังพ่ายแพ้สูญเสียก็คืออเมริกันทุกๆ ฝ่ายทุกๆ คน และโดยเฉพาะอย่างยิ่ง ภาพลักษณ์ของอเมริกาในสายตาของคนอื่นๆ ในโลกใบนี้

ไม่ใช่ครับ ข้อเขียนชิ้นนี้ไม่ใช่ข้อเขียนอีกชิ้นหนึ่งที่ต้องการป่าวร้องว่าความไร้สมรรถภาพของอเมริกากำลังช่วยเหลือปักกิ่งให้สามารถทอดเงาบดบังสหรัฐฯทั้งในเอเชียและที่อื่นๆ ในโลกกันอย่างไร หนังสือพิมพ์ต่างๆ เต็มไปด้วยคำเตือนทำนองนี้อยู่แล้ว และส่วนใหญ่แล้วพวกเขาก็พูดออกมาได้ถูกต้อง เพียงแต่ว่าผิวเผินตื้นเขินเกินไป และมุ่งเน้นหนักไปยังสิ่งที่มิใช่ปัญหาหลัก ยังไม่มีใครในเอเชียหรอกที่เมื่อตื่นนอนลุกขึ้นมาในตอนเช้าแล้วก็บังเกิดความปรารถนาที่จะให้รัฐบาลของพวกเขาปฏิบัติต่อพวกเขาเสมือนกับที่จีนกำลังปฏิบัติต่อพลเรือนของพวกตน ยังไม่มีใครแม้กระทั่งในประเทศที่ใช้ระบอบปกครองประชาธิปไตยครึ่งๆ กลางๆ ซึ่งถวิลหากรมการเมือง (politburo) ที่จะคอยบอกกล่าวบงการพวกเขาว่าจะต้องคิดถึงอะไรและจะต้องทำอะไรบ้าง น้อยคนเต็มทีที่กำลังเข้าแถวเพื่อจัดส่งครอบครัวของพวกเขาไปยังเมืองจีนด้วยจุดมุ่งหมายที่จะเสาะแสวงหาชีวิตที่ดีกว่าในปัจจุบัน (เว้นเสียแต่ว่าความคิดของคุณเกี่ยวกับชีวิตที่ดีกว่านั้น หมายถึงการที่จะต้องมีความเสี่ยงเพิ่มมากขึ้นว่าอาจจะล้มป่วยด้วยอาการระบบทางเดินหายใจ)

ทว่าก็มีน้อยคนเต็มทีเช่นกันที่ยังคงจับจ้องเฝ้ามองสหรัฐฯในฐานะที่เป็นแบบอย่างอันน่ายกย่องน่าเดินตาม บทบาทของอเมริกันในฐานะที่เป็นผู้นำรายหนึ่งของโลก ยังกำลังเปรอะเปื้อนมัวหมองถึงขนาดที่บางทีอาจจะไม่มีทางแก้ไขซ่อมแซมให้กลับดีขึ้นได้อีกแล้ว ขณะที่สภาพเช่นนี้อาจจะส่งผลดีในการทำให้เราต้องยุติการเทศนาสั่งสอนอย่างเย่อหยิ่งอวดฉลาดต่อชาติอื่นๆ ในโลก ทว่ามันก็กำลังทำให้ชาติอื่นๆ ในโลกเลิกรับฟังเราเช่นเดียวกัน แม้กระทั่งเหล่านักการทูตผู้ผ่านการฝึกฝนอบรมมาอย่างยอดเยี่ยมที่สุดของเราก็ยังประสบความยุ่งยากเมื่อพยายามที่จะโน้มน้าวชักชวนให้ชาติอื่นๆ เห็นดีเห็นงามว่าพวกเขาควรที่เป็นอย่างเรา ให้ชาติอื่นๆ เห็นดีเห็นงามว่าระบบของสหรัฐฯยังคงมีคุณค่าน่าลอกเลียนแบบ ผู้ที่พยายามกระทำเช่นนั้นกลับกำลังประสบกับการถูกหัวเราะเยาะใส่หน้า ขอบคุณมากนะครับ แต่ไม่ใช่อเมริกาอีกต่อไปแล้ว พวกเขากำลังมุ่งมองเสาะแสวงหายังที่อื่นๆ ซึ่งจะมาเป็นแบบอย่างของพวกเขาได้

ประธานาธิบดีและรัฐสภาของเรากำลังจับมือกันทำลายเครดิตความน่าเชื่อถือของสหรัฐฯในต่างแดน เมื่อประธานาธิบดีอเมริกันต้องประกาศงดการเดินทางไปเข้าร่วมการประชุมอันสำคัญมากในเอเชียถึง 2 งาน ซึ่งได้แก่ การประชุมระดับผู้นำของกลุ่มความร่วมมือทางเศรษฐกิจเอเชีย-แปซิฟิก (เอเปก) และการประชุมสุดยอดเอเชียตะวันออก (East Asia Summit) เพราะพวกเราไม่สามารถที่จะร่วมมือร่วมใจกันกระทำกิจการงานในบ้านของเราเอง มันก็ย่อมเป็นการเสริมสร้างภาพลักษณ์แห่งการเสื่อมโทรมตกต่ำของสหรัฐอเมริกา เฉพาะข้อเท็จจริงนี้ก็สมควรที่จะทำให้วอชิงตันต้องขบคิดใคร่ครวญให้จงหนัก โดยที่ยังไม่ต้องไปพิจารณาว่าประเทศจีนหรือว่าใครอื่นจะเป็นผู้ฉกฉวยได้ประโยชน์

