xs
xsm
sm
md
lg

Sonoma และ E&J Gallo ดินแดนแห่งไวน์คุณภาพเยี่ยม

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


>>ได้มีโอกาสเดินทางไปเยือนไวเนอรีมานักต่อนัก แค่คราวนี้ดูเหมือนจะตื่นเต้นที่สุดเท่าที่เคยสัมผัสมา เพราะที่ดินแดนแห่งนี้มีไวเนอรีหลายร้อยแห่ง นั่นคือ “โซโนมา” (Sonoma) อยู่ในดินแดนที่ผลิตไวน์ใหญ่ที่สุดในโลกของรัฐแคลิฟอร์เนีย

ใช่ว่าทุกดินแดนที่อุดมไปด้วยดิน น้ำ อากาศ และแสงแดด จะสามารถเพาะปลูกองุ่นเพื่อนำมาผลิตไวน์ให้ได้คุณภาพดีทั่วทุกพื้นที่เสมอไป ถ้าดินแดนนั้นๆ ไม่ได้อยู่ในเส้นศูนย์สูตรของโลกที่เอื้อต่อการเพาะปลูก อันเรียกว่าดินแดนมหัศจรรย์ หรือแม้แต่ในประเทศไทยเองที่มีทุกองค์ประกอบทั้งดิน น้ำ อากาศ และแสงแดด แต่กระนั้นก็ยังไม่สามารถเพาะปลูกองุ่นเพื่อนำมาผลิตไวน์ให้ได้รสชาติดีเยี่ยมทุกพื้นที่

ในสหรัฐอเมริกาผลิตไวน์มากว่า 300 ปีแล้ว โดยมีการผลิตไวน์ในรัฐต่างๆ กว่าครึ่งประเทศ แต่ไวน์คุณภาพดีจะอยู่ริมชายฝั่งมหาสมุทรแปซิฟิกทางทิศตะวันตก ไล่ตั้งแต่ทางเหนือสุดของประเทศที่ติดชายแดนแคนาดา อย่างรัฐวอชิงตัน โอเรกอน ไอดาโฮ แคลิฟอร์เนีย จากนั้นเลี้ยวเป็นตัวยู (U) ผ่านรัฐอริโซน่า นิวเม็กซิโก และเท็กซัส เลื้อยไปทางทิศตะวันออกของประเทศเลาะริมฝั่งมหาสมุทรแอตแลนติก ผ่านรัฐนิวยอร์ก ไปสิ้นสุดที่นิวอิงแลนด์ เป็นต้น ซึ่งรัฐตรงกลางของประเทศและฝั่งทิศตะวันออกมีการผลิตไวน์น้อยมาก

สำหรับแหล่งผลิตไวน์ที่ถือว่าเป็นแผ่นดินทองของสหรัฐอเมริกามี 4 รัฐ ได้แก่ แคลิฟอร์เนีย (95%) โอเรกอน (1%) วอชิงตัน (1.6%) และนิวยอร์ก (2%) นอกนั้นประมาณ 0.4% กระจัดกระจายอยู่ทั่วประเทศ และคุณภาพพอใช้ถึงปานกลางมากกว่าคุณภาพดี ปัจจุบันสหรัฐอเมริกาเป็นชาติที่มีแหล่งผลิตไวน์เป็นอันดับ 4 รองจาก ฝรั่งเศส อิตาลี สเปน เฉพาะแคลิฟอร์เนียรัฐเดียวผลผลิตก็มากกว่าบางประเทศด้วยซ้ำไป โดยมีพื้นที่ปลูกองุ่นถึง 1,100,000 เอเคอร์ หรือราว 4.500 ตารางกิโลเมตร

ในแคลิฟอร์เนีย เป็นรัฐสำคัญที่สุดในการผลิตไวน์ของสหรัฐอเมริกา เรียกว่า 90 กว่าเปอร์เซ็นต์ของไวน์สหรัฐอเมริกาทั้งหมดผลิตจากที่นี่ ซึ่งเริ่มปลูกองุ่นมาตั้งแต่ศตวรรษที่ 18 ปัจจุบันมีพื้นที่ปลูกองุ่นกว่า 480,000 เอเคอร์ และมีไวเนอรีกว่า 1,200 แห่ง มีเขตย่อย 107 AVA และเพาะปลูกองุ่นกว่า 300 สายพันธุ์

