xs
xsm
sm
md
lg

เกาะติด : ไทยผลักดันลดก๊าซเรือนกระจก

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ในสถานการณ์ของโลกที่ตระหนักถึงผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมอันก่อให้เกิดภาวะโลกร้อนที่รุนแรงขึ้น
บัณฑูร เศรษฐศิโรฒม์ ผู้ประสานงาน ชุดโครงการพัฒนาความรู้และยุทธศาสตร์ด้านนโยบายสิ่งแวดล้อม สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย กล่าวว่า มีแรงผลักดัน 3 ประการสำคัญที่จะทำให้ประเทศไทยเข้าไปมีส่วนร่วมในการลดก๊าซเรือนกระจก คือ
1.กติกาโลก ที่จะออกมาให้เริ่มใช้หลังปี ค.ศ.2020
2.นโยบายภายในประเทศ จะผลักดันให้เดินไปโดยไม่ต้องรอกติกาโลก ตามแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 11 ซึ่งมีความชัดเจนว่าประเทศไทยจะปรับไปสู่การเป็นอุตสาหกรรมสีเขียว
3.ประเทศคู่ค้า จะเป็นแรงผลักดันด้วยการออกมาตรการผ่านกลไกทางการค้า ดังนั้น ภาคอุตสาหกรรมจะมีแรงบีบจากคู่ค้าที่ทำให้ต้องปรับตัว ซึ่งปัจจุบันอุตสาหกรรมที่มีการส่งออกหรือทำการค้าระหว่างประเทศก้าวหน้าในเรื่องนี้ไปแล้ว เช่น เครือซีพีซึ่งทำเรื่องฉลากคาร์บอน จนถึงวอเตอร์ฟุตพริ้นต์ (Water Footprint) หรืออุตสาหกรรมปิโตรเคมีซึ่งเริ่มคิดเรื่องการผลิตที่นำไปสู่การลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก
บัณฑูร เศรษฐศิโรฒม์
แต่จุดที่น่าเป็นห่วงก็คือ แม้ว่าอุตสาหกรรมใหญ่จะปรับตัว แต่ในห่วงโซ่อุปทาน (supply chain) ต้องมาจากผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดย่อม (SME) ซึ่งถ้าไม่ได้ปรับตัวจะทำให้เป็นปัญหาให้บริษัทใหญ่นำมาเป็นข้ออ้างว่าไม่สามารถทำได้ อย่างไรก็ตาม สำหรับธุรกิจที่จัดการได้ทั้งห่วงโซ่อุปทาน เช่น เครือซีพี มีการทำตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ

แนะปรับเปลี่ยนมุมมอง
ออกมาตรการสนับสนุน

ดังนั้น จึงเสนอให้ปรับเปลี่ยนมุมมองว่า หนึ่ง - การลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเท่ากับการรักษาขีดความสามารถในการแข่งขัน รักษาตลาด และทำให้ส่งสินค้าออกไปในตลาดโลกได้ ซึ่งเมื่อคิดถึงสิ่งที่จะขายได้กับเรื่องของต้นทุนที่จะเกิดขึ้น ผลสุดท้ายที่ได้จะเป็นกำไรของธุรกิจ และ สอง - การพยายามลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก คือการลดการสูญเสียในกระบวนการซึ่งธุรกิจไม่เคยมองมาก่อน และในที่สุดจะกลายเป็นการลดต้นทุนได้ด้วย เช่น การสูญเสียในภาคพลังงานและการขนส่ง เนื่องจากการปล่อยคาร์บอนทั้งที่ไม่ควรปล่อย ดังนั้น ถ้าสามารถจัดการเรื่องโลจิสติกส์ได้ดี จะช่วยลดต้นทุนและลดการปล่อยคาร์บอนไปในเวลาเดียวกัน

สำหรับมาตรการสนับสนุน ประเทศไทยสามารถดูตัวอย่างจากต่างประเทศ เช่น มีมาตรการทางภาษีเพื่ออุดหนุน (tax subsidy) สำหรับการผลิตที่ใช้พลังงานทางเลือก อย่างที่บราซิล หรือมีการยกเว้นภาษีเงินได้ (tax refund) ในช่วงที่มีการลงทุนปรับกระบวนการผลิต อย่างการซื้อเครื่องจักรใหม่เพื่อการผลิตสีเขียว หรือมีกองทุนสนับสนุนด้วยเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำ เพื่อนำไปลงทุนในเรื่องนี้

อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันประเทศไทยมีมาตรการสนับสนุนด้วยการยกเว้นภาษีนิติบุคคลสำหรับการขายคาร์บอนเครดิตของโครงการที่ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก หรือกองทุนของตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยเพื่อการกู้ยืมสำหรับทำโครงการกลไกการพัฒนาที่สะอาด หรือ Clean Development Mechanism (CDM) นอกจากนี้ เมื่อปลายปีพ.ศ.2555 รัฐบาลเพิ่งจะปรับโครงสร้างภาษีสรรพสามิตรถยนต์ให้มีการเรียกเก็บตั้งแต่ 5-40% สำหรับรถยนต์ที่มีการปล่อยมลพิษน้อย-มาก โดยจะเริ่มใช้ในปีพ.ศ.2559

