xs
xsm
sm
md
lg

ผอ.เซิร์นเข้ารับพระราชทานปริญญาดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี - สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี โปรดเกล้าฯ ให้คณะผู้บริหารมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี นำผู้อำนวยการใหญ่องค์การวิจัยเซิร์น เข้ารับพระราชทานปริญญาดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์

เมื่อวันที่ 10 ต.ค. เวลา 17.30 น. สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรง พระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ ศาสตราจารย์ ดร.วิจิตร ศรีสอ้าน นายกมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี (มทส.) ศาสตราจารย์ ดร.ประสาท สืบค้า อธิการบดี พร้อมด้วยคณะผู้บริหารนำ ศ.รอล์ฟ ดีเทอร์ ฮอยเออร์ (Professor Rolf-Dieter Heuer) ผู้อำนวยการใหญ่องค์กรความร่วมมือระหว่างประเทศในทวีปยุโรปเพื่อวิจัยและพัฒนานิวเคลียร์ (European Organization for Nuclear Research) หรือ เซิร์น (CERN) เข้ารับพระราชทานปริญญาวิทยาศาสตรดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ สาขาฟิสิกส์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี

สภามหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี ได้มีมติเป็นเอกฉันท์มอบปริญญาวิทยาศาสตรดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ สาขาวิชาฟิสิกส์ แก่ ศ.รอล์ฟ ดีเทอร์ ฮอยเออร์ นักฟิสิกส์อนุภาคชาวเยอรมัน ผู้มีบทบาทสำคัญในการพัฒนาเครื่องเร่งอนุภาคแอลเอชซี (Large Hadron Collider: LHC) ซึ่งเป็นเครื่องเร่งอนุภาคที่ใหญ่และมีพลังงานสูงที่สุดที่มนุษย์ได้สร้างขึ้น ส่งผลให้เซิร์น ประสบความสำเร็จในการทำการวิจัยทดลองเพื่อค้นหาอนุภาค ฮิกกส์” (Higgs particle) ซึ่งเป็นอนุภาคมูลฐานที่ยังไม่เคยมีใครค้นพบมาก่อน นับตั้งแต่มีการตั้งสมมติฐานเรื่องการมีอยู่ของอนุภาคนี้เมื่อ 45 ปีที่แล้ว



นับแต่เมื่อเดือน มี.ค.52 ศ.รอล์ฟ ดีเทอร์ ฮอยเออร์ ได้กราบบังคมทูลเชิญ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จฯ เยือนเซิร์น หลังจากนั้นได้สนับสนุนโครงการในพระราชดำริที่เกี่ยวกับเซิร์น อาทิ โครงการคัดเลือกนักศึกษาและครูสอนฟิสิกส์ไทยเพื่อเข้าร่วมโปรแกรมภาคฤดูร้อนเซิร์น โครงการส่งเสริมนักเรียนระดับมัธยมศึกษาตอนปลายด้านวิทยาศาสตร์และคณิตศาสตร์เข้าเยี่ยมชม โครงการส่งเสริมนักศึกษาปริญญาโทและปริญญาเอก รวมทั้งนักวิจัยไทยไปทำงานวิจัยและพัฒนาให้เกิดการทำวิจัยร่วม กับเซิร์น เป็นต้น 

อีกทั้ง ศ.ฮอยเออร์ยังได้สนับสนุนให้นักวิทยาศาสตร์ของไทยมีโอกาสทำงานวิจัยร่วมกับหน่วยงานวิจัยต่างๆ ของเซิร์น โดยเฉพาะอย่างยิ่งการเปิดโอกาสให้คณาจารย์มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี ได้ทำงานวิจัยร่วมกับสถานีตรวจวัดอนุภาคอลิซ (ALICE: A Large Ion Collider Experiment) ซึ่งเป็นห้องปฏิบัติการไอออนหนักจนนำไปสู่การลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือระหว่าง มทส. กับอลิซ เมื่อวันที่ 13 ธ.ค.55 ที่ผ่านมา โดยสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จประทับเป็นองค์ประธานในพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงดังกล่าว นับเป็นประโยชน์อย่างยิ่งต่อการพัฒนาด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีของไทยต่อไปในอนาคต

