xs
xsm
sm
md
lg

น้ำมันรั่วทำหายนะ บทเรียนการสร้างภาพ-ผลประโยชน์ทับซ้อนปิดปาก !!

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ผ่าประเด็นร้อน

นาทีนี้ความเสียหายและผลกระทบคงประเมินค่าไม่ได้หลังจากเกิดเหตุน้ำมันดิบของบริษัทพีทีที โกลบอล เคมีคอล จำกัด(มหาชน) ในเครือ ปตท.รั่วไหล ออกมาจากทุ่นรับน้ำมันดิบกลางทะเล ห่างจากฝั่งท่าเรือมาบตาพุดไปทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ประมาณ 20 กิโลเมตร โดยจากรายงานระบุว่าเหตุเกิดเมื่อเวลาตั้งแต่ประมาณ 4 ทุ่มวันอาทิตย์ที่ 28 กรกฎาคมเป็นต้นมา

อย่างไรก็ดีสิ่งที่ได้พิจารณามองเห็นก็คือมีความพยายามปกปิดข้อมูล ปิดบังความเสียหาย รวมไปถึงได้เห็นถึงความไม่พร้อม เหมือนไม่จริงใจกับการป้องกันรับมืออุบัติเหตุ หรือความเสียหายที่กระทบกับด้านสิ่งแวดล้อมจากหน่วยงานที่เป็นเจ้าของธุรกิจด้านพลังงานอย่าง บริษัท ปตท.จำกัด(มหาชน) ทั้งที่เป็นธุรกิจยักษ์ใหญ่มีผลกำไรแต่ละปี หลายแสนล้านบาท แต่กลับถูกมองว่าไม่ได้ลงทุนเพื่อเตรียมความพร้อมสำหรับการรับมือกับเรื่องที่เกิดขึ้นได้อย่างเพียงพอ มันก็ช่วยไม่ได้ที่จะต้องระบุแบบนี้ เพราะสิ่งที่เห็นจากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นมันเป็นการ "ฟ้องด้วยภาพ"อย่างที่ปฏิเสธไม่ได้ ขณะเดียวกันจากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นยังได้เห็น "ผลประโยชน์ทับซ้อน"ระหว่างตัวบุคคลที่เป็นผู้บริหารองค์กร กับฝ่ายรัฐบาลล้วนเกี่ยวข้องกัน หรือไม่ก็เคยเกี่ยวข้องกัน แต่ที่สำคัญก็คือในปัจจุบันล้วน "เป็นพวกเดียวกัน" ทั้งสิ้น

หากพิจารณาทีละเรื่อง ทีละบุคคลก็จะเห็นภาพได้ชัดเจนว่า แทบทุกอย่างมีแต่การ "สร้างภาพ-ปิดบัง-ผลประโยชน์ทับซ้อน" เพราะถ้าบอกว่าเหตุเกิดขึ้นตั้งแต่ประมาณสี่ทุ่มของวันอาทิตย์ที่ 28 กรกฎาคม ทาง ปตท.ที่อ้างว่าเป็นหน่วยงานที่รักษาสิ่งแวดล้อมดีเลิศ เป็นองค์กรรัฐวิสาหกิจที่รัฐถือหุ้นใหญ่ มีผลประกอบการมีกำไรมหาศาลก็ย่อมต้องลงทุนสำหรับเตรียมการรับมือกับอุบัติเหตุแบบนี้ตลอดเวลา ซึ่งรับรองว่าจะต้องเกิดขึ้นแน่นอน แต่เท่าที่เห็นปรากฏเป็นภาพและข่าวที่รายงานเข้ามาได้เห็นแต่เรือรบของกองทัพเรือได้รับคำสั่งให้เข้าไปช่วยวางทุ่นเพื่อ"จำกัดคราบน้ำมัน"ให้อยู่วงจำกัด แต่คำถามก็คือ ทางปตท.ไม่มีการลงทุนในการซื้อหาเครื่องมือหรือมีเทคโนโลยีสำหรับการ"ป้องกันรับมือ"กับสิ่งที่เกิดขึ้น กรณีที่เกิดน้ำมันรั่ว รวมไปถึงผู้เชี่ยวชาญทางด้านนี้ที่ต้องเตรียมความพร้อมอยู่ตลอดเวลา เพราะจากที่เห็นก็มีเรือของกองทัพเรือที่ทำหน้าที่กู้ภัยทางทะเล ขณะที่ผู้เชี่ยวชาญและเทคโนโลยีและสารเคมีในการขจัดคราบน้ำมันตามข่าวที่รายงานอ้างคำพูดของผู้บริหารบริษัท ปตท.โกลบอลฯบอกว่าต้องรอผู้เชี่ยวชาญที่เดินทางมาจากสิงคโปร์ ซึ่งกว่าเดินทางมาถึง ต้องใช้เวลาสองถึงสามวัน รวมทั้งสารเคมีที่นำเข้าด้วย

