xs
xsm
sm
md
lg

“ศรีสุวรรณ” ซัด “ปลอด” จัดประชุมน้ำเชียงใหม่แค่ปาหี่ จี้ยุติโฆษณาชวนเชื่อ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นายศรีสุวรรณ จรรยา นายกสมาคมต่อต้านสภาวะโลกร้อน (ภาพจากแฟ้ม)
นายกสมาคมต่อต้านสภาวะโลกร้อน ออกแถลงการณ์คัดค้านเวทีปาหี่การประชุมน้ำโลกที่เชียงใหม่ ชี้ผลาญภาษีแค่พีอาร์ “ปลอดประสพ” ประธาน กบอ.โชว์บูธบริษัทที่แบ่งเค้กรัฐบาล จบลงแค่ปฏิญญาสวยหรู ทั้งที่เรื่องยังอยู่ในศาลปกครอง จี้ยุติโฆษณาชวนเชื่อเพื่อรักษาหน้าตาประเทศ

วันนี้ (13 พ.ค.) นายศรีสุวรรณ จรรยา นายกสมาคมต่อต้านสภาวะโลกร้อน ออกแถลงการณ์ของสมาคมต่อต้านสภาวะโลกร้อน เรื่อง คัดค้านเวทีปาหี่การประชุมน้ำโลก...ผลาญภาษีประชาชนโดยใช่เหตุ มีใจความว่า ตามที่รัฐบาลไทยขันอาสารับเป็นเจ้าภาพการจัดงานสัมมนาและนิทรรศการด้านการบริหารจัดการน้ำระดับนานาชาติ ภายใต้ชื่อ “Asia Pacific water summit” ครั้งที่ 2 ในระหว่างวันที่ 14-20 พฤษภาคมศกนี้ ที่ศูนย์ประชุมนานาชาติเฉลิมพระเกียรติฯเชียงใหม่ โดยความยินยอมขององค์การศึกษาวิทยาศาสตร์และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ (ยูเนสโก) ความดังทราบแล้วนั้น

การที่รัฐบาลไทยรับหน้าเสื่อขอเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมโดยได้มอบหมายให้คณะกรรมการบริหารจัดการน้ำและอุทกภัย (กบอ.) รับผิดชอบภาพรวมของการจัดงาน ทั้งๆ ที่ควรเป็นหน้าที่ของกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมที่ได้เคยเข้าร่วมเวทีการประชุม “water world forum” ของสหประชาชาติมาอย่างต่อเนื่องทุกปีอยู่แล้ว แต่เมื่อประเทศไทยรับเป็นเจ้าภาพกับเปลี่ยนผู้รับผิดชอบใหม่เป็น กบอ.ไปเสียสิ้น

การเปลี่ยนแปลงดังกล่าว น่าจะหวังผลเพียงแค่การนำภาษีประชาชนไปพีอาร์ประธาน กบอ.และสำนักงานพัฒนาพิงคนคร (องค์การมหาชน) ที่เพิ่งมีพระราชกฤษฎีกาจัดตั้งขึ้นมาหมาดๆ เมื่อวันที่ 11 กุมภาพันธ์ 2556 ที่ผ่านมาเท่านั้น เพราะเนื้อหาสาระที่ได้มีการเปิดเผยถึงการเตรียมงานในเวทีดังกล่าวเป็นเพียงแค่การโฆษณาชวนเชื่อหรือโชว์ความสำเร็จในการบริหารจัดการน้ำที่เพ้อฝันในรอบปีที่ผ่านมาผ่านบูธพาวิลเลี่ยนแสดงหลักการและแนวคิดของกลุ่มบริษัทที่เสนองานต่อรัฐบาลเพื่อการบริหารจัดการน้ำและอุทกภัยของชาติที่หวังจ้องได้โปรเจ็กงบประมาณกว่า 3.5 แสนล้านบาทเท่านั้น

