ชาคริต โภชะเรือง
มูลนิธิชุมชนสงขลาและเครือข่ายรับมือภัยพิบัติจังหวัดสงขลา
การรับมืออุทกภัยส่วนใหญ่ในประเทศไทยมักเลือกแนวทางการใช่สิ่งก่อสร้างเพื่อการป้องกัน มากกว่าที่จะใช้มาตรการที่ไม่ใช่สิ่งก่อสร้าง ไม่ว่าจะด้วยเหตุผลใด การหลอมรวมสองมาตรการโดยเฉพาะการนำมาตรการทางสังคม หรือชุมชนมาใช้ยังมีตัวอย่างน้อยมากในสังคมบ้านเรา กรณีอำเภอคลองหอยโข่ง จังหวัดสงขลา ที่ได้หยิบยกมานำเสนอนี้ ได้นำมาตรการไม่ใช้สิ่งก่อสร้างมาเป็นแนวทางการรับมืออุทกภัย โดยมุ่งเน้นการสร้างความสัมพันธ์ในลักษณะเครือข่ายรองรับความเสี่ยงที่มากระทบ อาจฉายให้เห็นบทเรียนในอีกลักษณะหนึ่งของการรับมืออุทกภัย
อำเภอคลองหอยโข่ง เป็นพื้นที่ต้นน้ำ ทิศเหนือ และทิศตะวันออกติดต่อกับอำเภอหาดใหญ่ มีพื้นที่ประมาณ 275 ตร.กม. ประกอบด้วย เทศบาลตำบลโคกม่วง เทศบาลตำบลทุ่งลาน องค์การบริหารส่วนตำบลคลองหอยโข่ง และองค์การบริหารส่วนตำบลคลองหลา อยู่ในพื้นที่ของลุ่มน้ำคลองอู่ตะเภา ลาดจากทิศใต้ และทิศตะวันตก ไปสู่ทะเลสาบสงขลา ปริมาณฝนมากที่สุดเดือนพฤศจิกายน คลองที่สำคัญในอำเภอคลองหอยโข่ง ได้แก่ คลองอู่ตะเภา คลองหอยโข่ง คลองจำไหร คลองยาง และคลองหลา
ลักษณะการเกิดอุทกภัยในพื้นที่เป็นน้ำป่าไหลหลาก และท่วมขัง 3-4 วัน ปัญหาเกิดจากน้ำในคลองสำคัญเบื้องต้นไหลทะลักเข้าท่วม แล้วไหลผ่านไปรวมกันที่บริเวณวัดบางศาลา ตำบลทุ่งลาน ก่อนไหลไปรวมกับน้ำในคลองอู่ตะเภา อำเภอคลองหอยโข่ง มีพื้นที่เสี่ยง ได้แก่ ตำบลโคกม่วง หมู่ที่ 2, 9 ตำบลคลองหลา หมู่ที่ 4, 3, 2, 1 ตำบลคลองหอยโข่ง หมู่ที่ 3, 2 และตำบลทุ่งลาน หมู่ที่ 1, 2, 5, 6, 7, 8, 9
การจัดทำแผนรับมืออุทกภัยอำเภอคลองหอยโข่งนี้ ดำเนินการตั้งแต่เดือนมีนาคม-ตุลาคม 2556 โดยเครือข่ายรับมือภัยพิบัติจังหวัดสงขลา ร่วมกับคณะทำงานอำเภอคลองหอยโข่ง ร่วมกันจัดทำขึ้น ด้วยการสนับสนุนของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ผ่านมาทางสถาบันชุมชนท้องถิ่นพัฒนา ซึ่งมีที่มาจากเหตุอุทกภัยครั้งใหญ่ของประเทศไทยในช่วงปี 2553-2554 โดยเฉพาะพื้นที่จังหวัดสงขลา ก็เป็นส่วนหนึ่งที่ได้รับผลกระทบ และความสูญเสียจากเหตุดังกล่าว จึงได้มีความพยายามในการแก้ไขปัญหา มีการพัฒนาระบบการเตือนภัย ทั้งในระดับจังหวัด และชุมชน จนเป็นตัวอย่างของการรับมืออุทกภัย
ต่อมา ได้ขยายผลความสำเร็จไปในการประชุมสมัชชาสุขภาพแห่งชาติปี 2554 และได้จัดทำข้อเสนอเชิงนโยบายให้มีการสนับสนุนการทำแผนรับมืออุทกภัยโดยชุมชนเป็นฐาน มายังพื้นที่ระดับอำเภอใน 10 จังหวัด โดยจังหวัดสงขลา ได้นำเสนอพื้นที่อำเภอคลองหอยโข่ง และอำเภอหาดใหญ่ เป็นอำเภอตัวอย่าง เพื่อการพัฒนาระบบการรับมือภัยพิบัติในพื้นที่อำเภอเป้าหมาย ร่วมดำเนินการพัฒนาศักยภาพชุมชนในพื้นที่เสี่ยงภัย ให้มีความสามารถในการจัดทำแผนรับมืออุทกภัย จัดระบบการเตือนภัย โดยร่วมมือกันในลักษณะเครือข่าย เพื่อกระจายข่าวสารไปยังชุมชน และพัฒนากลไกเครือข่ายเชิงพื้นที่ โดยองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นร่วมมือกับอำเภอ โดยคำนึงถึงความสอดคล้องของภูมินิเวศ
