xs
xsm
sm
md
lg

ใต้อ่วมแน่! ชี้แผนตั้ง 14 โรงไฟฟ้าถ่านหินของรัฐกระจุกอยู่ที่ด้ามขวาน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

จากเว็บไซต์กรีนพีซเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
 
ศูนย์ข่าวหาดใหญ่ - กางข้อมูล “กรีนพีซ” ส่อง 14 พื้นที่เป้าหมายสร้าง “โรงไฟฟ้าถ่านหินและเหมืองแร่ถ่านหิน” ทั้งในไทย และประเทศเพื่อนบ้าน ในขณะที่แผน “PDP” ฉบับใหม่ยังอยู่ระหว่างแก้ไข แต่รัฐฉวยโอกาสเดินหน้าสำรวจอย่างต่อเนื่อง
 
แม้จะเป็นข้อมูลที่ กรีนพีซ เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ได้เปิดไว้นับปีมาแล้ว แต่โครงการก่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินและการทำเหมืองถ่านหินในประเทศไทย และรวมเลยไปถึงประเทศบ้านใกล้เรือนเคียงที่มีเป้าหมายผลิตพลังงานป้อนให้กับประเทศไทย เรื่องนี้ก็ยังคงเป็นที่สนใจ และติดตามอย่างใกล้ชิดของประชาชนจำนวนไม่น้อย โดยเฉพาะกับชาวภาคใต้ลูกสะตอที่จะต้องบอกว่าเป็นกลุ่มคนที่จะได้รับผลกระทบจากโครงการเหล่านี้มากที่สุด
 
ข้อมูลของกรีนพีซ เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ระบุว่า มี 14 พื้นที่ทั้งในประเทศไทย และประเทศเพื่อนบ้านที่เป็นเป้าหมายของหน่วยงานภาครัฐกำลังเข้าไปสำรวจสำหรับก่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินและเหมืองถ่านหิน ซึ่งเป็นไปในขณะที่แผนพัฒนากำลังการผลิตไฟฟ้าของประเทศไทย (PDP) ฉบับใหม่ยังดำเนินการไม่แล้วเสร็จตามกระบวนการของกฎหมาย โดยหากดำเนินการก่อสร้างได้ก็จะสามารถผลิตกระแสไฟฟ้าป้อนเข้าสายส่งตามแผนพีดีพีฉบับที่กำลังจะเกิดได้ทันที
 
14 พื้นที่เป้าหมายโครงการศึกษาและสำรวจเพื่อสร้างโรงไฟฟ้าและเหมืองถ่านหินดังกล่าวนั้น เป็นโครงการที่อยู่ในประเทศเพื่อนบ้านเราเพียง 3 โครงการ ประกอบด้วย โรงไฟฟ้าถ่านหินทวายในพม่า, โรงไฟฟ้าถ่านหินเมืองก๊ก รัฐฉาน ในพม่า และโรงไฟฟ้าถ่านหินหงสา ในลาว
 
นอกจากนั้นแล้วล้วนอยู่ในประเทศไทยเรา และกระจุกตัวอยู่ในภาคใต้มากที่สุด ประกอบด้วย เหมืองแร่ถ่านหินลิกไนต์ ต.บ้านแหง อ.งาว และ อ.แม่เมาะ จ.ลำปาง, เหมืองแร่ถ่านหินลิกไนต์ อ.เวียงแหง จ.เชียงใหม่, โรงไฟฟ้าถ่านหินเก็คโค่-วัน มาบตาพุด จ.ระยอง, โรงไฟฟ้าถ่านหินเขาหินซ้อน จ.ฉะเชิงเทรา, โรงไฟฟ้าถ่านหิน อ.ปะทิว และ อ.ละแม จ.ชุมพร, โรงไฟฟ้าถ่านหิน กฟผ. จ.ตรัง, โรงไฟฟ้าถ่านหิน กฟผ. จ.กระบี่, โรงไฟฟ้าถ่านหิน อ.ท่าศาลา และ อ.หัวไทร จ.นครศรีธรรมราช และเหมืองแร่ถ่านหินลิกไนต์ อ.สะบ้าย้อย จ.สงขลา
 
ผู้คนในพื้นที่เหล่านั้นกำลังถูกละเมิดสิทธิมนุษยชนจากการเพิ่มขึ้นของโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินที่เกินความจำเป็น ในเมื่อข้อมูล และความถูกต้องของต้นทุนจริงของถ่านหินถูกบิดเบือน ตั้งแต่การวางแผนพลังงานในระดับนโยบายแผนพลังงานของประเทศฉบับที่มีการแก้ไขใหม่ ก็จะไม่ได้รับความเห็นชอบจากประชาชน เพราะมาจากการวางแผนพลังงานที่ขาดความโปร่งใส และถูกต้อง
 
(ติดตามข้อมูลเพิ่มเติมที่เว็บไซต์กรีนพีซ เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ http://www.greenpeace.org/seasia/th/campaigns/climate-and-energy/coal/true-cost-of-coal/coal-map/)
 
 

กำลังโหลดความคิดเห็น