xs
xsm
sm
md
lg

กทม.ถกปัญหาลดโลกร้อนในเมืองกรุง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

กทม.ประชุมคณะกรรมการ Bangkok Master Plan on Climate Change 2013-2023 สร้างแนวทางจัดการภาวะโลกร้อนในเมืองกรุงอย่างยั่งยืน

วานนี้ (10 พ.ค.) เวลา 13.30 น.นายศุภชัย ตันติคมน์ ที่ปรึกษาของผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการกำกับและประสานความร่วมมือโครงการ Bangkok Master Plan on Climate Change 2013 -2023 โดยมีผู้แทนจากองค์การความร่วมมือระหว่างประเทศของญี่ปุ่น (Japan International Cooperation Agency : JICA) เข้าร่วมการประชุม ณ ห้องนพรัตน์ ศาลาว่าการ กทม.

นายศุภชัย กล่าวว่า ภาวะโลกร้อนเป็นปัญหาหนึ่งที่ กทม.ได้ดำเนินการอย่างจริงจัง ด้วยการสร้างความร่วมมือสู่ประชาชนทุกภาคส่วน โดยจัดทำแผนปฏิบัติการว่าด้วยการลดปัญหาภาวะโลกร้อนของกรุงเทพมหานคร ปี 2550-2555 และจัดประชุมคณะกรรมการกำกับและดำเนินการตามแผนปฏิบัติการฯ เป็นประจำทุกปี ตั้งแต่ พ.ศ.2552-2556 และระหว่างการดำเนินการตามแผนปฏิบัติการ สำนักสิ่งแวดล้อม กทม.ได้จัดทำโครงการ Capacity Building on Climate Change Adaptation and Mitigation for Implementation in Bangkok เพื่อขอรับการสนับสนุนจากองค์การความร่วมมือระหว่างประเทศของญี่ปุ่น (JICA) เพื่อการพัฒนาศักยภาพของเจ้าหน้าที่ กทม.ที่เกี่ยวข้องในการดำเนินการตามแผนปฏิบัติการว่าด้วยการลดปัญหาภาวะโลกร้อน พ.ศ.2550-2555 โดยจัดการฝึกอบรมและศึกษาดูงานให้กับเจ้าหน้าที่กรุงเทพมหานคร ณ ประเทศญี่ปุ่น

นอกจากนี้ เพื่อเป็นการสร้างความร่วมมือในการรับมือกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศให้เกิดการดำเนินการอย่างต่อเนื่อง กทม.จึงได้จัดทำข้อเสนอขอรับความช่วยเหลือทางวิชาการจากรัฐบาลญี่ปุ่น ภายใต้โครงการ Bangkok Master Plan on Climate Change 2013-2023 ขึ้น เพื่อจัดทำแผนแม่บทของกรุงเทพมหานครว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศระยะ 10 ปี และเป็นกรอบแนวคิดในการพัฒนาให้กทม.เป็นเมืองที่สามารถปรับตัวรับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศได้อย่างยั่งยืน อีกทั้งเป็นการพัฒนาบุคลากรของ กทม.ให้สามารถรับมือกับการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น ซึ่งโครงการดังกล่าวมีระยะเวลา 2 ปี โดยรัฐบาลญี่ปุ่นได้ส่งผู้เชี่ยวชาญเข้ามาเริ่มดำเนินการโครงการ เมื่อเดือนมีนาคม 2556 ที่ผ่านมา

ทั้งนี้ ในส่วนของความร่วมมือจากรัฐบาลญี่ปุ่นเป็นการถ่ายทอดด้านเทคนิควิชาการ ประสบการณ์ และข้อเสนอแนะของผู้เชี่ยวชาญจากประเทศญี่ปุ่น ให้ กทม.สามารถประเมินและติดตามการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก (GHG Emission Reduction) อย่างเป็นรูปธรรมมากขึ้น โดยอาศัยวิธีการ MRV (Measurable, Reportable, Verifible) ที่สามารถตรวจวัด รายงานผลและปรับปรุงพัฒนาผลการดำเนินกิจกรรมต่างๆ ให้ดีขึ้น ถูกต้องแม่นยำมากขึ้น ด้วยการกำหนดเป็นแนวทางในการลดผลกระทบ (Mitigation) รวมทั้งรับมือการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Adaptation) ไว้ในแผนแม่บทกรุงเทพมหานครดังกล่าว โดยแบ่งการดำเนินการไว้ 5 ด้าน คือ 1.การขนส่งที่ยั่งยืนและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม 2.การใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพและการใช้พลังงานทางเลือก 3.การจัดการขยะและการบำบัดน้ำเสียอย่างมีประสิทธิภาพ 4.การวางผังเมืองสีเขียว และ 5.แนวทางการรับมือกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

ที่ปรึกษาของผู้ว่าฯ กทม.กล่าวด้วยว่า ผลจากการประชุมคณะกรรมการกำกับและประสานความร่วมมือฯ ในวันนี้ นอกจากจะสร้างกรอบการดำเนินงานให้ชัดเจน สอดคล้องกับนโยบายและแผนแม่บทระดับชาติแล้ว ยังเป็นแนวทางเพื่อให้แผนแม่บทดังกล่าวบรรลุเป้าหมายได้อย่างมีประสิทธิภาพ และสอดรับการบันทึกการหารือ (Record of Discussion : RD) ซึ่งการแก้ไขปัญหาอย่างยั่งยืนเกิดจากความร่วมมือร่วมแรง ร่วมใจอย่างจริงจังของทุกภาคส่วนและประชาชน ซึ่งต้องตระหนักรู้ในการรับมือต่อการเปลี่ยนแปลงของภูมิอากาศและภาวะโลกร้อน
กำลังโหลดความคิดเห็น