xs
xsm
sm
md
lg

สหรัฐฯ-จีน‘ผ่าทางตัน’แก้ปัญหา‘โลกร้อน’

เผยแพร่:   โดย: แครีย์ แอล ไบรอน

“การสนทนากันทางยุทธศาสตร์และทางเศรษฐกิจสหรัฐฯ-จีน” เริ่มขึ้นที่กรุงวอชิงตันในวันพุธ (10 ก.ค.) ในภาพนี้จะเห็นรองประธานาธิบดีโจ ไบเดน ของสหรัฐฯกำลังกล่าวปราศรัย สำหรับบุคคลอื่นๆ ที่อยู่ด้านหลังบนเวที ได้แก่ (จากซ้ายไปขวา) หยาง เจี๋ยฉือ มนตรีแห่งรัฐ (เทียบเท่ารองนายกรัฐมนตรี) ของจีน, หวัง หยาง รองนายกฯจีน, รัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐฯ จอห์น เคร์รี, และรัฐมนตรีคลังสหรัฐฯ แจ๊ก ลิว
(เก็บความจากเอเชียไทมส์ออนไลน์ www.atimes.com)

US, China break new ground on climate
By Carey L Biron
12/07/2013

สหรัฐฯกับจีนสามารถตกลงกันได้ระหว่างการเจรจาระดับสูงของสองประเทศในสัปดาห์นี้ เกี่ยวกับแผนการริเริ่มที่มุ่งหมายจะลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกซึ่งอาจจะสร้างผลสะเทือนอันกว้างไกล ความคืบหน้าเช่นนี้ทำให้การประชุมหารือคราวนี้ได้รับการประเมินว่าก่อให้เกิดผลบวกมากที่สุดให้แก่เรื่องการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศของโลกเท่าที่เคยมีการจัดเจรจาหารือกันมาทีเดียว อีกทั้งยังเพิ่มพูนลู่ทางโอกาสที่จะได้เห็นความก้าวหน้าอย่างแท้จริง ณ การประชุมสุดยอดระดับโลกในอีก 2 ปีนับจากนี้ไป

วอชิงตัน – สหรัฐฯกับจีนสามารถตกลงกันได้ในระหว่างการเจรจาหารือกันในสัปดาห์นี้ เกี่ยวกับแผนการริเริ่มอันอาจจะให้ผลอันกว้างไกลจำนวนหนึ่ง ที่มีจุดมุ่งหมายเพื่อตัดลดปริมาณการปล่อยไอเสียก๊าซเรือนกระจกของประเทศทั้งสอง ซึ่งอยู่ในฐานะเป็น 2 ระบบเศรษฐกิจที่ใหญ่โตที่สุดของโลก และก็เป็น 2 ผู้สร้างมลพิษรายใหญ่ที่สุดของพื้นพิภพใบนี้

กลุ่มอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมทั้งหลายต่างพากันยกย่องชมเชยเมื่อได้ทราบรายงานข่าวเบื้องต้นเกี่ยวกับการตกลงกันได้ในคราวนี้ ซึ่งบังเกิดขึ้นระหว่างการประชุมหารือระดับสูงของสองประเทศในกรุงวอชิงตันเมื่อวันพุธ (10 ก.ค.) และวันพฤหัสบดี (11 ก.ค.) ที่ผ่านมา ยิ่งกว่านั้น ยังมีความรู้สึกกันด้วยว่าบรรยากาศของการพูดจากันในคราวนี้บ่งบอกถึงความสัมพันธ์อันอบอุ่นมากขึ้นระหว่างมหาอำนาจทั้งสอง ซึ่งสามารถที่จะกลายเป็นพื้นฐานสำหรับความสัมพันธ์แบบร่วมมือกันครั้งใหม่อันทรงความสำคัญมาก ณ เวทีการเจรจาระหว่างประเทศว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ

“ผมคิดว่านี่เป็นหนึ่งในวาระการหารือว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศที่ออกมาอย่างดีที่สุดเท่าที่เผมเคยเข้าร่วมด้วยทีเดียว” เจ้าหน้าที่ระดับสูงผู้หนึ่งในคณะรัฐบาลของประธานาธิบดีบารัค โอบามา ของสหรัฐฯ กล่าวระหว่างการบรรยายสรุปภูมิหลังของการเจรจาคราวนี้ให้พวกผู้สื่อข่าวฟังเมื่อวันพฤหัสบดี (11 ก.ค.) “ไม่เพียงแต่ผู้เข้าร่วมจากทั้งสองฝ่ายเป็นเจ้าหน้าที่ในระดับสูงเท่านั้น แต่ผมคิดว่าการหารือก็เป็นไปอย่างตรงไปตรงมา เป็นการหารือซึ่งน่าสนใจ และสิ่งที่สำคัญที่สุดก็คือ ข้อเสนอต่างๆ สำหรับความร่วมมือกันก็กำลังเคลื่อนไปข้างหน้าด้วย”