“...ศาสตราจารย์ รอล์ฟ ดีเทอร์ ฮอยเออร์...นอกจากท่านจะเป็นผู้มีความรู้ มีความสามารถสูง และประสบความสำเร็จในหน้าที่การงานแล้ว ท่านยังได้พยายามแสวงหาแนวทางที่จะสนับสนุนและส่งเสริมให้เกิดความร่วมมือทาง ด้านวิทยาศาสตร์ขึ้นทั่วโลก ข้าพเจ้าหวังว่า ความพยายามนี้สามารถนำไปสู่ความเข้าใจอันดีระหว่างประเทศต่างๆ  ทำให้สามารถปฏิบัติงานร่วมกันได้โดยปราศจากข้อขัดแย้ง โดยมีหลักการทางวิทยาศาสตร์เป็นสิ่งที่เชื่อมโยงเข้าหากัน  สำหรับนักวิทยาศาสตร์ นักวิจัย ตลอดจนนักศึกษาจากประเทศไทยนั้น การได้รับการยอมรับให้เข้าไปมีส่วนร่วมในองค์กรทางวิทยาศาสตร์เช่นนี้ ถือเป็นการแสดงถึงมาตรฐานการศึกษาและคุณภาพของประชากรในประเทศได้อย่างดียิ่ง..”  ใจความตอนหนึ่งในพระพระราชดำรัสตอบ ในสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี

*****************

คำประกาศเกียรติคุณ
ศาสตราจารย์ รอล์ฟ ดีเทอร์ ฮอยเออร์ (Professor Rolf-Dieter Heuer)
วิทยาศาสตรดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ (ฟิสิกส์)
*******************************************

ศาสตราจารย์ รอล์ฟ ดีเทอร์ ฮอยเออร์ เป็นชาวเยอรมัน สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาโท สาขาฟิสิกส์ พ.ศ.2517 จากมหาวิทยาลัยสตุทท์การ์ท และระดับปริญญาเอก สาขาฟิสิกส์ พ.ศ. 2520 จากมหาวิทยาลัยไฮเดลเบิร์ก  ศาสตราจารย์ รอล์ฟ ดีเทอร์ ฮอยเออร์ ได้เริ่มปฏิบัติงานในโครงการความร่วมมือระหว่างประเทศญี่ปุ่น เยอรมนี และอังกฤษ (JADE) เพื่อสร้างวงแหวนกักเก็บอิเล็กตรอนกับโพซิตรอน หรือ PETRA  ณ  ศูนย์วิจัยแห่งชาติทางด้านฟิสิกส์พลังงานสูง DESY  เมืองฮัมบูร์ก ประเทศเยอรมนี   ซึ่งต่อมาใน พ.ศ. 2522 การทดลอง PETRA ได้ค้นพบหลักฐานสำคัญชิ้นแรกที่ยืนยันถึงการมีอยู่ของอนุภาคกลูออน ซึ่งเป็นอนุภาคที่เชื่อมโยงควาร์กให้อยู่ในรูปของอนุภาคโปรตอนและนิวตรอน

ศาสตราจารย์ รอล์ฟ ดีเทอร์ ฮอยเออร์ รับผิดชอบเป็นผู้ประสานงานการออกแบบและก่อสร้างระบบติดตามทางเดินของลำอนุภาคของเครื่องเร่งอนุภาคอิเล็กตรอนกับโพซิตรอน LEP ที่ CERN ใน พ.ศ. 2527 และเมื่อการก่อสร้างเสร็จสมบูรณ์ ศาสตราจารย์ รอล์ฟ ดีเทอร์ ฮอยเออร์ ได้รับการแต่งตั้งให้เป็นผู้ประสานงานการทำงานในช่วงเริ่มต้นระหว่าง พ.ศ. 2532-2535 หลังจากนั้น ปี พ.ศ. 2537 - 2541 ได้รับเกียรติให้เป็นโฆษกองค์กร หรือ Spokesperson ของ OPAL ซึ่งถือเป็นตำแหน่งผู้นำของการทดลองและมีหน้าที่ความรับผิดชอบในการดูแลและประสานงานความร่วมมือทางวิชาการของนักฟิสิกส์จำนวนหลายร้อยคน  ใน พ.ศ.2541 ได้เข้าร่วมพัฒนาหัววัดสำหรับตรวจจับการชนกันของอนุภาคอิเล็กตรอนกับโปรตอนที่เกิดจากเครื่องเร่งอนุภาค HERA ที่  DESY  ต่อมา พ.ศ. 2547 ศาสตราจารย์ รอล์ฟ ดีเทอร์ ฮอยเออร์ ได้รับการแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งเป็นผู้อำนวยการวิจัยสำหรับฟิสิกส์อนุภาคที่ DESY และมีบทบาทสำคัญในการสนับสนุนให้เกิดความร่วมมือทางการวิจัยระหว่าง DESY กับ CERN