ส่วนพื้นที่ที่มีการเพาะปลูกองุ่นมากที่สุดในแคลิฟอร์เนีย นั่นคือ เมืองโซโนมา ที่แปลว่า “หุบเขาแห่งวงพระจันทร์” (Valley of the Moon) โดยมี มร.อกอสตัน ฮาราสซ์ธี (Agoston Haraszthy) ชาวฮังการีเป็นคนแรกที่สานต่อการปลูกองุ่นทำไวน์อย่างเป็นทางการที่นี่ในปี 1857 หลังจากที่พระฟราสซิสกัน เริ่มปลูกองุ่นครั้งแรกที่ Hyperlink ปัจจุบันมีไร่องุ่นกว่า 300 แห่ง มีพื้นที่ปลูกองุ่นกว่า 65,000 เอเคอร์ มีเขตย่อย 2 AVA คือ ลอส คาร์เนรอส (Los Carneros) ที่มีชื่อเสียงในการทำสปาร์กลิ้งไวน์ เพราะอากาศเย็นสามารถปลูกชาร์ดอนเนย์ และปิโนต์ นัวร์ ได้ดี และโซโนมา เมาน์เท่น (Sonoma Mountain) ที่มี Microclimate ปลูกองุ่นสายพันธุ์ดังๆ จากยุโรปได้ดี อย่างเช่น คาแบร์เนต์ โซวิญอง, ชาร์ดอนเนย์, ปิโนต์ นัวร์, โซวิญอง บลอง, และเซมิลยอง เป็นต้น

โซโนมา เป็นแหล่งผลิตสปาร์กลิ้งไวน์ที่สำคัญของแคลิฟอร์เนีย โดย กอร์เบล บราเธอร์ (Korbel Brothers) เป็นเจ้าแรกที่ทำสปาร์กลิ้งไวน์ด้วยวิธีแบบแชมเปญจากองุ่น ริสลิ่ง, ชาส์เซลาส, มุสกาเทล และทรามิเนอร์

ปัจจุบันหลายบริษัททำจากองุ่นพันธุ์เดียวกับแชมเปญ คือ ชาร์ดอนเนย์, ปิโนต์ นัวร์ และปิโนต์ มูนิเยร์ บางรายผสมปิโนต์ บลอง, เฌอแนง บลอง และเฟรนซ์ โคลอมบาร์ด บริษัทแชมเปญดังๆ ต่างมาตั้งฐานการผลิตที่นี่

ด้วยความที่ในเมืองโซโนมาอุดมไปด้วยดิน น้ำ อากาศ และแสงแดด ทำให้ที่นี่มีมากมาย ซึ่งจะเรียกว่าเป็นหมู่บ้านแห่งการเพาะปลูกไวน์ใหญ่ที่สุดก็ไม่ผิดนัก เพราะผู้คนที่อาศัยอยู่ในโซโนมาส่วนใหญ่มีอาชีพเพาะปลูกองุ่น เพื่อนำไปผลิตไวน์ สร้างรายได้เข้าเมือง และประเทศอย่างมหาศาล

และหนึ่งในนั้นก็คือตระกูลของแกลโล (Gallo : ภาษาอิตาเลียนแปลว่า ไก่) เจ้าของไวเนอรีขนาดใหญ่และผลิตไวน์ออกไปจำหน่ายยังที่ต่างๆ ทั่วโลก โดยเริ่มแรกสองพี่น้อง “เออร์เนสต์ แกลโล (Ernest Gallo) และ “คูลิโอ แกลโล” (Julio Gallo) หรือเรียกย่อๆ ว่า อี แอนด์ เจ แกลโล (E&J Gallo) ชาวอิตาลี เริ่มต้นเพาะปลูกไวน์จากความหลงใหลและความมุ่งมั่นตั้งใจที่จะทำธุรกิจไวน์มาตั้งแต่ปี ค.ศ.1933 หรือจะเรียกว่าเป็นผู้เข้ามาบุกเบิกในยุคแรกๆ เลยก็ว่าได้

สองพี่น้องตระกูลแกลโลยึดถือภารกิจในการทำธุรกิจไวน์เพื่อต้องการที่จะเป็นบริษัทครอบครัวที่เป็นผู้นำด้านไวน์ในตลาดไวน์ของสหรัฐอเมริกา และเป็นผู้นำไวน์โลกใหม่ในตลาดต่างประเทศ (โดยไวน์โลกเก่าจะผลิตจากประเทศฝรั่งเศส อิตาลี และสเปน) ซึ่งให้ความสำคัญอย่างมากกับความสัมพันธ์กับคู่ค้าทางธุรกิจ ลูกค้า และพนักงาน และยังมุ่งเน้นที่จะเติบโตไปด้วยกันในอนาคต

ปัจจุบันนี้มีสมาชิกในครอบครัวทั้งหมด 15 คนที่ยังทำงานอยู่ที่ไวเนอรีนี้ หลังจากทั้งสองได้เสียชีวิตลง และยังมีเจเนอเรชันใหม่ๆ เข้ามาอย่างต่อเนื่อง รวมถึงไวน์เมกเกอร์ฝีมือดีคนปัจจุบัน “จีน่า แกลโล” (Gina Gallo) และ “แมตต์ แกลโล” (Matt Gallo) ซึ่งเป็นทายาทรุ่นที่ 3 ที่ยังคงรักษาขนบธรรมเนียมที่ดีงามของคุณปู่ โดยร่วมสร้างสรรค์ผลิตไวน์แกลโลจนได้รับรางวัลมากมาย มีสำนักงานใหญ่อยู่ในเมืองโมเดสโต (Modesto) รัฐแคลิฟอร์เนีย จำหน่ายไวน์กว่า 90 ประเทศทั่วโลก เรียกว่าเป็นไวน์ที่ส่งออกจากแคลิฟอร์เนียมากที่สุด มีทั้งหมด 7 ไวเนอรี และมากกว่า 20,000 เอเคอร์ ในแคลิฟอร์เนียเลยทีเดียว