ตามที่มีการเปิดเผยกันในวันพุธ(10 ก.ค.) และมีการปรับแต่งให้ชัดเจนยิ่งขึ้นอีกในวันพฤหัสบดี (11 ก.ค.) นั้น ประเทศทั้งสองตกลงเห็นพ้องกันที่จะร่วมกันรวมศูนย์โฟกัสไปที่เรื่องกว้างๆ รวม 5 เรื่อง เป็นต้นว่า การตัดลดปริมาณไอเสียที่ปล่อยจากการคมนาคมขนส่งขนาดหนัก, การเพิ่มประสิทธิภาพของพลังงานให้เข้มแข็งยิ่งขึ้นอีก, และการปรับปรุงวิธีการเก็บรวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับเรื่องก๊าซเรือนกระจก

วอชิงตันกับปักกิ่งยังเห็นพ้องกันที่จะยกระดับการวิจัยในเรื่องเทคโนโลยีใหม่ๆ ว่าด้วย “การจับสารคาร์บอน” (carbon capture) ในโรงไฟฟ้าที่ใช้ถ่านหินเป็นเชื้อเพลิง, และการร่วมมือกันในเรื่องการสร้างโครงข่ายกระแสไฟฟ้า “อัจฉริยะ” แบบใหม่ ซึ่งทั้งมีประสิทธิภาพสูงขึ้นและทั้งสามารถรองรับกระแสไฟฟ้าที่ได้จากแหล่งพลังงานทางเลือกต่างๆ ได้อย่างสะดวกง่ายดายยิ่งขึ้น ตลอดจนกระแสไฟฟ้าที่จะมาจากแหล่งผลิตไฟฟ้าซึ่งกระจายตัวออกไป

การหารือกันในคราวนี้ยังสร้างความคืบหน้าในเรื่องแบบวิธีต่างๆ สำหรับการปฏิบัติให้เป็นไปตามข้อตกลงอันถือเป็นหลักหมายสำคัญ ซึ่ง โอบามา กับประธานาธิบดีสี จิ้นผิง ของจีน ทำกันไว้ในเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา ว่าด้วยการลดปริมาณก๊าซไฮโดรฟลูโอโรคาร์บอนส์ (hydrofluorocarbons ใช้อักษรย่อว่า HFCs) ก๊าซชนิดนี้ซึ่งใช้ในตู้เย็นและเครื่องปรับอากาศถูกขนานนามว่าเป็น “ซูเปอร์ก๊าซเรือนกระจก” โดยที่ทั้งสหรัฐฯและต่างต่างก็ใช้และผลิต HFCs เป็นปริมาณมากมาย

แอลเดน เมเยอร์ (Alden Meyer) ผู้อำนวยการสำนักงานกรุงวอชิงตันของกลุ่มเฝ้าระวังด้านสิ่งแวดล้อมที่มีชื่อว่า ยูเนียน ออฟ คอนเซิร์นด์ ไซแอนทิสต์ (Union of Concerned Scientists ใช้อักษรย่อว่า UCS) ให้ความเห็นกับสำนักข่าวอินเตอร์เพรสเซอร์วิส (Inter Press Service ใช้อักษรย่อว่า IPS) ว่า “เห็นได้อย่างชัดเจนว่าพวกเขากำลังจัดการแก้ไขภาคส่วนที่มีการปล่อยไอเสียก๊าซเรือนกระจกอย่างมากมายมหาศาลที่สุดบางภาคส่วน ได้แก่ การก่อสร้าง, การคมนาคมขนส่ง, และโรงไฟฟ้า ซึ่งรวมกันแล้วกลายเป็นภาคส่วนที่ปล่อยไอเสียเกินกว่าครึ่งหนึ่งของทั้งสองประเทศ”

