นักวิทย์มหิดลระบุกรณีน้ำมันรั่วที่อ่าวไทย ปตท.ควรเปิดเผยข้อมูลปริมาณน้ำมันที่รั่วไหลอย่างแน่ชัด พร้อมข้อมูลสารเคมีที่ใช้สลายน้ำมัน ซึ่งจะช่วยประเมินได้ว่า เกิดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมแค่ไหน ชี้ธรรมชาติต้องเวลาเยียวยาเองไม่ต่ำกว่า 20-30 ปี
ดร.พหล โกสิยะจินดา อาจารย์ภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวถึงกรณีทุ่นส่งน้ำมันดิบของบริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน) รั่วในอ่าวไทย ว่าในการประเมินผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมนั้นนักวิทยาศาสตร์ต้องมีข้อมูลที่แท้จริง ซึ่งจากการติดตามข้อมูลผ่านสื่อยังไม่การเปิดเผยข้อมูลที่ชัดเจน
ข้อมูลที่นักวิทยาศาสตร์ต้องการทราบคือปริมาณน้ำมันดิบที่รั่วออกมา ซึ่งเป็นข้อมูลที่สำคัญมาก เพราะเป็นสารตั้งต้นที่จะอธิบายต่อไปว่าส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมแค่ไหน ต้องใช้สารเคมีควบคุมมากน้อยเพียงใด หากใช้สารเคมีควบคุมมากเกินไปก็ส่งผลเสียต่อสิ่งแวดล้อม หรือน้อยเกินไปก็ไม่ส่งผล
อีกข้อมูลที่ยังไม่มีการเปิดเผยจากผู้มีข้อมูลคือสารเคมีที่ใช้ในการสลายน้ำมัน ซึ่งนักวิทยาศาสตร์จะบอกได้ว่าสารดังกล่าวส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมแค่ไหน โดย ดร.พหลบอกทีมข่าววิทยาศาสตร์ ASTV-ผู้จัดการออนไลน์ว่า การใช้สารเคมีสลายคราบน้ำมันนั้นเป็นขั้นตอนปกติ แต่บริษัทใช้สารเคมีอะไร ปริมาณเท่าไหร่ ยังไม่มีข้อมูลส่วนนี้เปิดเผย
"น้ำมันดิบมีทั้งส่วนที่ระเหยได้ ลอยน้ำและจมน้ำ ซึ่งต้องรู้ปริมาณที่แน่ชัดว่ามีปริมาณเท่าไหร่ มีการกระจายไปทางไหนบ้าง ผู้มีข้อมูลยังไม่เปิดเผย" ดร.พหลกล่าว และบอกด้วยว่า ในธรรมชาติมีจุลินทรีย์ที่ย่อยสลายน้ำมันได้
แต่หากปล่อยให้ธรรมชาติเยียวยาตัวเอง ดร.พหลกล่าวว่า ต้องใช้เวลา 20-30 ปี หรือมากกว่านั้น พร้อมยกตัวอย่างกรณีน้ำมันรั่วที่อลาสกาปริมาณ 5 ล้านลิตร เมื่อ 20 ปีที่แล้ว ยังพบว่า มีน้ำมันเหลืออยู่ใต้ดินทรายในมหาสมุทรกว่าครึ่ง
ทั้งนี้ ดร.พหล ได้ร่วมกับคณาจารย์ คณะวิทยาศาสตร์ มหิดล เสวนาหาทางออกวิกฤตน้ำมันรั่วในอ่าวไทย เมื่อวันที่ 31 ก.ค.56 ณ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล