xs
xsm
sm
md
lg

เครือข่ายภัยพิบัติสงขลาจับมือวางระบบเตือนภัย 5 ลุ่มน้ำ รับมือน้ำหลากปลายปี

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


เครือข่ายรับมือภัยพิบัติในสงขลา เตรียมความพร้อมรับมือภัยพิบัติในช่วงปลายปี จับมือกันใช้ข้อมูลพื้นที่เสี่ยงภัยเมื่อปี 2553 เป็นฐานเพิ่มเติมชุมชนที่ประสบภัย ระบุชุมชนที่จำเป็นต้องทำแผนรับมือภัยพิบัติ แล้วร่วมกันวางผังน้ำเพื่อการเตือนภัยในลุ่มน้ำสาขาระดับอำเภอของ 5 ลุ่มน้ำ ลดความเหลื่อมล้ำในการบริหารจัดการ

เมื่อวันที่ 8 มิ.ย. ที่ผ่านมา ณ ห้องประชุม conference 2 ศูนย์ประชุมนานาชาติฉลองสิริราชสมบัติครบ ๖๐ ปี เครือข่ายต่างๆ ประกอบด้วย องค์กรภาครัฐ ภาควิชาการ ภาคท้องถิ่น ภาคประชาชน 5 ลุ่มน้ำ จำนวน 200 คน ร่วมกันวางแนวทางการเตือนภัย ภายใต้งาน Health fair โดยมูลนิธิชุมชนสงขลาในฐานะภาคประชาชนเป็นแกนประสาน ภายใต้แนวคิด “การเชื่อมโยงเครือข่ายรับมือภัยพิบัติจังหวัดสงขลา”

เริ่มด้วยการเรียนรู้ระบบการเตือนภัยจังหวัดสงขลา โดยนายสมภพ วิสุทธิศิริ ผู้แทนศูนย์อุตุนิยมวิทยาภาคใต้ฝั่งตะวันออก และ ดร.ธนิต เฉลิมยานนท์ ศูนย์จัดการภัยพิบัติภาคใต้ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ในฐานะคณะอนุกรรมการคณะทำงานด้านวิเคราะห์ประเมินสถานการณ์น้ำ และแจ้งเตือนภัยจากอุทกภัย วาตภัย และดินโคลนถล่มจังหวัดสงขลา กล่าวถึงต้นเหตุการเกิดภัยพิบัติในพื้นที่จังหวัด และระบบการเตือนภัยของจังหวัดที่จะมีขึ้นในช่วงเดือนตุลาคม-ธันวาคม ของทุกปี

 
จากนั้น นายสมโชติ พุทธชาติ ตัวแทนจากสำนักงานทรัพยากรน้ำภาค 8 ได้นำเสนอข้อมูลพื้นที่เสี่ยงภัยทั้ง 5 ลุ่มน้ำ และชี้ให้เห็นเส้นทางการไหลของน้ำจากต้นน้ำไปสู่ปลายน้ำ ในระดับลุ่มน้ำสาขาที่จำเป็นจะต้องมีการวางระบบเตือนภัย โดยใช้ภูมิปัญญาชุมชน วางผังการเดินทางของน้ำในจุดสำคัญ เพื่อให้เครือข่ายได้ใช้เป็นเครื่องมือในการทำงานร่วมกัน

เครือข่ายความร่วมมือ นอกจากคณะทำงานจากภาครัฐระดับจังหวัดที่มีภารกิจเกี่ยวข้องแล้ว ยังมีสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) องค์การบริหารส่วนจังหวัดสงขลา มูลนิธิร็อกกีเฟลเลอร์ และมีองค์กรภาคประชาชน อันประกอบด้วย สมาคมวิทยุสมัครเล่นสมิหลาสงขลา ที่มีสมาชิกวิทยุสมัครเล่นเครื่องดำ และเครื่องแดงกระจายอยู่ใน 16 อำเภอ สมาคม อสม.จังหวัดสงขลา และสภาองค์กรชุมชนจังหวัดสงขลาเป็นองค์กรร่วม

นายประวัติ ชาญการ รองนายกสมาคมวิทยุสมัครเล่นสมิหลาสงขลา ได้กล่าวถึงรูปแบบของการเตือนภัยในอำเภอนาหม่อม ที่มีจุดเชื่อมโยงกับหอกระจายข่าว มีการวางตัวสมาชิกกระจายในจุดสำคัญที่เป็นทางน้ำ