แผนรับมืออุทกภัยโดยชุมชน
ในการดำเนินงาน ได้ต่อยอดบทเรียนของโครงการเครือข่ายเมืองในเอเชียเพื่อการรับมือการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศเมืองหาดใหญ่ (ACCCRN) โดยการสนับสนุนของมูลนิธิรอกกีเฟลเลอร์ ให้มีแผนระดับชุมชนเพื่อรับมือก่อนเกิดเหตุ ขณะเกิดเหตุ และหลังเกิดเหตุ มีการจัดทำแผนที่เสี่ยงภัย จุดอพยพ ข้อมูลกลุ่มเปราะบาง และเครือข่ายเตือนภัย มีการซักซ้อมแผน พัฒนาระบบการเตือนภัยผ่านกล้อง CCTV ใน www.hatyaicityclimate.org
การดำเนินงานโครงการได้ต่อยอดบทเรียนการทำแผนระดับชุมชนดังกล่าว โดยยกระดับมาร่วมกันจัดทำแผนรับมืออุทกภัยระดับอำเภอ ทั้งนี้ เพื่อเป็นการลดช่องว่างการทำงานระหว่างส่วนภูมิภาค และส่วนท้องถิ่น และหนุนช่วยให้ชุมชนในพื้นที่เสี่ยงได้มีกระบวนการเรียนรู้ และปรับตัวต่อภัยที่เข้ามากระทบ
การดำเนินงานได้ประสานงานกับอำเภอคลองหอยโข่ง จัดตั้งคณะทำงานระดับอำเภอ ที่มีองค์ประกอบตัวแทนแกนนำของชุมชน ท้องถิ่น ท้องที่ มารวมตัวกันกับคณะทำงานจากเครือข่ายรับมือภัยพิบัติจังหวัด วิเคราะห์เส้นทางน้ำโดยภาพรวม และจัดทำแผนในระดับชุมชน เน้นพื้นที่เสี่ยงเป็นหลัก โดยการประสานชุมชนในพื้นที่เสี่ยงมาจัดทำแผนก่อนเกิดเหตุ ขณะเกิดเหตุ และหลังเกิดเหตุ มีจุดเน้นสำคัญที่การวิเคราะห์เส้นทางน้ำ จัดทำข้อมูลกลุ่มเสี่ยง พื้นที่เสี่ยง และสร้างเครือข่ายการเฝ้าระวังและช่วยเหลือผู้ประสบภัยรองรับ มีการกระตุ้นให้ท้องถิ่นจัดกลไกประเมินสถานการณ์ระดับตำบล เพื่อเป็นจุดเชื่อมโยงแจ้งข่าวสารระหว่างอำเภอ และชุมชน แล้วก็มีการเชื่อมโยงเครือข่ายระดับอำเภอด้วยการจัดทำผังน้ำในจุดสำคัญ
ผังน้ำอำเภอคลองหอยโข่ง
การวิเคราะห์ผังน้ำของชุมชนมาจากการวิเคราะห์เส้นทางของน้ำที่เคลื่อนผ่านไปยังพื้นที่ อาศัยประสบการณ์ และภูมิปัญญาเดิมที่ชุมชนนำมาใช้เพื่อการเฝ้าระวังและเตือนภัย ซึ่งมีอยู่แล้วในพื้นที่ เพียงแต่คณะทำงานมาจัดทำให้เป็นระบบมากขึ้น มีผู้รับผิดชอบที่ชัดเจนมากขึ้น และสื่อสารกับสังคมให้มากขึ้น
การทำผังน้ำมาจากการนำผู้ที่มีประสบการณ์ในพื้นที่วิเคราะห์จุดสำคัญที่เป็นทางผ่านของสายน้ำในแต่ละพื้นที่ โดยอาศัยหลักการดูความสัมพันธ์ของปริมาณน้ำฝนที่ตก คำนวณกับความกว้างยาวของลำคลอง ระดับความสูงต่ำของพื้นที่ และระยะทาง รวมถึงเวลาการเคลื่อนตัวของน้ำจากต้นน้ำ กลางน้ำ ไปสู่ปลายน้ำ และใช้ระดับสีเพื่อสื่อความหมาย (สีเขียว หมายถึงระดับปกติ สีเหลือง หมายถึงสถานการณ์เฝ้าระวัง และสีแดง หมายถึงสถานการณ์อุทกภัย) โดยใช้แถบสีวัดระดับติดตั้งประกอบกับป้ายสื่อความหมายในจุดสำคัญของผังน้ำ หากระดับน้ำสูงถึงระดับสีแดงของบริเวณต้นน้ำ นั่นหมายความว่า จะเกิดน้ำท่วมในพื้นที่ปลายน้ำในช่วงเวลาที่มีการคำนวณจากประสบการณ์ และจากการเก็บข้อมูลดังตัวอย่างในแผนภูมิที่ 1 และ 2