“อย่างไรก็ตาม สำหรับในขณะนี้ ยังเป็นเรื่องลำบากที่จะวัดผลกระทบอย่างแท้จริงของการตกลงกันคราวนี้ที่จะมีต่อการปล่อยไอเสีย ถ้าหากยังไม่ทราบรายละเอียดมากยิ่งขึ้น คำถามพื้นฐานที่สุดนั้นอยู่ที่ว่า ใช่หรือไม่ว่าความริเริ่มต่างๆ เหล่านี้จะเพียงแค่ช่วยให้ทั้งสองประเทศสามารถบรรลุเป้าหมายการตัดลดปริมาณไอเสียในช่วงเวลาระหว่างขณะนี้ไปจนถึงปี 2020 ให้ได้ตามที่พวกเขาได้ประกาศออกมาแล้วเท่านั้น แต่แม้กระทั่งคำตอบออกมาว่า ใช่ มันก็ยังคงเป็นข่าวดีอย่างแน่นอน เพียงแต่มันจะไม่ได้เป็นการเพิ่มเติมเสริมต่อความทะเยอทะยานให้แก่ความพยายามในเรื่องนี้ของทั่วโลก”

ในปัจจุบันสหรัฐฯมีนโยบายที่จะตัดลดปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของตนลงมาให้ได้ต่ำกว่าระดับของปี 2005 ราวๆ 17% เมื่อถึงปี 2020 สำหรับจีน เป้าหมายใจกลางอยู่ที่การตัดลด “ความเข้มข้นของคาร์บอน” (carbon intensity) ในระบบเศรษฐกิจของตนลงมาให้ได้ระหว่าง 40% ถึง 45% เมื่อถึงช่วงสิ้นสุดของทศวรรษนี้เช่นเดียวกัน

กระนั้นก็ตามที เมเยอร์ชี้ว่า “ทุกๆ ฝ่ายต่างเห็นพ้องต้องกัน” ว่าทั้งสองประเทศจำเป็นที่จะต้องทำอะไรให้มากกว่านี้อีกมากมายนัก ถ้าหากจะมีโอกาสใดๆ ที่จะรักษาให้อุณหภูมิของโลกเพิ่มขึ้นไม่ถึง 2 องศาเซลเซียสภายในสิ้นศตวรรษนี้ ทั้งนี้เป้าหมายดังกล่าวถือเป็นเป้าหมายระหว่างประเทศในปัจจุบันซึ่งพวกนักวิทยาศาสตร์ด้านภูมิอากาศเตือนไว้ว่า ถ้าทำไม่ได้โลกของเราก็จะต้องเผชิญอันตรายร้ายแรงทางด้านสิ่งแวดล้อมอย่างมากมาย

ความสำเร็จของการเจรจาหารือกันคราวนี้ หลายๆ ฝ่ายมองว่ากุญแจสำคัญประการหนึ่งได้แก่บทบาทของ จอห์น เคร์รี รัฐมนตรีต่างประเทศคนใหม่ของสหรัฐฯ ผู้ซึ่งขึ้นชื่อลือชามานานแล้วในเรื่องการรณรงค์สนับสนุนให้มีความตื่นตัวเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ เคร์รีคือผู้ที่ไม่อาจขาดหายได้เลย ในการจัดตั้งคณะทำงานชุดใหม่ระหว่างสหรัฐฯกับจีนเพื่อหารือกันในเรื่องภูมิอากาศโดยเฉพาะเจาะจง และตามรายงานข่าวต่างๆ บ่งชี้ว่าเขากำลังผลักดันให้มีการดำเนินการลักษณะเช่นนี้ด้วยในเกือบจะทุกประเทศที่เขาเดินทางไปเยี่ยมเยียน

“ประเด็นนี้ไม่ใช่เป็นเพียงประเด็นข้างเคียงอีกต่อไปแล้ว - เคร์รีทำให้เรื่องภูมิอากาศกลายเป็นประเด็นศูนย์กลางของการอภิปรายถกเถียงทางการเมือง, ยกระดับประเด็นนี้ขึ้นไปสู่ระดับบนสุดของวาระทางภูมิรัฐศาสตร์ ขึ้นไปอยู่ที่นั่นเคียงข้างประเด็นในทางความมั่นคงและในทางเศรษฐกิจ” เมเยอร์บอก “นอกจากนั้น ความสำคัญของประเด็นเรื่องภูมิอากาศยังได้รับการช่วยเหลือหนุนส่งจากการออกแรงผลักดันเมื่อเร็วๆ นี้ของธนาคารโลก, กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ), และสำนักงานพลังงานระหว่างประเทศ (International Energy Agency) ซึ่งเตือนว่า เรื่องนี้เป็นภัยคุกคามที่สำคัญประการหนึ่งต่อการพัฒนาของโลกและต่อเศรษฐกิจโลก”