นายประสิทธิ์ จันทร์ลำพู ตัวแทนสมาคม อสม. กล่าวว่า นโยบายกระทรวงสาธารณสุขให้มีการจัดทำหลักสูตรสำหรับ อสม.เพื่อรับมือภัยพิบัติ ในสงขลาได้มีตำบลพังลา ร่วมกับยูนิเซฟ มีการทำแผนรับมือระดับชุมชน

นายศิริพล สัจจาพันธ์ ตัวแทนจากสภาองค์กรชุมชน กล่าวว่า ในสงขลาปัจจุบันมีสภาองค์กรชุมชน เกือบ 90 ตำบล การเตือนภัยมีตั้งแต่ระดับอำเภอ และตำบล เพื่อให้ชุมชนได้มีสติ รู้ทันสถานการณ์ โดยจะเน้นการเตือนภัยในสถานการณ์ที่ชุมชนช่วยตัวเองไม่ได้จริงๆ

 
ทั้งนี้ มีแนวทางเชื่อมโยงเครือข่ายการเตือนภัย 5 ลุ่มน้ำจังหวัดสงขลา ที่สำคัญได้แก่

1.ชุมชนในแต่ละพื้นที่เสี่ยง ให้มีกลไกอาสาที่มาจากผู้ได้รับผลกระทบ หรือผู้ที่เกี่ยวข้องไม่น้อยกว่า 5 คน เช่น ผญ./ผช./ประธานชุมชน/ อสม./ผู้แทนคนพิการ/ชมรมผู้สูงอายุ ฯลฯ มีรายชื่อ ที่อยู่ ส่งมาให้ปลัด อปท. และทีมกลางเพื่อพัฒนาศักยภาพ

2.ให้ระบุพื้นที่เสี่ยงมากที่สุด ที่จำเป็นต้องมีแผนการรับมือระดับชุมชน ร่วมกันพัฒนาเครื่องมือเพื่อการเตือนภัยร่วมกัน ได้แก่ ผังน้ำเพื่อการเตือนภัยของแต่ละลุ่มน้ำ กำหนดจุดวางธงสี/หมุดวัดระดับน้ำ/วิทยุเครื่องดำและแดง/กล้องวงจรปิด ให้มีชื่อผู้รับผิดชอบที่ชัดเจนในแต่ละจุด ส่งรายชื่อให้ทีมกลางพัฒนาศักยภาพเครือข่ายเตือนภัยแต่ละลุ่มน้ำ

3.ทีมกลางประกอบด้วย มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ศูนย์อุตุนิยมวิทยาภาคใต้ฝั่งตะวันออก สำนักงานทรัพยากรน้ำภาค 8 สำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย สำนักงานโยธาธิการและผังเมืองจังหวัด เทศบาลนครหาดใหญ่ มูลนธิชุมชนสงขลา สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย พัฒนาหลักสูตรกลางสำหรับการรับมือภัยพิบัติจังหวัดสงขลา อบรมให้แก่ประชาชน/เจ้าหน้าที่/ผู้บริหาร และส่งให้สถานศึกษาจัดทำหลักสูตรท้องถิ่น

 
4.เครือข่ายความร่วมมือแต่ละองค์กรจัดระบบการทำงานของตน โดยแต่ละเครือข่ายดูแลสมาชิกของตนเอง ด้วยการจัดทำข้อมูล ผังการทำงาน แนะนำเครือข่าย (ชื่อ ที่อยู่ ผู้ประสานหลัก บทบาท ภารกิจ แนวทางการดำเนินงาน) ในส่วนความร่วมมือกับเครือข่ายอื่นๆ ในพื้นที่เสี่ยงภัย ให้มีรายชื่อสมาชิก/รายชื่อผู้แจ้งข่าว/ช่องทางที่ใช้/สื่อที่ใช้ ฯลฯ

5.คณะทำงานกลางพัฒนาระบบข้อมูลกลางใน www.hatyaicityclimate.org จัดทำไฟล์ เอกสาร ส่งให้แก่แต่ละเครือข่าย และช่องทางสาธารณะ

