ยังคงเส้นคงวาในการรักษาความฉาวโฉ่สำหรับโครงการบริหารจัดการน้ำ 3.5 แสนล้านในอุ้งมือของนายปลอดประสพ สุรัสวดี รองนายกรัฐมนตรี ประธานคณะกรรมการบริหารจัดการน้ำและอุทกภัย (กบอ.) เมื่อวันก่อนหน้าเปิดประมูลกลุ่มกิจการร่วมค้าไทย-ญี่ปุ่นก็เพิ่งถอนตัว ผ่านไปไม่ทันไรกลุ่มกิจการร่วมค้าทีมไทยแลนด์ที่นำโดย ช.การช่าง ก็โบกมือลาคล้อยหลังจากยื่นประมูลช่วงเช้าของวันที่ 3 พ.ค. พอตกบ่ายก็บอกไม่เอาแล้ว
ขนาดกลุ่มบริษัทเอกชนที่ทำมาหากินยังรับไม่ได้กับความดันทุรังอยากลงเหวของภาครัฐเพราะเห็นๆ กันอยู่ว่าทีโออาร์บริหารจัดการน้ำที่ออกมานั้นมันมีปัญหารออยู่เบื้องหน้ามากมายมหาศาลเพราะไม่มีอะไรที่ชัดเจนเลย การดำเนินงานเป็นแบบทำไป ศึกษาไป แก้ปัญหาไป งบก็บานปลาย ซึ่งไม่มีใครเขาทำกัน โดยเฉพาะโครงการลงทุนขนาดใหญ่ ถ้าไม่อยากเสียเครดิต เสียชื่อเสียงบริษัท การถอนตัวเสียแต่เดี๋ยวนี้ยังดีกว่าล่มกลางคัน
ไม่เพียงแต่จะมีปัญหาในการดำเนินงาน ซึ่งฝ่ายเอกชนต้องเดินหน้าเจรจาแก้ปัญหากับมวลชน ศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อม ฯลฯ เท่านั้น เผลอๆ อาจต้องเตรียมตัวขึ้นโรงขึ้นศาล และให้ปากคำต่อคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) อีกต่างหาก ในฐานะผู้สนับสนุนเจ้าหน้าที่รัฐผู้กระทำความผิด เพราะเรื่องนี้มีผู้ยื่นฟ้องเป็นคดีความสู่ศาลแล้ว อย่างน้อยก็ 2 คดี
หนึ่งคือ สมาคมต่อต้านสภาวะโลกร้อน ที่มีนายศรีสุวรรณ จรรยา เป็นนายกสมาคมฯ ที่ยื่นต่อศาลปกครองกลางนับจากนายกรัฐมนตรี คณะกรรมการยุทธศาสตร์เพื่อวางระบบบริหารจัดการน้ำ (กยน.) กบอ. ฯลฯ
และอีกหนึ่งคือ คดีที่นายอุเทน ชาติภิญโญ อดีตที่ปรึกษานายกรัฐมนตรีด้านการระบายน้ำ ได้ยื่นอุทธรณ์ต่อศาลปกครองสูงสุดคัดค้านคำสั่งศาลปกครองกลางที่ไม่รับคำฟ้องในคดีที่ฟ้อง กบอ.แล้วขอให้ศาลมีคำสั่งเพิกถอนข้อกำหนดและขอบเขตงาน หรือทีโออาร์โครงการบริหารจัดการน้ำ 10 งาน เพราะเห็นว่าทีโออาร์ที่ออกมาจะก่อให้เกิดการทุจริตและความเสียหายต่อประเทศชาติ จึงไม่อาจปล่อยให้เรื่องนี้ผ่านไปโดยไม่ทำอะไร
“ในระหว่างนี้ผมจะใช้เวทีประชุมน้ำโลกที่ จ.เชียงใหม่ เปิดเผยข้อมูลที่ไม่ชอบมาพากล จากนั้นก็จะเดินสายไปตามเวทีต่างๆ ชำแหละโครงการดังกล่าวให้ประชาชนที่อยู่ในพื้นที่ได้รับทราบข้อมูล” นายอุเทนกล่าว
การแฉความอื้อฉาวของโครงการนี้ในเวทีประชุมน้ำโลก ทางสมาคมต่อต้านสภาวะโลกร้อน โดยนายศรีสุวรรณ จรรยา ยังได้ออกแถลงการณ์กล่าวหาว่าเป็นเพียงการแสดงปาหี่ การโฆษณาชวนเชื่อของ กบอ. โดยผลาญเงินภาษีของประชาชนไปโดยไม่ได้มีประโยชน์อะไรต่อประเทศชาติเลย