นอกจากนั้นยังได้จัดวางเครือข่ายในการเฝ้าระวัง และช่วยเหลือผู้ประสบภัยประจำจุดสำคัญของผังน้ำ ช่วยในการส่งข่าวสาร และเก็บข้อมูล
แผนที่เครือข่ายเฝ้าระวัง และช่วยเหลือผู้ประสบภัย
มีการดำเนินการควบคู่ไปกับการจัดทำแผนระดับชุมชน โดยให้ชุมชนได้จัดตั้งกลไกอาสาสมัครที่มาจากชุมชนด้วยกัน ในการทำหน้าที่ส่งข่าวเตือนภัยให้แก่ประชาชนที่เป็นกลุ่มเสี่ยง กระจายตัวครอบคลุมในทุกพื้นที่เสี่ยง แล้วเสริมด้วยกลไกการสื่อสารช่องทางต่างๆ ได้แก่ เสียงตามสาย วิทยุชุมชน รถแห่ รถไซเรน วิทยุเครื่องดำ/แดง SMS ธงเตือนภัย เหล่านี้เป็นต้น
จากนั้นได้มีการพัฒนาศักยภาพให้แก่เครือข่ายเหล่านี้ในการเข้าถึงเครื่องมือ และระบบการรับมืออุทกภัยของจังหวัด เสริมพลังให้แก่การดำเนินงานเพื่อประโยชน์ของตนเอง และชุมชน และได้นำเครือข่ายดังกล่าวมาจัดทำแผนที่ใน Google map ในเว็บไซต์ www.hatyaicityclimate.org/map การดำเนินการในขั้นตอนนี้ใช้หลักการ Crowd sourcing ทีมงานพัฒนาระบบเปิดสร้างโอกาสให้สาธารณชนช่วยกันป้อนข้อมูลเพื่อใช้ประโยชน์ร่วมกัน โดยระบุตำแหน่ง และข้อมูลของเครือข่ายที่เป็นอาสาสมัครในแต่ละตำบล พร้อมกับระบุจุดอพยพ สถานที่สำคัญ จุดติดตั้งแถบสีวัดระดับน้ำ เชื่อมโยงการสื่อสารภายในชุมชน และนอกชุมชน
สรุป
การทำแผนรับมืออุทกภัยโดยชุมชนเป็นฐาน กรณีอำเภอคลองหอยโข่ง โดยภาพรวมเน้นการพัฒนาระบบการเตือนภัย เพื่อลดความสูญเสียที่เกิดขึ้นจากอุทกภัยในพื้นที่ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นทางผ่านน้ำ มิใช่พื้นที่น้ำท่วมขังยาวนาน ต้องการเพียงข้อมูลในการประกอบการตัดสินใจ และระบบการเตือนภัยที่รวดเร็ว มีประสิทธิภาพ ขณะเดียวกัน ยังเป็นการเสริมพลังให้แก่กลไกของชุมชน ตั้งแต่ระดับหมู่บ้าน ตำบล และอำเภอ โดยใช้สถาบันหลักของชุมชน ได้แก่ คณะกรรมการหมู่บ้าน องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น อำเภอ เป็นกลไกหลักในการดำเนินงาน ด้วยการเสริมศักยภาพ สร้างกระบวนการเรียนรู้ผ่านการจัดทำแผน การวิเคราะห์เส้นทางน้ำ การวิเคราะห์ทุนของชุมชน แล้วใช้ภูมิปัญญาของการเฝ้าสังเกตการณ์ทางน้ำ และการสร้างเครือข่ายเฝ้าระวังมาเป็นเครื่องมือสำคัญในการเชื่อมโยงความสัมพันธ์ของคนในพื้นที่ด้วยกัน ให้สามารถทำงานร่วมกันเพื่อประโยชน์ของชุมชนเป็นที่ตั้ง นำมาสู่ความภาคภูมิใจ และสร้างความเข้มแข็งให้แก่ชุมชน ลดความเสี่ยงที่จะเกิดจากภัยพิบัติที่เข้ามาคุกคาม แล้วเสริมด้วยมาตรการอื่นๆ เพื่อปรับสภาพแวดล้อมที่ส่งผลกระทบต่อชุมชน เช่น การทำข้อบัญญัติการถมที่ การเสนอแนะมาตรการทางผังเมือง และเสนอแนะเชิงนโยบายให้แก่หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อหามาตรการที่ใช้สิ่งก่อสร้างที่จำเป็น เพื่อลดความรุนแรงของผลกระทบ และสร้างความมั่นคงให้แก่ชีวิต และทรัพย์สินของประชาชน