6.แกนนำหลักของแต่ละเครือข่ายหาวิธีการจัดระบบเครือข่ายเดียวกัน และข้ามเครือข่าย ให้มีข้อตกลงร่วมกัน

 
จากนั้นได้มีการแบ่งกลุ่มย่อย โดยตัวแทนลุ่มน้ำภูมี ประกอบด้วยอำเภอรัตภูมิ และอำเภอควนเนียง เสนอแนะเพิ่มเติมพื้นที่เสี่ยง กำหนดองค์ประกอบกลไกระดับพื้นที่ 5 คน ใช้กลไกเดิมเป็นหลัก (กำนัน/ผู้ใหญ่บ้าน/สภาองค์กรชุมชน/จิตอาสา) มีพื้นที่ทำแผนระดับชุมชน 7 จุด ร่วมกับระบบการเตือนภัย (ธงสี/กล้องวงจรปิด) การเตือนภัยใช้ปากต่อปาก สื่อสารผ่านมัสยิด กลไกประสานหลักฝากไว้ที่ปลัด อปท. โดยให้กำนัน และผู้ใหญ่บ้านร่วมรับรู้

ลุ่มน้ำคลองอู่ตะเภา ประกอบด้วย ตัวแทนจากอำเภอหาดใหญ่ อำเภอสะเดา อำเภอนาหม่อม อำเภอคลองหอยโข่ง อำเภอบางกล่ำ อำเภอเมือง มีการเพิ่มเติมพื้นที่เสี่ยง กำหนดพื้นที่ทำแผนชุมชนเพิ่มเติม เน้นการเฝ้าระวังการเตรียมความพร้อม ระบบการเตือนภัยเพิ่มเติม โดยเฉพาะ SMS และสร้างกลไกอาสาสมัครจิตอาสา

 
ลุ่มน้ำเทพา ประกอบด้วย ตัวแทนจากอำเภอสะบ้าย้อย และอำเภอเทพา เพิ่มพื้นที่ทำแผนอีก 4 ตำบล

ลุ่มน้ำนาทวี ประกอบด้วย อำเภอนาทวี และอำเภอจะนะ เพิ่มพื้นที่เสี่ยง 22 แห่ง ให้ปลัด อบต.รวบรวมข้อมูลกลไกต่างๆ ระบบการเตือนภัยเพิ่มวิทยุกระจายเสียงบังสะหม้อ

ลุ่มน้ำคาบสมุทรสทิงพระ ประกอบด้วย อำเภอสิงหนคร อำเภอสทิงพระ อำเภอกระแสสินธุ์ อำเภอระโนด ให้ความสำคัญกับภัยการกัดเซาะชายฝั่ง ลมพายุ และดินโคลนถล่ม มีการเพิ่มพื้นที่เสี่ยง มีจุดเตือนภัยลมพัด ดินโคลนถล่ม และน้ำท่วม กลไกการเตือนภัยเพิ่มจิตอาสา และใช้ภูมิปัญญาชุมชน ประสานกับสภาองค์กรชุมชน เยาวชน กำนัน/ผญ. วิทยุสมัครเล่น และวิทยุชุมชน ระบบการสื่อสารใช้เสียงตามสายตามผังชุมชน และวิทยุเครื่องแดง/ดำ

 
กิจกรรมดังกล่าวยังมีผู้มาร่วมประกอบด้วย ตัวแทนอำเภอ มิสเตอร์เตือนภัย สมาคมสตรี ผู้แทนกรรมการกองทุนพัฒนาบทบาทสตรี เครือข่ายผู้รู้ อสม. คนพิการ ผู้สูงอายุ

ปิดเวทีด้วยข้อคิดจาก นายยงยุทธ แสงพรหม นายกสมาคมคนพิการจังหวัดสงขลา กล่าวว่า อยากให้ทุกคนคิดถึงคนพิการด้วย อย่าให้เป็นคนแรกที่ถูกลืมเมื่อมีการเตรียมความพร้อม และเป็นคนแรกที่ถูกจำเนื่องจากประสบความสูญเสียจนเป็นข่าวให้คนอื่นจดจำ

รายงานโดย - ชาคริต โภชะเรือง
 
 

กำลังโหลดความคิดเห็น