แถลงการณ์ดังกล่าวระบุว่า ตามที่รัฐบาลไทยขันอาสารับเป็นเจ้าภาพการจัดงานสัมมนาและนิทรรศการด้านการบริหารจัดการน้ำระดับนานาชาติ ภายใต้ชื่อ “Asia Pacific water summit” ครั้งที่ 2 ในระหว่างวันที่ 14-20 พฤษภาคมศกนี้ ที่ศูนย์ประชุมนานาชาติเฉลิมพระเกียรติฯ เชียงใหม่ โดยความยินยอมขององค์การศึกษาวิทยาศาสตร์และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ (ยูเนสโก) นั้น
การที่รัฐบาลไทยรับหน้าเสื่อขอเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมโดยได้มอบหมายให้คณะกรรมการบริหารจัดการน้ำและอุทกภัย (กบอ.) รับผิดชอบภาพรวมของการจัดงาน ทั้งๆ ที่ควรเป็นหน้าที่ของกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ที่ได้เคยเข้าร่วมเวทีการประชุม “water world forum” ของสหประชาชาติมาอย่างต่อเนื่องทุกปีอยู่แล้ว แต่เมื่อประเทศไทยรับเป็นเจ้าภาพกลับเปลี่ยนผู้รับผิดชอบใหม่เป็น กบอ.ไปเสียสิ้น
การเปลี่ยนแปลงดังกล่าวน่าจะหวังผลเพียงแค่การนำภาษีประชาชนไปพีอาร์ประธาน กบอ. และสำนักงานพัฒนาพิงคนคร (องค์การมหาชน) ที่เพิ่งมีพระราชกฤษฎีกาจัดตั้งขึ้นมาหมาดๆ เมื่อวันที่ 11 กุมภาพันธ์ 2556 ที่ผ่านมาเท่านั้น เพราะเนื้อหาสาระที่ได้มีการเปิดเผยถึงการเตรียมงานในเวทีดังกล่าวเป็นเพียงแค่การโฆษณาชวนเชื่อหรือโชว์ความสำเร็จในการบริหารจัดการน้ำที่เพ้อฝันในรอบปีที่ผ่านมาผ่านบูทพาวิเลียนแสดงหลักการและแนวคิดของกลุ่มบริษัทที่เสนองานต่อรัฐบาลเพื่อการบริหารจัดการน้ำและอุทกภัยของชาติที่หวังจ้องได้โปรเจกต์งบประมาณกว่า 3.5 แสนล้านบาทเท่านั้น
จากนั้น เมื่อการสัมมนาเสร็จสิ้นก็จะได้เพียงปฏิญญาเชียงใหม่ที่เป็นเพียงข้อตกลงลอยๆ เท่ๆ ที่ไม่สามารถนำไปปฏิบัติได้จริงในแต่ละประเทศที่เข้าร่วมประชุม แต่ประเทศชาติต้องสูญเสียเงินงบประมาณจากภาษีของประชาชนไปหลายร้อยหลายพันล้านบาท ซึ่งไม่คุ้มกับผลลัพธ์ที่ได้ตามเป้าประสงค์ของการสัมมนา
ทั้งๆ ที่ข้อเท็จจริงคือ การบริหารจัดการน้ำท่วมตั้งแต่ปี 2554 เป็นต้น เกิดความผิดพลาดล้มเหลวมาอย่างต่อเนื่อง ในขณะเดียวกัน รัฐบาลและ กบอ.ก็ก้าวข้ามขั้นตอนของกฎหมายหลายฉบับไปอย่างเจตนา โดยเฉพาะกระบวนการการมีส่วนร่วมของประชาชนในการจัดทำแผนแม่บทฯ และทีโออาร์ต่างๆ ทั้ง 9 โมดูล (Module) ที่เพิ่งเปิดซองรับการยื่นซองประมูลหรือประกวดราคาเมื่อวันที่ 3 พฤษภาคมที่ผ่านมา
