xs
xsm
sm
md
lg

เครือข่ายลุ่มน้ำไม่สนคำขู่ “ปลอด”-เล็งเปิดเวทีคู่ขนานประชุมผู้นำน้ำ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


เชียงราย - เครือข่ายนักอนุรักษ์ลุ่มน้ำภาคเหนือไม่สนคำขู่ “ปลอด” ห้ามชุมนุมระหว่างประชุมผู้นำด้านน้ำภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกที่เชียงใหม่ วางแผนเปิดเวทีคู่ขนาน 19 พ.ค.วันประชุมผู้นำ พร้อมยื่นเสนอแผนจัดการน้ำฉบับชาวบ้านให้รัฐบาลไทยต่อหน้า  

รายงานข่าวแจ้งว่า แม้จะมีคำขู่จากนายปลอดประสพ สุรัสวดี รองนายกรัฐมนตรี ประธาน กบอ.ห้ามชุมนุมประท้วงในช่วงที่มีการจัดประชุมผู้นำด้านน้ำ Asia Pacific water summit ครั้งที่ 2 ในระหว่างวันที่ 14-20 พ.ค. 56 นี้ ที่ศูนย์ประชุมนานาชาติเฉลิมพระเกียรติฯ จ.เชียงใหม่ จนถึงขั้นระบุว่า “ให้เจ้าหน้าที่เก็บกวาดผู้ประท้วงให้หมด พวกนี้ถือเป็นขยะทั้งนั้น” ก็ตาม แต่เครือข่ายองค์กรภาคเอกชนที่เคลื่อนไหวเรื่องการจัดการน้ำมาอย่างยาวนานก็ได้วางแผนจัดกิจกรรมขึ้นโดยไม่สนคำขู่ใดๆ ทั้งเตรียมจัดเวทีคู่ขนาน ยื่นหนังสือเสนอแนวทางการจัดการน้ำต่อรัฐบาลไทย รวมทั้งการถือป้ายแสดงออก หรืออื่นๆ บริเวณศูนย์ประชุมนานาชาติเฉลิมพระเกียรติฯ จ.เชียงใหม่ ซึ่งจะมีการจัดการประชุมดังกล่าวด้วย

นายสมเกียรติ เขื่อนเชียงสา เครือข่ายอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและวัฒนธรรมลุ่มน้ำโขง-ล้านนา เปิดเผยว่า เนื่องในโอกาสที่หลายประเทศจะมาประชุมเกี่ยวกับเรื่องน้ำครั้งใหญ่ที่ จ.เชียงใหม่ และในส่วนของประเทศไทยพบว่าแตกต่างจากที่อื่นๆ เพราะกำลังจะใช้งบประมาณจำนวนมหาศาลเพื่อดำเนินการเกี่ยวกับเรื่องน้ำ โดยมุ่งเป้าไปที่เรื่องการป้องกันน้ำท่วมใหญ่ การสร้างเขื่อน การขุดลอก การก่อสร้างต่างๆ ฯลฯ ภายใต้แนวคิดจะปฏิบัติเหมือนกันทั่วประเทศ ทั้งที่ความเป็นจริงแต่ละภาค แต่ละพื้นที่มีลักษณะที่ไม่เหมือนกัน เช่น ภาคกลางเป็นที่ลุ่มควรสร้างแก้มลิงกักน้ำ ภาคเหนือมีภูเขาและหน้าผาและคดเคี้ยวควรใช้การชะลอน้ำ ฯลฯ รวมทั้งควรจะมีการศึกษาผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมโดยเฉพาะระบบนิเวศอย่างละเอียดก่อนดำเนินโครงการ

แต่ปรากฏว่าโครงการที่ผ่านมากลับมุ่งก่อสร้างการขุดลอก และสร้างพนังคอนกรีตเป็นทางตรงทำให้น้ำไหลลงสู่ภาคกลางเร็วขึ้นอีก มีการละเลยป่าไม้และอาจจะตัดไม้ทำลายป่าซึ่งเป็นสาเหตุของน้ำท่วมมากขึ้น

ดังนั้น ภาคประชาชนจึงจะจัดกิจกรรมในวันที่ 19 พ.ค. 56 ตรงกับวันประชุมผู้นำด้านน้ำ เพื่อเรียกร้องให้รัฐบาลไทยได้หันกลับมาศึกษาวิเคราะห์เพื่อดำเนินโครงการเป็นรายพื้นที่ไป รวมทั้งเน้นถึงผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมโดยเฉพาะระบบนิเวศที่ไม่ควรให้สูญเสียจากโครงการ ศึกษาภูมิปัญญาของคนในแต่ละภูมิภาค เช่น ภาคเหนือมีวัฒนธรรมเรื่องการสร้างเหมืองฝาย มีผู้นำเหมืองฝายจากทั้งลุ่มน้ำ 70 สาขา มีการบริหารจัดการและดูแลน้ำได้โดยไม่ทำให้ระบบนิเวศเสียหาย

โดยเครือข่ายองค์กรเกี่ยวกับน้ำในภาคเหนือตอนบน เช่น ลุ่มน้ำโขง น้ำอิง น้ำแม่แจ่ม น้ำแม่ขาน แก่งเสือเต้น น้ำสาละวิน ปิง วัง ยม น่าน ฯลฯ จากเชียงราย พะเยา แพร่ น่าน เชียงใหม่ ฯลฯ จะจัดประชุมเชิงวิเคราะห์เกี่ยวกับการใช้งบประมาณ 350,000 ล้านบาทของรัฐบาลไทย รวมทั้งเสนวนาเรื่องการบริหารจัดการน้ำ สถานการณ์ที่เกี่ยวข้องกับการสร้างเขื่อน ฯลฯ ณ โฮงเฮียนสืบสานภูมิปัญญาล้านนา อ.เมืองเชียงใหม่ เพื่อรวบรวมความเห็นจากทุกลุ่มน้ำเกี่ยวกับแนวทางบริหารจัดการน้ำที่เหมาะสมและข้อเสนออื่นๆ จากนั้นจะจัดทำเป็นแถลงการณ์ยื่นต่อรัฐบาลไทย โดยให้ประเทศอื่นๆ ได้ร่วมรับทราบด้วย

และหากไม่สามารถยื่นหนังสือต่อรัฐบาลไทยผ่านเวทีการประชุมดังกล่าวที่ จ.เชียงใหม่ ได้ เครือข่ายก็จะจัดให้มีการแถลงข่าว ซึ่งเสมือนเป็นการแจ้งความจำนงต่อรัฐบาลไปแล้วเช่นกัน

“เดิมประเทศไทยมีคณะกรรมการน้ำ โดยมีภาคประชาชนจาก 25 ลุ่มน้ำของประเทศเข้าไปเป็นกรรมการและมีส่วนร่วม แต่ถูกยกเลิกไป และมีการใช้กลไกใหม่คือ กบอ.ซึ่งมีหน่วยงานภาครัฐทั้งนั้นเข้าไปกำหนดนโยบายและการดำเนินการ รวมทั้งจ้างบริษัทต่างชาติเข้าไปศึกษา ก็สงสัยว่าบริษัทเหล่านี้เข้ามาศึกษาแค่เรื่องน้ำ แต่เรื่องคน ภูมิปัญญา สิ่งแวดล้อม ฯลฯ เขาย่อมไม่รู้เท่าคนพื้นที่แน่” นายสมเกียรติกล่าว
กำลังโหลดความคิดเห็น