ชี้ส่งเสริมวิจัย-พัฒนา
สร้างระบบตลาดสีเขียว

แม้ว่าในวันนี้ยังไม่มีความชัดเจนว่าอุตสาหกรรมใดจะมีการปรับลดอย่างไร แต่เทคโนโลยีและเครื่องจักรสีเขียวจะเติบโตได้มาก เช่น กลุ่มที่มีการปล่อยมาก และกลุ่มที่ต้องเปลี่ยนแปลงแบบยกเครื่อง ปรากฏว่าอุตสาหกรรมปิโตรเคมีซึ่งต้องยกเครื่องการผลิตใหม่ทั้งหมดบอกว่าถ้าจะเปลี่ยน มีแผนจะเปลี่ยนทั้งหมดเพื่อยกระดับเทคโนโลยีจากขั้นหนึ่งไปอีกขั้นหนึ่ง หรือประเทศสหรัฐอเมริกาซึ่งไม่เข้าร่วมพิธีสารเกียวโต แต่ในยุครัฐบาลโอบามามีการจัดสรรงบประมาณให้อย่างมากเพื่อทำวิจัยและพัฒนาในเรื่องพลังงานทางเลือก

สำหรับประเทศไทย แม้จะอยู่ในฐานะผู้ซื้อเทคโนโลยี แต่รัฐบาลควรจะสนับสนุนการวิจัยและพัฒนาเพื่อให้สามารถพึ่งพาตนเองหรือกลายเป็นผู้ขายในอนาคต เพราะเป็นตลาดใหม่ในการลงทุน เช่น การพัฒนาพลังงานทางเลือกเพื่อให้มีต้นทุนต่ำลง อย่างโซลาร์เซลล์ซึ่งสามารถใช้ในระดับครัวเรือน เป็นต้น โดยมีแนวทางคือการนำสิ่งที่ต่างชาติจดสิทธิบัตรมาต่อยอด ไม่ใช่การทำสิ่งที่เขาทำไปแล้ว และการเลือกทำในเรื่องที่พอจะมีจุดแข็ง เช่น ที่ผ่านมานักวิจัยไทยสามารถพัฒนาการตรวจสอบย้อนกลับที่มาของกุ้งว่ามาจากบ่อไหน ทำให้ประเทศไทยมีเทคโนโลยีในด้านนี้ของตนเอง

นอกจากนี้ ประเทศไทยควรจะสร้างระบบตลาดสีเขียว (Green Market) เพราะแม้จะมีสินค้าสีเขียว แต่ไม่ได้มีระบบสร้างความแตกต่างระหว่างสินค้าสีเขียวกับสินค้าทั่วไป หรือแม้จะมีการติดฉลากคาร์บอนต่ำ แต่ยังเกิดคำถามเพราะความไม่เชื่อมั่น โดยเฉพาะผู้บริโภคส่วนใหญ่ยังไม่แยกแยะและไม่ให้ความสำคัญในเรื่องนี้ ทั้งๆ ที่ในการสำรวจของสำนักงานสถิติแห่งชาติพบว่าคนไทยรับรู้เรื่องภาวะโลกร้อนและมีความตระหนัก แต่ยังไม่ถึงขั้นปรับเปลี่ยนพฤติกรรม

สกว.จึงร่วมมือกับสำนักงานกองทุนการสร้างเสริมสุขภาพ หรือสสส. ทำโครงการ “Carbon Bike Credit” ด้วยการนำไมล์เลจที่ได้จากการขี่จักรยานซึ่งเป็นการช่วยลดคาร์บอนไปแปลงเป็นคะแนนสะสม แล้วนำไปเชื่อมโยงกับตลาดสีเขียว ด้วยการนำไปลดราคาสินค้าสีเขียวหรือซื้ออุปกรณ์เกี่ยวกับจักรยาน ซึ่งขณะนี้มีพันธมิตรทางธุรกิจให้ความสนใจ นับเป็นตัวอย่างนวัตกรรมที่สนับสนุนให้ผู้บริโภคปรับเปลี่ยนพฤติกรรม โดยมีแรงจูงใจ ซึ่งต่อไปหากมีการกระตุ้นหรือผลักดันให้มีการคิดนวัตกรรมเช่นนี้มากๆ จะทำให้เกิดนวัตกรรมเพื่อลดโลกร้อนและตลาดสีเขียวที่เหมาะสมกับผู้บริโภคแต่ละกลุ่ม
กำลังโหลดความคิดเห็น