และเมื่อการสัมมนาเสร็จสิ้นก็จะได้เพียงปฏิญญาเชียงใหม่ ที่เป็นเพียงข้อตกลงลอยๆ เท่ๆ ที่ไม่สามารถนำไปปฏิบัติได้จริงในแต่ละประเทศที่เข้าร่วมประชุม แต่ประเทศชาติต้องสูญเสียเงินงบประมาณจากภาษีของประชาชนไปหลายร้อยหลายพันล้านบาท ซึ่งไม่คุ้มกับผลลัพธ์ที่ได้ตามเป้าประสงค์ของการสัมมนา

ทั้งๆ ที่ข้อเท็จจริง คือ การบริหารจัดการน้ำท่วมตั้งแต่ปี 2554 เป็นต้น เกิดความผิดพลาดล้มเหลวมาอย่างต่อเนื่อง ในขณะเดียวกันรัฐบาล และ กบอ.ก็ก้าวข้ามขั้นตอนของกฎหมายหลายฉบับไปอย่างเจตนา โดยเฉพาะกระบวนการการมีส่วนร่วมของประชาชน ในการจัดทำแผนแม่บทฯ และทีโออาร์ต่างๆ ทั้ง 9 โมดูล (Module) ที่เพิ่งเปิดซองรับการยื่นซองประมูลหรือประกวดราคาเมื่อวันที่ 3 พฤษภาคมที่ผ่านมา

ความพยายามในการนำเสนอแนวคิดในการบริหารจัดการน้ำและอุทกภัยของรัฐบาลในเวทีการประชุมดังกล่าว นอกจากจะเป็นการปลูกผักชี โฆษณาชวนเชื่อ และนำเสนอข้อเท็จที่ไม่อาจเป็นจริงได้ในเวทีนานาชาติดังกล่าว สะท้อนให้เห็นถึงความต้องการเพียงการสร้างภาพของรัฐบาลเท่านั้น หาได้สนใจมรรคผล หรือผลกระทบที่จะนำไปสู่ความเสียหายและสร้างความอับอายต่อชาวโลกในอนาคตอันใกล้ไม่ เมื่อโครงการต่างๆ ทั้ง 9 โมดูลที่ กบอ.นำเสนอนั้นมีความเสี่ยงสูงที่จะถูกคำสั่งหรือคำพิพากษาของศาลปกครองที่ถูกภาคประชาชนฟ้องร้องอยู่ในขณะนี้นั้น ให้ระงับการดำเนินการทั้งปวง เนื่องจากผิดขั้นตอนของกฎหมายโดยชัดแจ้ง และจะยิ่งเสียหายเลวร้ายมากยิ่งขึ้น เมื่อมีการตัดสินใจลงนามเซ็นสัญญาจัดซื้อจัดจ้างกับผู้ชนะการประมูล เพราะจะเกิด “นิติสัมพันธ์” สร้างความเดือดร้อนและเสียหายแก่ประชาชนได้ ตามคำวินิจฉัยของศาลปกครองกลาง ซึ่งอาจเป็นเหตุให้ประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากโครงการต่างๆ ข้างต้น สามารถใช้เป็นมูลเหตุในการฟ้องร้องเพิกถอนนิติกรรมสัญญา หรือโครงการดังกล่าวได้ทันทีทั่วประเทศ

สมาคมต่อต้านสภาวะโลกร้อน จึงใคร่ขอเรียกร้องให้รัฐบาล และ กบอ.ยุติการกระทำใดๆ หรือการโฆษณาชวนเชื่อ เผยแพร่ข้อมูลข่าวสารโครงการในการบริหารจัดการน้ำที่ข้ามขั้นตอนของกฎหมาย ในเวทีนานาชาติดังกล่าวเสีย เพื่อรักษาหน้าตาและภาพลักษณ์ที่ดีของประเทศ ที่อาจจะถูกดูแคลนจากประเทศต่างๆ ที่อาจล่วงรู้ความจริงว่าโครงการต่างๆ ดังกล่าวไม่อาจเกิดขึ้นจริงได้หากรัฐบาลไม่ทบทวนการดำเนินการให้เป็นไปตามกฎหมายเสียก่อน


กำลังโหลดความคิดเห็น