ศาสตราจารย์ รอล์ฟ ดีเทอร์ ฮอยเออร์  ได้รับเลือกตั้งให้ดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการของ CERN ในเดือนธันวาคม พ.ศ. 2550 โดยเริ่มปฏิบัติหน้าที่ตั้งแต่เดือนมกราคม พ.ศ.2552 เป็นต้นมา ความสามารถในการประสานงานและดำเนินการอย่างมีประสิทธิภาพ ตลอดจนองค์ความรู้ในการออกแบบและพัฒนาระบบเครื่องเร่งอนุภาคอิเล็กตรอนกับโพซิตรอนของ ศาสตราจารย์ รอล์ฟ  ดีเทอร์ ฮอยเออร์ นี้ เป็นส่วนหนึ่งที่ส่งผลให้ CERN ประสบความสำเร็จในการค้นหาอนุภาค ‘ฮิกส์’ ซึ่งเป็นอนุภาคมูลฐานที่ยังไม่เคยมีใครค้นพบมาก่อน นับตั้งแต่มีการตั้งสมมติฐานเรื่องการมีอยู่ของอนุภาคนี้เมื่อ 45 ปีที่แล้ว โดยศาสตราจารย์ ปีเตอร์ ฮิกส์  ผลของการค้นพบครั้งนี้ ศาสตราจารย์ รอล์ฟ ดีเทอร์ ฮอยเออร์ ได้เป็นประธานในการนำเสนอ เมื่อวันที่ 4 กรกฎาคม 2555

ศาสตราจารย์ รอล์ฟ ดีเทอร์ ฮอยเออร์ ได้กราบบังคมทูลเชิญ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารีเสด็จเยือน CERN พร้อมทั้งได้ถวายการต้อนรับ เมื่อวันที่ 16 มีนาคม 2552 และยังได้สนับสนุนโครงการในพระราชดำริของสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี ที่เกี่ยวกับ CERN อาทิเช่น โครงการคัดเลือกนักศึกษาและครูสอนฟิสิกส์ไทยเพื่อเข้าร่วมโปรแกรมภาคฤดูร้อน CERN โครงการส่งเสริมนักเรียนระดับมัธยมศึกษาตอนปลายด้านวิทยาศาสตร์และคณิตศาสตร์เข้าร่วมเยี่ยมชมและเรียนรู้กิจกรรมของ CERN  โครงการส่งเสริมการจัดกิจกรรมวิชาการที่เกี่ยวข้องกับ CERN  โครงการส่งเสริมนักศึกษาปริญญาโทและปริญญาเอก รวมทั้งนักวิจัยไทยไปทำงานวิจัยที่ CERN และพัฒนาให้เกิดการทำวิจัยร่วมกับ CERN เป็นต้น  นอกจากนี้ยังช่วยสนับสนุนให้นักวิทยาศาสตร์ของไทยมีโอกาสทำงานวิจัยร่วมกับหน่วยงานวิจัยต่าง ๆ ของ CERN โดยเฉพาะอย่างยิ่งการเปิดโอกาสให้มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารีได้ทำงานวิจัยร่วมกับห้องปฏิบัติการไอออนหนัก ALICE (A Large Ion Collider Experiment) จนนำไปสู่การลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือระหว่างมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารีกับ ALICE เมื่อวันที่ 13 ธันวาคม 2555 โดยสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จประทับเป็นองค์ประธานในพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงดังกล่าว ณ วังสระปทุม กรุงเทพมหานคร ซึ่งจะเป็นประโยชน์อย่างยิ่งต่อการพัฒนาด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีของประเทศไทยต่อไปในอนาคต

มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารีตระหนักในความรู้ความสามารถของ ศาสตราจารย์ รอล์ฟ ดีเทอร์ ฮอยเออร์ สภามหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารีจึงมีมติเป็นเอกฉันท์มอบปริญญาวิทยาศาสตรดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ (ฟิสิกส์) แก่ ศาสตราจารย์ รอล์ฟ ดีเทอร์ ฮอยเออร์ เพื่อเป็นเกียรติประวัติสืบไป







กำลังโหลดความคิดเห็น