ขณะเดียวกันน่าสังเกตก็คือการให้ข้อมูลทั้งจากผู้บริหารของ ปตท.ไม่ว่าจะเป็นกรณีผู้บริหารของ พีทีที โกลบอลฯที่เป็นบริษัทลูกฯแต่เป็นเจ้าของธุรกิจที่เกิดเหตุดังกล่าว เช่น พรเทพ บุตรนิพันธ์ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ของ พีทีที โกลบอลฯ ให้สัมภาษณ์เมื่อวันที่ 29 กรกฎาคม หลังจากร่วมคณะกับผู้ว่าราชการจังหวัดระยอง ตรวจสอบพื้นที่โดยอ้างว่าสามารถขจัดคราบน้ำมันได้แล้วกว่าร้อยละ 70 ที่เหลืออีกประมาณร้อยละ 30 กำลังจำกัดวงให้ลอยอยู่ในวงจำกัด และใช้สารเคมีฉีดเพื่อให้สลายย่อยลงสู่ทะเล และอ้างว่าน้ำมันเป็นสารธรรมชาติ สามารถย่อยสลายได้เอง เพียงแต่ต้องใช้เวลาบ้างเท่านั้น อีกทั้งน้ำมันดิบตักเก็บขึ้นมาได้ก็จะนำไปกลั่นแยกสารเพื่อนำมาใช้ได้ใหม่ ความหมายในลักษณะของคำพูดดังกล่าวก็เพื่อต้องการลดความตื่นกลัว ไม่ให้เกิดผลกระทบเสียหายในวงกว้างไปกว่านี้ แถมยังคุยโม้นิดๆว่าด้วยเทคโนโลยีที่ทันสมัยของ ปตท.สามารถนำมาใช้ประโยชน์ทั้งหมดไม่เสียของ แม้ว่าจะกระจายทั่วท้องทะเลหรือชายหาดก็ตาม

ขณะที่ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน พงษ์ศักดิ์ รักตพงศ์ไพศาล ก็บอกว่าได้สั่งการให้เร่งกำจัดคราบน้ำมันให้หใดภายใน 3 วัน ถ้าทำได้อย่างนั้นได้ก็ดี และต่อไปไทยก็คงจะเป็นผู้เชี่ยวชาญทางด้านนี้ ต่างชาติคงจะต้องมาว่าจ้างให้ไปกำจัดคราบน้ำมันทั่วโลกแน่นอน

แต่อย่างไรก็ดีหากมองในอีกความหมายหนึ่งก็จะหมายความว่านี่คือการ "บิดเบือน"ปกปิดความจริงหรือพูดไม่หมด เพราะเท่าที่เห็นด้วยสายตาจากภาพมุมสูงมีคราบน้ำมันที่ "โอบล้อม"อ่าวพร้าว และเกาะเสม็ดทั้งเกาะ และกำลังแผ่ขยายออกไปในวงกว้าง ต่อเนื่องไปทางชายฝั่งระยองแล้ว และล่าสุดก็อย่าได้แปลกใจที่ต่อมาเมื่อ "จำนนต่อหลักฐาน" ต่อความเสียหายที่ขยายวงกว้างคนพวกนี้ก็ออกมาขออภัย มาออกตัวยอมขอโทษที่บอกว่า "ควบคุมสถานการณ์ได้แล้ว"และพร้อมที่จะเยียวยาแก้ปัญหาในภายหลัง โดย รัฐมนตรีพลังงาน พงษ์ศักดิ์ คาดหมายว่าคงต้องใช้เวลาในการกำจัดคราบน้ำมันดิบไม่น้อยกว่า 7 วัน