**ปะติดปะต่อส่วนที่ยังแยกขาดจากกัน**

การเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศไม่ได้เป็นประเด็นเดียวที่มีการเจรจาหารือกันระหว่างการประชุมระดับสูงของสหรัฐฯกับจีนเป็นเวลา 2 วันคราวนี้ ซึ่งมีชื่อเรียกขานกันอย่างเป็นทางการว่า “การสนทนากันทางยุทธศาสตร์และทางเศรษฐกิจสหรัฐฯ-จีน” (US-China Strategic and Economic Dialogue ใช้อักษรย่อว่า SED) ทว่าการเจรจาหารือกันครั้งนี้กลายเป็นเวทีแห่งการโชว์ผลงานเบื้องต้นของคณะทำงานสหรัฐฯ-จีนว่าด้วยภูมิอากาศ ซึ่งเพิ่งจัดตั้งขึ้นเมื่อเดือนเมษายนที่ผ่านมา

“ลักษณะที่สำคัญมากประการหนึ่งของ (การสนทนาหารือระดับสูงสหรัฐฯ-จีนว่าด้วยยุทธศาสตร์และเศรษฐกิจ) ในปีนี้ ได้แก่การมีเรื่องหารือพิเศษว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศและความมั่นคงด้านพลังงาน เพื่อให้พวกเราสามารถขบคิดพิจารณาเรื่องหารือต่างๆ ที่มีขนาดขอบเขตเล็กลงมา โดยที่มีระเบียบวาระซึ่งมีจุดเน้นย้ำที่ชัดเจนยิ่ง” เจ้าหน้าที่ในคณะรัฐบาลโอบามาผู้หนึ่งบอกกับผู้สื่อข่าวในระหว่างการบรรยายสรุปเมื่อวันจันทร์ (8 ก.ค.) ที่ผ่านมา

“เราต้องการที่จะสาธิตให้โลกได้เห็นว่า ประเทศเจ้าของระบบเศรษฐกิจใหญ่ที่สุดในโลกทั้งสองนี้ สามารถที่จะร่วมมือกันในศตวรรษนี้เพื่อช่วยรับมือกับความท้าทายทางด้านสิ่งแวดล้อมเหล่านี้ ... เรากำลังหวังว่าในท้ายที่สุดแล้ว เราจะสามารถหยิบยกแสดงตัวอย่างรูปธรรมบางประการในเรื่องความร่วมมือกันของเรา จากการที่มีการปล่อยไอเสียในปริมาณลดน้อยลงนี่แหละ”

ขณะเดียวกัน แผนการริเริ่มทั้ง 5 ประการที่แถลงสรุปออกมาในสัปดาห์นี้ ก็จะยังมิได้หมายถึงจุดสิ้นสุดของความร่วมมืออย่างใหม่ระหว่างสหรัฐฯกับจีน มีรายงานว่าคณะทำงานว่าด้วยภูมิอากาศ ยังคงกำลังทำงานกันอย่างมุ่งมั่นตั้งใจเป็นพิเศษ และเป็นที่คาดหมายกันว่าจะมีการกำหนดนัดหมายเพื่อหารือกันต่อไปอีก

ทั้งนี้ภายในเดือนตุลาคม เป็นที่คาดหมายกันว่าคณะทำงานนี้จะสามารถตกลงกันได้เกี่ยวกับรายละเอียดในทางปฏิบัติของแผนการริเริ่ม 5 ประการแรกนี้ ถัดจากนั้น คณะรัฐบาลโอบามาเสนอแนะให้ยังคงประเด็นทางด้านภูมิอากาศเอาไว้ในวาระการประชุมประจำปีของ SED โดยให้มีการพิจารณาทบทวนเป็นประจำทุกปีเกี่ยวกับการปฏิบัติตามแผนการริเริ่มต่างๆ ที่ผ่านมา ตลอดจนเป็นที่คาดหวังกันว่าจะมีการออกแผนการริเริ่มใหม่ๆ เพิ่มเติมขึ้นด้วย

ผลจากการเจรจาหารือในสัปดาห์นี้ เวลานี้ยังสามารถที่จะใช้เป็นกระดานสปริงบอร์ด เพื่อกระตุ้นความตื่นตัวสนใจของการเจรจาระหว่างประเทศครั้งต่างๆ ก่อนหน้าจะถึงการประชุมสุดยอดที่กรุงปารีส (Paris summit) ซึ่งบรรดาผู้นำของโลกได้รับการคาดหวังว่า จะสามารถเข็นเอาข้อตกลงระดับโลกฉบับใหม่ว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศออกมาได้สำเร็จ

(สำนักข่าวอินเตอร์เพรสเซอร์วิส)
กำลังโหลดความคิดเห็น