หนึ่งในแกนกลางของยุทธศาสตร์ปักหมุดในเอเชียก็คือ อเมริกาจะต้องเดินหน้าผลักดันข้อตกลงหุ้นส่วนยุทธศาสตร์ทางเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก (Trans-Pacific Partnership หรือ TPP) ซึ่งมีจุดมุ่งหมายอันกว้างขวางยาวไกลที่ทำให้เนื้อหาของข้อตกลงฉบับนี้ กลายเป็น “มาตรฐานทองคำ” สำหรับการทำข้อตกลงทางการค้าทั้งหลายทั้งปวงในเอเชียและในที่อื่นๆ ต่อไปในอนาคต ถึงเวลานี้จะมีใครอีกหรือที่ยังคงเชื่อว่าประธานาธิบดีโอบามาจะสามารถผลักดันข้อตกลงทางการค้าใดๆ ก็ตามทีให้รัฐสภาชุดนี้รับรองให้สัตยาบันได้สำเร็จ

คณะรัฐบาลชุดนี้ได้ลงแรงใช้ความพยายามอย่างทรงพลังยิ่ง ทว่ายังคงประสบความสำเร็จเพียงจำกัด ในการโน้มน้าวชักชวนให้ชาติอื่นๆ มองเห็นว่ายุทธศาสตร์ปักหมุดนั้นมีมิติอันหลากหลายเพียบพร้อม โดยบรรจุเอาไว้อย่างแข็งแกร่งทั้งในเรื่องทางเศรษฐกิจ, การเมือง, และการทหาร อย่างไรก็ตาม การที่ประธานาธิบดีโอบามากลับล้มเหลวไม่สามารถไปแสดงตัวในการประชุมทางการเมืองและเศรษฐกิจอันสำคัญที่สุดของภูมิภาคถึง 2 งานเช่นนี้ ย่อมมีแต่จะกลายเป็นการส่งข้อความที่มีความหมายไปในทางตรงกันข้ามเท่านั้น

เมื่อรัฐมนตรีกลาโหมสหรัฐฯ ปรากฏตัวในเกาหลีใต้พร้อมด้วยคณะผู้ติดตามที่เต็มไปด้วยนายทหารอาวุโสระดับนายพลสี่ดาว แล้วจากนั้นก็เดินทางต่อไปร่วมสมทบกับรัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐฯในญี่ปุ่นเพื่อปรึกษาหารือกับคู่เจรจาในประเทศพันธมิตรเหล่านี้ แต่ปรากฏว่าคำถามแรกๆ ที่คณะผู้แทนระดับสูงของสหรัฐฯได้รับก็คือคำถามที่ว่าสหรัฐฯมีความมุ่งมั่นที่จะผูกพันกับภูมิภาคนี้อย่างจริงจังมากน้อยแค่ไหน? คุณก็ย่อมทราบเป็นอันดีแล้วว่าข้อความที่สหรัฐฯพยายามส่งออกไปนั้น เป็นข้อความที่ส่งไปไม่ถึงผู้รับ หรือหาไม่ผู้รับก็ยังคงไม่เชื่อข้อความดังกล่าว

ครั้งหนึ่ง ชาวเอเชีย (เฉกเช่นเดียวกับชาวประเทศอื่นๆ ในโลก) เคยเสาะแสวงหาและเดินตามการนำของอเมริกันอย่างกระตือรือร้น พวกเขายังควรที่จะเสาะแสวงหาและเดินตามเช่นนั้นต่อไปอีก ถ้าหากพวกเขาเชื่อว่าวอชิงตันมีความสามารถในการนำ ทว่าเราจะสามารถนำคนอื่นๆ ได้อย่างไรกันในเมื่อกระทั่งการบริหารจัดการตัวเราเองเราก็ยังไม่สามารถกระทำได้เสียแล้ว?

ในสมัยที่ผมยังเป็นเด็ก เราเคยมีตัวการ์ตูนชื่อโด่งดังตัวหนึ่งซึ่งมีนามว่า “โปโก” (Pogo) คำพูดซึ่งมีชื่อเสียงที่สุดของเขาก็คือ “เราได้เผชิญกับศัตรูแล้ว และศัตรูที่ว่านี้ก็คือตัวเราเองนี่แหละ” เป็นอีกครั้งหนึ่งที่ พวกผู้ทรงอำนาจในวอชิงตัน ไม่ว่าจะเป็นเดโมแครตหรือรีพับลิกัน ไม่ว่าจะเป็นรัฐบาลหรือรัฐสภา ต่างก็กำลังพิสูจน์ให้เห็นว่า โปโก พูดเอาไว้ถูกต้องแล้ว

ราล์ฟ เอ คอสซา (Ralph@pacforum.org) เป็นประธานโปรแกรม แปซิฟิกฟอรัม (Pacific Forum) ของ ศูนย์เพื่อยุทธศาสตร์และการระหว่างประเทศศึกษา (Center for Strategic and International Studies หรือ CSIS) กรุงวอชิงตัน

ข้อเขียนนี้มาจาก “แพกเน็ต” (PacNet) จดหมายข่าวของ แปซิฟิกฟอรัม CSIS
กำลังโหลดความคิดเห็น