ส่วนความเสียหายหากคำนวณออกมาเป็นตัวเงิน โดยเฉพาะภาคการท่องเที่ยวอย่างเดียว ภาคเอกชนได้ประเมินออกมาคร่าวๆแล้วว่าเสียหายไม่น้อยกว่า 1 พันล้านบาท แต่นั่นไม่เลวร้ายเท่ากับระบบนิเวศน์ วิถีชีวิตของชาวบ้านในท้องถิ่น ที่ต้องฟื้นฟูเยียวยากันนานนับสิบๆปี และแม้ว่าที่ผ่านมา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม วิเชษฐ์ เกษมทองศรี ออกมาพูดแบบ "ตามน้ำ"ว่าใครทำคนนั้นก็ต้องรับผิดชอบ มันก็ใช่ ต้องเป็นแบบนั้น แต่ถามว่าในฐานะที่ตัวเองเคยเป็น"ประธานบอร์ดปตท."ก่อนที่จะมาเป็นรัฐมนตรีนั้นแน่ใจหรือว่าจะเยียวยาความเสียหายกันอย่างตรงไปตรงมา โดยเน้นในเรื่อง"จิตสำนึกด้านจริยธรรม"ตามหลักธรรมาภิบาลจริงๆ หรือจะมีใครแสดง"สปิริต"รับผิดชอบบ้าง รวมไปถึงประธานบอร์ดปตท.คนปัจจุบันและประธานบอร์บริษัท พีทีที โกลบอลฯคือ ประเสริฐ บุญสัมพันธ์ ที่เพิ่งเข้ามาใหม่ แต่ที่ผ่านมาก่อนที่จะเกษียณฯอายุเขาเป็น "ขาใหญ่"ไม่ต่างจากเจ้าของ ปตท.ทั้งหมด และมีความสัมพันธ์ล้ำลึกกับรัฐบาล ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ของ ทักษิณ ชินวัตร จนไม่ต้องอธิบายอะไรกันแล้ว คนพวกนี้เชื่อถือได้แค่ไหน

อย่างไรก็ดีเมื่อเหตุการณ์เกิดขึ้นแล้ว ความเสียหายเกิดขึ้นจนกระทบในวงกว้างจนประเมินค่าไม่ได้ ก็ป่วยการที่มานั่งชี้หน้าด่ากันตอนนี้ แต่สิ่งที่เกิดขึ้นมันก็เป็นบทเรียน เป็นภาพสะท้อนให้เห็นว่าที่ผ่านมามันเป็นองค์กรที่สร้างภาพว่าเป็นองค์กรรักษาสิ่งแวดล้อมเป็นเลิศ แต่ภาพที่เห็นเมื่อเกิดอุบัติเหตุน้ำมันรั่ว กลับเห็นได้ว่่ากลุ่ม ปตท.ไม่ได้มีการเตรียมความพร้อมด้านอุปกรณ์ ทั้งเรือ สารเคมี และเจ้าหน้าที่ผู้เชี่ยวชาญเป็นการเฉพาะอย่างเพียงพอ และทันการณ์ จริงอยู่ภารกิจในการกู้ภัยมันเป็นเรื่องยากเย็น มีปัจจัยด้านธรรมชาติเข้ามาเป็นอุปสรรคขัดขวาง แต่เท่าที่เห็นตั้งแต่เริ่มเกิดเหตุ จนกระทั่งถึงเวลาผ่านไปช่วงหนึ่งก็อ้างว่าสามารถควบคุมสถานการณ์ได้แล้ว แต่ภาพที่เห็นกลับออกมาตรงกันข้าม และที่น่าสังเกตก็คือถ้าไม่เกิดภัยดังกล่าวขึ้นมาเราคงไม่ได้เห็นโฉมหน้าของ ปตท.ในอีกด้านหนึ่ง รวมไปถึงคนในรัฐบาลที่เชื่อมโยงเรื่อง "ผลประโยชน์ทับซ้อน"ที่แยกไม่ออกอย่างแน่นอน !!
นายก ส.ท่องเที่ยวระยอง วอนหน่วยงานเกี่ยวข้อง-สื่อหยุดเหมารวมเสม็ดเที่ยวไม่ได้
นายก ส.ท่องเที่ยวระยอง วอนหน่วยงานเกี่ยวข้อง-สื่อหยุดเหมารวมเสม็ดเที่ยวไม่ได้
ศูนย์ข่าวศรีราชา – นายกสมาคมการท่องเที่ยวระยอง วอนสื่อหยุดเหมารวบผลกระทบคราบน้ำมันทำเกาะเสม็ดเที่ยวไม่ได้ เพราะยังมีอ่าวอื่นบนเกาะเสม็ดที่มีความสวยงามทางธรรมชาติ และไม่ได้รับผลกระทบจากปัญหาคราบน้ำมัน เผยข่าวน้ำมันรั่วทำยอดยกเลิกจองห้องพักในโรงแรม และรีสอร์ทต่างๆทั้งในระยอง รวมทั้งบนเกาะเสม็ดสูงขึ้นเรื่อยๆ เช่นเดียวการยกเลิกเดินทางเข้าเกาะสเม็ดของกลุ่มทัวร์ต่างชาติ ชี้หากหน่วยงานเกี่ยวข้องยังไม่เร่ง ปชส.ให้นักท่องเที่ยวรู้รายละเอียดเกี่ยวกับแหล่งท่องเที่ยวอื่นบนเกาะเสม็ด มีหวังรายได้จากการท่องเที่ยวถึงสิ้นปีริบหรี่
กำลังโหลดความคิดเห็น