ในการผลิตไวน์ให้ได้คุณภาพดีอย่าง แกลโล แฟมิลี วินยาร์ด (Gallo Family Vineyard) ณ เมืองโซโนมา เป็นสถานที่ดีที่สุดในการเพาะพันธุ์องุ่น ด้วยลมเย็นๆ และแสงแดดอุ่นๆ นอกจากนั้นในการทำไวน์แกลโลยังมีการชิมไวน์บาร์เรลต่อบาร์เรลระหว่างการหมัก เพื่อให้ได้รสชาติที่ตรงตามความต้องการมากที่สุด เพื่อรับรองคุณภาพที่ผู้บริโภคจะได้รับในทุกขวดของแกลโลอีกด้วย

และต้องยอมรับว่า แกลโล แฟมิลี วินยาร์ด ยังมี “Signature range” อย่าง “Gallo Signature brand” ที่มีชื่อของ “จิน่า แกลโล” ในทุกขวด เนื่องจากเขาต้องการทำให้เป็นไวน์ที่มีคุณภาพสูงทุกขวด เพื่อผลิตไวน์ให้ดีที่สุดเท่าที่จะทำได้ จึงเลือกใช้องุ่นสายพันธุ์คุณภาพดีที่สุดที่มีจำนวนจำกัด แกลโลจึงยังคงผลิต “Premium Range” นี้ในจำนวนไม่มากนักเมื่อเทียบกับแบรนด์อื่นๆ ในพอร์ตโฟลิโอ

ในปี 2007 E&J Gallo ไวเนอรีที่ใหญ่ที่สุดในโลก ได้มาร่วมเป็นพาร์ตเนอร์กับสยามไวเนอรี่ บริษัทไวน์อันดับต้นๆ ในตลาดไวน์ประเทศไทย ความเป็นพาร์ตเนอร์จึงยิ่งแข็งแกร่งมากขึ้นไปอีก เมื่อทั้งสองฝ่ายต่างมีคอมมิตเมนต์ที่จะสร้างวัฒนธรรมการดื่มไวน์ โดยนำเสนอไวน์รสชาติดี มีคุณภาพในราคาที่ซื้อได้ ให้แก่นักดื่ม และมีไวน์ให้เลือกครบทุกรสชาติ ทุกราคา และทุกโอกาส และยังสนับสนุนให้ผู้ที่ดื่มไวน์ได้ลองอะไรใหม่ๆ ด้วยตัวเอง โดยไวน์ที่มีจำหน่ายในประเทศไทย โดยบริษัทสยามไวเนอรี่ ได้แก่ “ปีเตอร์ เวลล่า” (Peter Vella) “คาร์โล รอสซี” (Carlo Rossi) “แกลโล แฟมิลี วินยาร์ดส์” (Gallo Family Vineyards) :: Text by FLASH

Fact File :: การควบคุมคุณภาพไวน์แคลิฟอร์เนีย

สหรัฐอเมริกาเพิ่งจัดเขตถิ่นปลูกองุ่นระดับคุณภาพเมื่อปี 1970 โดยองค์การควบคุมสินค้าสุรา ยาสูบ และอาวุธปืน หรือ BATF (The Department of Treasury’s Bureau of Alcohol, Tobacco & Firearms) กำหนดให้เขตไวน์คุณภาพเป็น 109 AVA (American Viticultural Areas) หรือบางแห่งเรียกว่า Approved Viticultural Areas

มีผู้ตั้งข้อสังเกตว่าหลักเกณฑ์ AVA ค่อนข้างอะลุ้มอล่วย ไม่เข้มงวดเหมือน AOC ของฝรั่งเศส แต่จะใกล้เคียงกับระบบ DOC ของอิตาลีมากกว่า จุดประสงค์หลักคือทำให้ผู้บริโภครู้จักเขตปลูกองุ่นทำไวน์ที่มีคุณภาพเป็นหลัก โดยกำหนดว่าเขตนั้นๆ ต้องปลูกองุ่นที่มีคุณภาพ นอกนั้นไม่ได้กำหนด เช่น พันธุ์องุ่น ความหวาน ปริมาณแอลกอฮอล์ และโควตาการผลิต เป็นต้น














>> อัปเดตข่าวในแวดวงสังคม กอสซิป แฟชั่น ความงาม และเที่ยว กิน ดื่ม เพิ่มเติมได้ที่  http://www.celeb-online.net และ ติดตาม CelebStagram ได้ที่ http://www.manager.co.th/celebonline/celebstagram/
กำลังโหลดความคิดเห็น