xs
xsm
sm
md
lg

นักวิทย์เจ๋ง! พบวิธีสร้างยารักษาโรคไข้เลือดออก

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ภาพประกอบจากอินเทอร์เน็ต
นักวิทย์ไทยเจ๋ง! พบวิธีสร้างยารักษาโรคไข้เลือดออกที่ปัจจุบันยังไม่มี เผยใช้เทคนิคสร้างเซลล์ลูกผสมจากเลือดเด็กที่มีเชื้อไวรัสเด็งกี ชี้มีคุณสมบัติสร้างแอนติบอดีไข้เลือดออกได้ถึง 4 สายพันธุ์ แต่ยังอยู่ในขั้นการทดลองในสัตว์ แนะศึกษาส่วนที่แอนติบอดีไปจำเพาะกับเชื้อไวรัส นำมาทำวัคซีนป้องกันไข้เลือดออกได้อีก

ดร.อารี ทัตติยพงศ์ สถาบันวิทยาศาสตร์สาธารณสุข กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กล่าวถึงงานวิจัยพัฒนาการรักษาเชื้อไวรัสเด็งกี หรือโรคไข้เลือดออก “Human Monoclonal Antibodies to Neutralize All Serotypes of Dengue Viruses Using Peripheral Blood Lymphocytes from Infant Patients” ว่า งานวิจัยดังกล่าวเป็นการศึกษาวิจัยร่วมกันระหว่างกรมวิทย์ กับมหาวิทยาลัยโอซากา ประเทศญี่ปุ่น โดยได้รับการสนับสนุนจากไจกา (Japan International Cooperation Agency : JICA) และเจเอสที (Japan Science and Technology Agency : JST) ตั้งแต่ปี 2553 โดยเป็นการนำเลือดจากผู้ป่วยเด็กที่ติดเชื้อไวรัสเด็งกีมาสกัดเอาเฉพาะเซลล์เม็ดเลือดขาว แต่เซลล์เม็ดเลือดขาวไม่สามารถเลี้ยงหรือแช่เก็บไว้ได้นานพอสำหรับการทดลอง จึงต้องนำไปผสมกับสไปเม็กเซลล์ (Spymeg Cell) จนได้เซลล์ตัวใหม่ขึ้นมาเป็นเซลล์ลูกผสม (Hybrid cells) ซึ่งมีคุณสมบัติสร้างภูมิคุ้มกัน (Antiboby) ได้เหมือนเซลล์เม็ดเลือดขาว และสามารถเลี้ยงให้โตพอสำหรับการทดลองได้เหมือนสไปเม็กเซลล์ เรียกว่าโมโนโคลนอลแอนติบอดี

ดร.อารี กล่าวอีกว่า หลังจากได้เซลล์ลูกผสมดังกล่าวแล้วก็จะนำมาทดสอบคุณสมบัติว่า แอนติบอดีที่เซลล์ลูกผสมสร้างขึ้นสามารถยับยั้งการเจริญเติบโตของเชื้อไวรัสเด็งกีได้หรือไม่ ซึ่งปรากฏว่าสามารถยับยั้งเชื้อไวรัสเด็งกีได้ทั้ง 4 สายพันธุ์ที่ปรากฏในประเทศไทย คือ DENV-1, DENV-2, DENV-3 และ DENV-4 นอกจากนี้ ยังทำการศึกษาคุณสมบัติอื่นด้วยว่า แอนติบอดีนี้ไปจำเพาะกับส่วนใดของเชื้อไวรัส ซึ่งก็พบว่าไปจำเพาะกับส่วนที่เป็นโปรตีนด้านนอกของตัวเชื้อ เท่ากับว่าแอนติบอดีจะสามารถจับเชื้อไวรัสเด็งกีได้ทันที จึงคาดว่าแอนติบอดีตัวนี้อาจจะสามารถใช้ในการรักษาผู้ป่วยไข้เลือดออก หรือติดเชื้อไวรัสเด็งกี ที่มีอาการรุนแรงได้ เหมือนการให้เซรุ่มพิษงู

“การทดลองนี้ยังอยู่ในขั้นตอนการทดสอบในลิงมาโมเสท และหนูทดลอง ซึ่งพบว่าสามารถป้องกันไม่ให้สัตว์ทดลองตายจากเชื้อไวรัสเด็งกีได้ จึงทำการจดสิทธิบัตรแล้วที่สหรัฐอเมริกาและกำลังเตรียมที่จะแปลสิทธิบัตรเพื่อไปจดยังประเทศอื่นๆ ด้วย รวมถึงประเทศไทย ซึ่งการจดสิทธิบัตรนี้เป็นการจดร่วมระหว่างกรมวิทย์ ม.โอซากา และคณะเวชศาสตร์เขตร้อน มหาวิทยาลัยมหิดล โดยกรมวิทย์และ ม.โอซากา จะเป็นการทดลองตัวอย่างในเด็ก ส่วนคณะเวชศาสตร์เขตร้อนเป็นการทดลองตัวอย่างในผู้ใหญ่ ซึ่งขณะนี้ทางโครงการกำลังจะหาบริษัทเอกชนเพื่อที่จะนำการผลิตโมโนโคลนอลแอนติบอดีนี้ไปทดลองในมนุษย์ต่อไป” ดร.อารี กล่าว

ผู้สื่อข่าวถามว่า จากหลักการดังกล่าวจะสามารถนำมาต่อยอดในการผลิตวัคซีนเพื่อป้องกันโรคไข้เลือดออกได้หรือไม่ ดร.อารี กล่าวว่า ทุกวันนี้โรคไข้เลือดออกยังไม่มีวัคซีนและยารักษาโรค ซึ่งการผลิตโมโนโคลนอลแอนติบอดี คาดว่าจะสามารถนำไปผลิตเป็นยารักษาโรคไข้เลือดออกได้ ส่วนวัคซีนจะต้องศึกษาว่าแอนติบอดีนี้เข้าไปจับส่วนใดของเชื้อไวรัส เมื่อพบแล้วก็จะต้องนำส่วนนั้นของเชื้อไวรัสมาสังเคราะห์ส่วนจำเพาะเพื่อทำวัคซีน เมื่อฉีดเข้าไปในร่างกายก็จะสร้างแอนติบอดีออกมาเช่นเดียวกับโมโนโคลนอลแอนติบอดี ซึ่งคาดว่าในอนาคตจะสามารถนำไปสู่การผลิตวัคซีน ผลิตชุดทดสอบ และนำไปใช้ในการวิจัยและพัฒนาต่อได้

ดร.อารี กล่าวด้วยว่า การทดลองนี้เป็นแบบฮิวแมนโมโนโคลนอลแอนติบอดี คือผลิตมาจากมนุษย์ซึ่งถือเป็นครั้งแรกของประเทศไทย เพราะปกติจะผลิตมาจากหนู ซึ่งการผลิตจากมนุษย์จะช่วยลดการต่อต้านของร่างกายได้ และน่าจะเป็นหนึ่งเหตุผลที่ทำให้การทดลองนี้ได้รับรางวัลนักวิทยาศาสตร์การแพทย์ดีเด่น (DMSc Award) ประเภทงานวิจัยและพัฒนาในที่สุด


กำลังโหลดความคิดเห็น