ชีวิตจริงยิ่งกว่านิยายไซ-ไฟ ... นักวิทยาศาสตร์ดัตช์พร้อมเสิร์ฟเบอร์เกอร์เนื้อวัวที่ได้จากการเพาะเลี้ยงสเต็มเซลล์ในแล็บ ชี้ใช้พลังงานน้อย ใช้พื้นที่น้อยกว่า แล้วยังปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกน้อยกว่าวิถีเลี้ยงวัวแบบเดิมๆ
บีบีซีนิวส์รายงานว่ากำหนดแถลงข่าวที่ลอนดอนในวันจันทร์ตามเวลาท้องถิ่นของทีมนักวิทยาศาสตร์จากเนเธอร์แลนด์ที่เพาะเลี้ยงเนื้อวัวในห้องปฏิบัติการจะเสิร์ฟเบอร์เกอร์จากเนื้อดังกล่าวให้ชิมเป็นครั้งแรกของโลก พร้อมกันนี้สำนักข่าวอังกฤษยังส่งผู้ข่าวไปเยือนถึงห้องแล็บดังกล่าว
งานวิจัยนี้นำโดย ศ.มาร์ค โพสต์ (Prof. Mark Post) จากมหาวิทยาลัยมาสทริคท์ (Maastricht University) ภายใต้โครงการมูลค่านับ 10 ล้านบาท ซึ่งได้นำเอาเซลล์จากวัวแล้วเปลี่ยนให้เป็นริ้วกล้ามเนื้อซึ่งนำมารวมกันเป็นก้อนเนื้อได้
ทีมวิจัยกล่าวว่าเทคโนโลยีนี้จะเป็นหนทางที่ยั่งยืนเมื่อเผชิญความต้องการเนื้อสัตว์ที่กำลังเพิ่มสูงขึ้น ขณะที่นักวิจารณ์โต้แย้งว่า การกินเนื้อให้น้อยลงเป็นวิธีง่ายกว่าในการรับมือการขาดแคลนอาหารตามที่คาดการณ์กันไว้
"เรากำลังจะแสดงให้โลกเห็นแฮมเบอร์เกอร์ชิ้นแรกที่ผลิตขึ้นจากเซลล์ในห้องแล็บ เราทำเรื่องนี้เพราะการผลิตปศุสัตว์ไม่เป็นผลดีต่อสิ่งแวดล้อม มันไม่อาจตอบสนองความต้องการเนื้อของโลกได้ และก็ไม่ดีสำหรับสัตว์" ศ.โพสต์กล่าว
ในขณะที่นักวิทยาศาสตร์และสถาบันอื่นๆ ขวนขวายที่ผลิตเนื้อเยื่อมนุษย์จากสเต็มเซลล์เพื่อซ่อมแซมส่วนที่สึกหร่อในร่างกาย แต่ ศ.โพสต์กลับปรารถนาในสิ่งที่แตกต่าง เขาใช้เทคนิคคล้ายๆ กันเพื่อเพาะเลี้ยงกล้ามเนื้อและไขมัน สำหรับผลิตเป็นอาหาร
เขาเริ่มจากสกัดเอาสเต็มเซลล์จากเนื้อเยื่อกล้ามเนื้อวัว และในห้องปฏิบัติการเซลล์เหล่านี้ได้รับการเพาะเลี้ยงด้วยสารอาหารเคมีเพื่อช่วยให้เซลล์เติบโตและเพิ่มจำนวน สามอาทิตย์หลังจากนั้นก็มีสเต็มเซลล์เป็นล้านเซลล์ ซึ่งจะถูกนำไปใส่ในจานเพาะเลี้ยงเล็กๆ ที่เซลล์เชื่อมติดกันกลายเป็นริ้วกล้ามเนื้อประมาณ 1 เซ็นติเมตร และหนาไม่กี่มิลลิเมตร
จากนั้นริ้วกล้ามเนื้อจะถูกรวมเข้าในถาดหลุมที่ถูกแช่แข็ง เมื่อได้จำนวนที่มากพอ ก็จะถูกนำมาละลายและอัดเป็นก้อนเนื้อก่อนที่จะถูกนำไปปรุงอาหารต่อไป นักวิทยาศาสตร์พยายามผลิตเนื้อดังกล่าวให้เหมือนเนื้อจริงมากที่สุด แม้ในเบื้องต้นพวกเขาจะได้เนื้อที่เป็นสีขาว
เฮเลน บรีวูด (Helen Breewood) ซึ่งทำงานร่วมกับ ศ.โพสต์ ได้ทำให้กล้ามเนื้อเพาะเลี้ยงมีสีแดง ด้วยการเติม "ไมโอโกลบิน" (myoglobin) สารประกอบที่เกิดตามธรรมชาติ ที่มีอยู่ในเซลล์กล้ามเนื้อของสัตว์มีระดูกสันหลัง และสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมทั่วไป โดยเธอบอกว่าหากทำไม่เหมือน และรสชาติไม่คล้ายเนื้อวัว ก็ไม่ใช่ตัวเลือกที่จะมาแทนที่ได้
ทว่าในมุมของ ศ.ทารา การ์เนตต์ (Prof.Tara Garnett) หัวหน้าเครือข่ายวิจัยนโยบายอาหาร มหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ด (Oxford University) กล่าวว่า ผู้มีอำนาจตัดสินใจควรจะอะไรให้ไกลกว่าการแก้ปัญหาด้วยเทคโนโลยี โดยเธอบอกว่าตอนนี้เราอยู่ในสถานการณ์ที่คนในโลก 1.4 พันล้านคนมีปัญหาน้ำหนักเกินและเป็นเบาหวาน ขณะเดียวกันก็มีประชาชทั่วโลกอีกนับพันล้านคนที่เข้านอนพร้อมความหิวโหย
"เทคโนโลยีนี้เป็นแค่ของแปลกและยอมรับไม่ได้ การแก้ปัญหาไม่ควรตั้งอยู่บนพื้นฐานการผลิตอาหารให้มากขึ้น แต่ควรเปลี่ยนระบบแจกจ่ายและการเข้าถึงอาหาร และความสามารถในการจัดหาอาหารไม่ใช่เพียงเพื่อให้ได้อาหารมากขึ้น แต่ต้องจัดหาอาหารที่ดีแก่ผู้ที่ต้องการมัน" ศ.การ์เนตต์กล่าว