ความพยายามในการนำเสนอแนวคิดในการบริหารจัดการน้ำและอุทกภัยของรัฐบาลในเวทีการประชุมดังกล่าว นอกจากจะเป็นการปลูกผักชี โฆษณาชวนเชื่อ และนำเสนอข้อเท็จที่ไม่อาจเป็นจริงได้ในเวทีนานาชาติดังกล่าว สะท้อนให้เห็นถึงความต้องการเพียงการสร้างภาพของรัฐบาลเท่านั้น หาได้สนใจมรรคผลหรือผลกระทบที่จะนำไปสู่ความเสียหายและสร้างความอับอายต่อชาวโลกในอนาคตอันใกล้ไม่ เมื่อโครงการต่างๆ ทั้ง 9 โมดูลที่ กบอ.นำเสนอนั้นมีความเสี่ยงสูงที่จะถูกคำสั่งหรือคำพิพากษาของศาลปกครองที่ถูกภาคประชาชนฟ้องร้องอยู่ในขณะนี้นั้นให้ระงับการดำเนินการทั้งปวงเนื่องจากผิดขั้นตอนของกฎหมายโดยชัดแจ้ง
และผลที่จะตามมาจะยิ่งเสียหายเลวร้ายมากยิ่งขึ้นเมื่อมีการตัดสินใจลงนามเซ็นสัญญาจัดซื้อจัดจ้างกับผู้ชนะการประมูล เพราะจะเกิด “นิติสัมพันธ์” สร้างความเดือดร้อนและเสียหายแก่ประชาชนได้ตามคำวินิจฉัยของศาลปกครองกลาง ซึ่งอาจเป็นเหตุให้ประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากโครงการต่างๆ ข้างต้น สามารถใช้เป็นมูลเหตุในการฟ้องร้องเพิกถอนนิติกรรมสัญญาหรือโครงการดังกล่าวได้ทันทีทั่วประเทศ
สมาคมต่อต้านสภาวะโลกร้อนจึงขอเรียกร้องให้รัฐบาล และ กบอ.ยุติการกระทำใดๆ หรือการโฆษณาชวนเชื่อ เผยแพร่ข้อมูลข่าวสารโครงการในการบริหารจัดการน้ำที่ข้ามขั้นตอนของกฎหมายในเวทีนานาชาติดังกล่าวเสีย เพื่อรักษาหน้าตาและภาพลักษณ์ที่ดีของประเทศที่อาจจะถูกดูแคลนจากประเทศต่างๆ ที่อาจล่วงรู้ความจริงว่าโครงการต่างๆ ดังกล่าวไม่อาจเกิดขึ้นจริงได้หากรัฐบาลไม่ทบทวนการดำเนินการให้เป็นไปตามกฎหมายเสียก่อน
ในอีกฟากหนึ่ง ทางคณะอนุกรรมการ ป.ป.ช.ที่มีนายเมธี ครองแก้ว เป็นประธาน จะสรุปแนวทางและมาตรการป้องกันการทุจริตโครงการลงทุนบริหารจัดการน้ำซึ่งอยู่ในขั้นตอนเปิดประมูลโครงการเพื่อเสนอ ป.ป.ช.ชุดใหญ่และคณะรัฐมนตรีพิจารณาในเร็วๆ นี้ โดยมีรายงานเบื้องต้นว่าคณะอนุกรรมการฯ พบการประมูลโครงการที่มีช่องโหว่การใช้เงินกู้ไม่คุ้มค่าต่อการลงทุน และหากมีผู้ร้อง ป.ป.ช.ให้ตรวจสอบพฤติกรรมฮั้วประมูลหรือกีดกันผู้เข้าร่วมประมูล ป.ป.ช.ก็มีอำนาจตรวจสอบตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐ พ.ศ. 2542 ได้
แต่ถึงจะมีปัญหาอยู่รอบด้าน นายปลอดประสพก็ไม่ได้ใส่ใจ และแจ้งให้ ครม.ทราบว่าการถอนตัวประมูลโครงการของเอกชนเพราะไม่มีความพร้อม ซึ่งยังเหลือผู้ประมูล 4 ราย โดยขั้นตอนการเปิดซองประมูลทั้ง 4 บริษัท กบอ.จะดำเนินการให้แล้วเสร็จภายในวันที่ 4 มิ.ย.นี้
ต้องรอติดตามว่าสุดท้ายแล้วถึงวันนั้นจะเหลือกี่บริษัทที่สังฆกรรมกับรัฐบาลสร้างความเสียหายให้แก่ประเทศชาติ และสร้างความเดือดร้อนให้แก่ประชาชน